ทำไมจึงมองไม่เห็นภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำทะเล
........................................................................
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นหลายปรากฏการณ์ในห้วงเวลานี้ มองได้ 2 ระดับ คือ ระดับแรก ปรากฏการณ์ที่มองเห็น ณ เบื้องหน้า ระดับที่สอง ปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงแต่มองไม่เห็นด้วยสายตาปกติ
เปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทร
ปรากฏการณ์ที่มองเห็น ณ เบื้องหน้า เปรียบได้ดังยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำทะเล ซึ่งมีอยู่เพียงส่วนน้อย เป็นส่วนที่เรามองเห็นด้วยสายตาปกติ ด้วยการรับรู้ตามปกติ
ตัวอย่างเช่น การพูด การแสดงความคิดเห็น การกระทำ ประเพณี วัฒนธรรม สิ่งที่มองเห็นได้ สิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่รับรู้ได้ง่าย
ปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงแต่เรามองไม่เห็นด้วยสายตาปกติ เปรียบได้ดังภูเขาน้ำแข็งส่วนที่จมอยู่ใต้พื้นผิวน้ำทะเล ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนที่เราไม่สามารถมองเห็นหรือรับรู้ได้ตามปกติ แต่ต้องอาศัยการคิด การวิเคราะห์ การสำรวจ การค้นหาข้อมูลข่าวสาร การค้นหาข้อเท็จจริง การค้นหาพยานหลักฐาน ที่ต้องนำมาวิเคราะห์หาข้อสรุป
ตัวอย่างเช่น สิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่จับต้องไม่ได้ทันทีทันใด สิ่งที่รับรู้ได้ยาก เจตนาที่แท้จริง เจตนาแฝง ความคิดที่ซ่อนอยู่ กลอุบาย เล่ห์กล แผนการ อำนาจทางตรง-อำนาจแฝงเร้น เจ้าของอำนาจที่แท้จริง คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม ผลประโยชน์ทางตรง-ผลประโยชน์แอบแฝง ความแตกต่างของข้อมูลวันเวลาสถานที่ สถานการณ์และบริบทแวดล้อมทางสังคม
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนทั่วไป จะรับรู้ได้เฉพาะส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ เพราะเขาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมาเพียงแค่นั้น เขาไม่รู้ข้อมูลข่าวสารเชิงลึก เขาไม่มีเวลามาค้นหาข้อมูล เขาไม่มีเวลามาวิเคราะห์ บางครั้งเขาอาจจะขาดทักษะการคิด ขาดทักษะการวิเคราะห์
แต่สำหรับผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกแล้วต้องมีมากกว่านั้น ผู้ที่เรียนปริญญาตรีตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้วควรจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการค้นหาข้อมูลข่าวสารเชิงลึกได้ เรียนรู้ได้
สำหรับผู้ที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้วควรจะต้องมีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิพากษ์ได้
กล่าวได้ว่า ผู้ที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก สมควรจะมองเห็น "ภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้พื้นผิวน้ำทะเล" ได้ดียิ่งกว่าผู้ที่เรียนปริญญาตรี และดีกว่าคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ดีกว่าคนที่จบ ป.๔ ป.๖ และ ม.๓
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก กลับไม่บรรลุคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าว กลับเป็นผู้มอง "ปรากฏการณ์" อย่างตื้นเขิน มองเห็นแต่เฉพาะ "ภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏเหนือพื้นผิวน้ำทะเล"
โดยมองไม่ทะลุ คิดไม่ออก วิเคราะห์ไม่เป็น เข้าไม่ถึง สิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ตามหลักการ ตามความคาดหมาย ตามความมุ่งหวังของการศึกษาที่ควรจะได้ผลลัพธ์ของการศึกษา (Learning Outcome) ในระดับที่สูงขึ้นกว่านี้
ทำไมผลลัพธ์ของการศึกษา (Outcome) จึงเป็นเช่นนี้?
นี่เป็นเพราะ กระบวนการของการศึกษา (Process) อันประกอบด้วย หลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน สื่อการศึกษา ครูอาจารย์ จึงทำให้ผลลัพธ์ (Output) ด้านบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของไทยจึงเปนเช่นนี้
หรือนี่เป็นเพราะ ปัจจัยนำเข้า (Input) อันได้แก่ ตัวนักศึกษา ต้นทุนความรู้ ต้นทุนความสามารถ ต้นทุนความคิด ต้นทุนสติปัญญา ความมุ่งมั่น ความใฝ่เรียนใฝ่รู้ ความเอาจริงเอาจังต่อการศึกษา ความคำนึงถึงคุณภาพ ความใฝ่หาคุณค่าแท้ยิ่งกว่าคุณค่าเทียม ความคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน
รวมไปถึงจุดอ่อนของมนุษย์ด้านต่าง ๆ เช่น การวิ่งตามกระแส การไล่ตามแฟชั่น การเพลิดเพลินกับประเด็นที่เป็นข่าวเด่นดัง โดยขาดการใช้ความคิด การวิเคราะห์ด้วยสติปัญญา อย่างรู้เท่าทันความเป็นจริง อย่างรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง
แม้ยังไม่อาจสรุปได้ว่า การที่ผู้มีการศึกษาไม่สามารถมองเห็น "ภูเขาน้ำแข็งส่วนที่จมอยู่ใต้ผิวน้ำทะเล" ได้ เป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่ แต่ก็เห็นได้ว่า สังคมเรากำลังเผชิญกับปัญหาการศึกษา ปัญหาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีการศึกษา ที่ต้องอาศัยพลังความสามารถด้าน "การคิดเชิงวิเคราะห์"
บางทีอาจจะยิ่งดูอ่อนด้อยกว่า ผู้ที่มีการศึกษาในกลุ่มที่น้อยกว่าปริญาโทปริญญาเอก ซึ่งเขามีความสามารถในการใช้ "ใจวิเคราะห์" สูงกว่า ตรงประเด็นกว่า
บางทีอาจเป็นเพราะ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในทฤษฎี หลักการ อุดมการณ์ ที่พยายามสอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์เป็น และมองเห็นความจริงทั้ง "ความจริงบนพื้นผิวน้ำ" และ "ความจริงที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ"
หรือเป็นเพราะอคติที่ครอบงำจิตใจตนเอง ความเย่อหยิ่งทรนงตนในความรู้สึกเป็นผู้มีการศึกษาสูง จนมองไม่เห็น "ความแท้จริงของปรากฏการณ์" จนมองไม่เห็นภูเขาน้ำแข็งส่วนที่จมใต้พื้นผิวน้ำทะเล
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น