ปรากฏการณ์ "ทศกัณฑ์แคะขนมครก" การวิพากษ์เพื่อการพัฒนา
.............................................................................................
ถ้านักนิเทศศาสตร์อยากจะกระโดดลงไปร่วมวงกับ "ประเด็นเรื่องทศกัณฑ์" ขอให้ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการ "วิพากษ์" อย่างมีเหตุผลและมีความรู้สนับสนุน
..
อย่าเพียงแค่เอามันในอารมณ์ ใช้วาทกรรมเคยชิน ในแนวที่ว่า..ทำลายวัฒนธรรม เสื่อมเสียวัฒนธรรม ทำลายคุณค่า หรือในแนวก่นด่าอีกฝ่ายหนึ่งว่า..ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี หลงยุค
..
นักนิเทศศาสตร์ควรมองให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ "ทศกัณฑ์แคะขนมครก" นี้ เป็น "ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างของสังคม" และเป็น "ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม" ระหว่างคนสองฝ่ายในสังคม
..
โดยแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง ฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรม การคงคุณค่าของวัฒนธรรมตามขนบดั้งเดิม อีกฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้นการสร้างสรรค์ ดัดแปลง ต่อยอด และการใช้ประโยชน์วัฒนธรรม
..
หากพิจารณาให้ดี ขจัดอคติออกไปจากใจ เราจะเห็นว่าทั้งสองฝ่าย ต่างมี "เจตนาดี" ด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อเขามีเจตนาดี ใยต้องก่นด่า คนเราสร้างความเข้าใจกันด้วยเหตุผล ไม่ได้หรือ?
..
เหตุการณ์ทางการเมืองและสังคมในช่วง ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาถึง พ.ศ. 2557 สังคมได้สร้างการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝ่ายสองขั้วอย่างสุดโต่ง จนเกิดเป็นสังคมมนุษย์ ขาว-ดำ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด รวย-จน สูง-ต่ำ พวกเขา-พวกเรา ก้าวหน้า-ล้าหลัง พัฒนา-ไม่พัฒนา สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังลงไปจนถึง "จิตใต้สำนึก" ของผู้คน ชักนำให้ผู้คนสองฝ่ายออกมาปะทะกัน ทั้งการปะทะกันในโลกออนกราวนด์ (on ground) และการปะทะกันบนโลกออนไลน์ (online)
..
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างแนวคิดสองแนวคิด จิตใต้สำนึกเรา ก็ดึงเอา "วิธีคิด" แบบขั้วเป็นสองฝ่ายมาห้ำหั่นกัน มาปะทะกันให้รู้แพ้รู้ชนะ
..
การวิพากษ์ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแสวงหาคำตอบที่เหมาะสม แสวงหาทางออกที่เหมาะสม และช่วยการสร้างความเข้าใจต่อ "ปรากฏการณ์ทศกัณฑ์แคะขนมครก"
..
แต่ต้องไม่ลืมว่า การวิพากษ์ไม่ได้มีความมุ่งเพื่อการเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มีไว้เพื่อการขยายความรู้ความเข้าใจและความคิดของมนุษย์ ให้ยอมรับกันด้วยเหตุผล
..
เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มาแล้ว..ลองเอาหลักปรัญญาและทฤษฎีการสื่อสารทางนิเทศศาสตร์ สำนักวิพากษ์ มาประยุกต์ใช้ในการ
ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ "ทศกัณฑ์แคะขนมครก" กันดูสักครั้ง น่าจะเป็นการพัฒนาทางความคิดที่ดีมากครับ
24 กันยายน 2559
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น