ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทบาทของสื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤติ : หลอมใจไทยให้เป็นหนึ่งเดียว

บทบาทของสื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤติ : หลอมใจไทยให้เป็นหนึ่งเดียว
...................
ช่วงแรกของเหตุการณ์ วันที่สถานการณ์คับขันอย่างหนัก

ฝนตกหนัก น้ำท่วมหนัก ผู้คนในประเทศช่วยกันทุกฝ่าย ทหารเรือ ทหารบก ตำรวจ ฝ่ายปกครอง พลเรือน อาสาสมัคร จิตอาสา ผู้ชำนาญงานในท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ครูบา

สูบน้ำ พร่องน้ำ ตัดไม้ ปีนเขา หาโพรงถ้ำ หาช่องถ้ำ ดำน้ำ ลำเลียง เปียกปอน ถากหิน ย้ายก้อนหิน มือพัง เหนื่อยหนักหนา สาหัส

รถปั่นไฟ ทีมการไฟฟ้า ทีมวางสายโทรศัพท์ ทีมอินเทอร์เน็ต ทีมสายสูบ ทีมน้ำบาดาล

รถสูบน้ำพญานาคยักษ์ ทีมปีนป่ายเก็บรังนก รถเข็นก๋วยเตี๋ยวกินฟรี

ดูเหมือนคนในประเทศนี้ มีใจเดียวกันหมด เพราะความห่วงใยชีวิตเพื่อนมนุษย์ เพราะความกดดัน ความหวาดวิตก ว่าฝนฟ้าจะเป็นอุปสรรค

รถลาม้าใช้ มีเท่าไหร่ขนมา

เพราะเรามีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ หาเด็กให้เจอ

จดหมายน้อยของคุณอันสเวิร์ธ ที่เขียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ทางการไทยรีบไปรับตัวผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำระดับโลกชาวอังกฤษมาโดยด่วน
การปรากฏตัวของนักดำน้ำชาวอังกฤษสองคน คือ ริชาร์ด สแตนตัน กับ จอห์น โวลันเธน เสมือนแสงสว่างวาบในคืนเดือนมืด พวกเขาเป็นดั่งแสงไฟจุดประกายความหวังให้คนไทย

ในที่สุดเมื่อ ริชาร์ด สแตนตัน กับ จอห์น โวลันเธน ผู้เชี่ยวชาญดำน้ำระดับโลก ดำน้ำไปจนเจอเด็ก ๆ ทีมฟุตบอลอย่างไม่คาดหมาย จนเป็นเป็นที่มาของวรรคทอง
"How many of you?"
Thirteen, Brilliant !!

นั่นคือ Super Climax ของเหตุการณ์นี้แล้ว ภาพแสงไฟฉายบนศีรษะนักดำน้ำที่ส่องไปกระสบดวงตาของเด็ก ๆ มันเหมือนสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นบนโลก

แทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวจริง ๆ

สะเทือนอารมณ์ที่สุด จุกในหัวอก ปลื้มปีติยืนดีจนพูดอะไรไม่ออก หลายคนส่งเสียงเฮพร้อมกัน หลายคนโผเข้ากอดกัน หลายคนร่ำไห้

เพราะเราใจเดียวกัน เพราะคนทั้งประเทศมีใจเดียวกัน

แต่ท่านจำได้ไหมว่า เพราะอะไร คนในประเทศนี้ จึงมีใจเดียวกัน มีความรู้สึกร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อารมณ์รัก สะเทือนใจ sympathy, emotional, ความทุ่มเท ความอุทิศ ความร่วมมือ ความเสียสละ พลังเหล่านี้มาจากไหน?

คนที่อยู่ที่ถ้ำหลวงเชียงรายมีแค่ไม่ถึงพัน ที่รู้เห็นเหตุการณ์ แล้วคนอีก 60 ล้านคน รู้เรื่องราวที่ถ้ำหลวงได้อย่างไร?
ถ้าไม่ใช่มาจากการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าว ถ้าไม่ใช่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

คนที่เหน็ดเหนื่อยไม่น้อยไปกว่ากันคือ สื่อมวลชน อันประกอบไปด้วยผู้สื่อข่าวภาคสนาม ช่างภาพ ช่างตัดต่อ ทีมรถโอบี โปรดิวเซอร์ที่สถานี บรรณาธิการข่าว ผู้ประกาศข่าว ผู้อ่านข่าว พวกเขาทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน

เพื่อให้เรา เพื่อให้คนทั้งประเทศ ได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้รับรู้ความรู้สึก ได้รับรู้สถานการณ์
สื่อมวลชนไม่เพียงแค่รายงานข่าว แต่พวกเขาได้เชื่อมร้อยดวงใจ เขื่อมโยงจิตใจลองคนไทยทั้งชาติ ให้ส่งใจไปถ้ำหลวง เชียงราย

ไม่อย่างนั้นนายกสมาคมน้ำบาดาลไทยจากบางปะหัน ทีมสูบน้ำยักษ์จากเพชรบุรี ทีมปีนเขาเก็บรังนกจากลิบง จ.ตรัง จะมาหรือ

หากไม่มีสื่อมวลชนเกาะติดข่าว จริงจัง หนักแน่น ต่อเนื่อง ทีมข่าวระดับโลกอย่าง ABC, CBS, CNN, Fox News, Reuters, BBC จะมาหรือ

ถ้าทีมข่าวระดับโลกไม่มา จะส่งผลสะเทือนไปถึง Elon Musk ให้สร้างเรือดำน้ำจิ๋ว (Mini Submarine) สร้างนวัตกรรมชั่วข้ามคืนมาช่วยเราหรือ

หากไม่มีสื่อมวลชน หากไม่มีพวกเขา พวกเราจะรวมใจเป็นหนึ่งได้หรือ

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุด ยามที่สังคมเกิดสภาวะวิกฤติ คับขัน ต้องการความร่วมมือ ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความหวัง ต้องการกำลังใจ

ยามที่ต้องรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งเดียว

อย่าตำหนิ อย่าต่อว่า อย่าจับผิด อย่าเหยียบย่ำ อย่าซ้ำเติม สื่อมวลชน ให้รุนแรงนักเลย ในสถานการณ์คับขัน เร่งด่วน รีบด่วน แข่งกับเวลา แข่งกันฟ้าฝน แข่งกับชีวิต แข่งกับความเป็นความตาย เพื่อชีวิตรอด ทุกคนต้องรีบ หน่วยราชการก็รีบ เอกชนก็รีบ อาสาสมัครก็รีบ

วันแรก ๆ ที่ช่วยกันปีนเขาตอนกลางคืน เพื่อหาโพรง ก็มีคนตกลงมาได้รับบาดเจ็บ เยียวรักษากันไป ไม่ใช่ซ้ำเติม

หากจำได้ วันหนึ่งมีข่าวว่า ทีมงานถูกไฟฟ้าดูด 3 คน มีผู้สื่อข่าวสามคนอยู่ในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่กำชับว่าอย่าไปเผยแพร่ข่าวขอความร่วมมือกันช่วยกัน มีคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่รู้เห็นมีแค่สามคนอย่าเอาไปลงนะ ถ้าข่าวรั่วออกไปต้องเป็นหนึ่งในสามคนนี้ ต้องรับผิดชอบ

วันรุ่งขึ้นไม่มีข่าวนี้ปรากฏ ทางฝ่ายบริหารสถานการณ์แถลงว่าไม่มีไฟฟ้าดูด แค่คนเป็นลม เพราะทำงานหนักอดข้าวนอนน้อยจึงเป็นลม

จริงหรือไม่จริงไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือสื่อมวลชนให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ท่านรู้ไหม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ถูกไฟฟ้าดูด 3 คน ไม่มีใครไปต่อว่าตำหนิประณามสำนักข่าวต่างประเทศ

กว่าจะถึงวันนี้ วันที่สถานการณ์คลี่คลาย สื่อมวลชนกลายเป็นแพะรับบาป ถูกประณาม ถูกมองด้วยสายตาตำหนิ

เหตุเพราะมีข้อจำกัด มีเงื่อนไขเรื่องประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และความปลอดภัย ทำให้ต้องกันสื่อมวลชนออกนอกพื้นที่ ซึ่งสื่อมวลชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดี

เพียงบางส่วน เพียงบางสื่อ ที่ล้ำเส้น ทำจนเกินงาม เพื่อให้ได้ข่าว เราต้องตำหนิ เราต้องวิจารณ์หนัก ๆ
แต่ไม่ใช่ทุกสื่อ ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวทุกคน แค่บางคน การตำหนิจึงต้องเจาะจง มิใช่นักเรียนบางคนทำผิด ครูตีทั้งชั้น นั่นมันแนวคิดโบราณ

วันนี้เราลืมความรู้สึกที่เคย "ร่วมทุกข์ร่วมสุข" แล้วหรือ เราลืมความตั้งใจ "มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน" ในวันแรกของเหตุการณ์เมื่อปลายเดือนมิถุนายนแล้วหรือ

สื่อมวลชน คือ คนที่สื่อสารสร้างความรู้สึกเคียงข้าง สร้างความหวัง สร้างกำลังใจ ให้คนไทยทั้งประเทศ ในยามวิกฤติ ยามคับขัน หวั่นวิตก พวกเขาหล่อหลอมหัวใจเราให้เป็นหนึ่งเดียว

มอบความรัก มอบกำลังใจให้แก่พวกเขาบ้างเถิด เหมือนอย่างที่เขา มอบให้สังคม มอบให้ประชาชน มอบให้ผู้เดือดร้อน มอบให้ผู้ตกทุกข์ได้ยาก พวกเขาร่วมเรียงเคียงไหล่มาหลายร้อยปี

เราเองก็เคยผิดพลาดมิใช่หรือ หากมิตรคนนี้จะทำกระไรพลั้งเผลอบ้าง ผิดพลาดบ้าง จงตักเตือนเขา จงบอกเขาด้วยความรักและความหวังดีเถิด

อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ไม่เคยกอบโกยอะไรไปจากประเทศของเรา ตรงกันข้าม เขากลับปกป้องทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน

พวกเขาออกหน้าแทนเราในการรบพุ่งกับศัตรูของแผ่นดิน จนตัวเองต้องบาดเจ็บ บ้างก็ล้มตาย พวกเขาทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์เราอย่างซื่อสัตย์

อย่าชังสื่อมวลชนเลย อย่ามองสื่อมวลชนเป็นผู้ร้าย อย่าผลักไสเพื่อนที่ดีที่สุดออกไป เขาคือ "มหามิตร" ของเรา เขาคือ มิตรของคนทุกข์ยากทั้งแผ่นดิน

10 กรกฎาคม 2561
00.45 น.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค