ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การรายงานข่าวในสถานการณ์คับขัน

การรายงานข่าวในสถานการณ์คับขัน
Trapped Situation at Tham Luang: The Big Story in Thailand and Media Functions in 2018
...............................................................
เหตุการณ์วิกฤติที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กับภารกิจช่วยหมูป่าออกจากถ้ำ นับเป็น Big Story ของประเทศไทยในปี 2018 และเป็น Big Story ด้านการสื่อสารการข่าวครั้งใหญ่ของประเทศไทย แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน
Trapped Situation !! โดยปกติจะปรากฏอยู่ในภาพยนตร์แนวระทึกขวัญของฝรั่ง เมื่อเด็กกลุ่มหนึ่งตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน ไปติดเกาะ ติดอยู่ในบ้านร้าง ฝนตกหนักมาก ออกไปไหนไม่ได้ การสื่อสารถูกตัดขาด โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือใ้ช้การไม่ได้ รถยนต์สตาร์ทไม่ติด ลมพายุพัดเสาไฟฟ้าล้ม กระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไฟดับ บ้านตกอยู่ในความมืด เด็ก ๆ นับสิบคนที่อยู่ในบ้าน กำลังเผชิญกับสถานการณ์คับขัน !! ในบ้านนั้นยังมีเหตุฆาตกรรมสยองขวัญเกิดขึ้น
นั่นมันเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ จะสร้างให้สนุกอย่างไรก็ได้
แต่สำหรับ Trapped Situation !! ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มันเป็นเรื่องจริง มัน Real มันไม่ใช่เหตุการณ์สมมุติ
การเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขัน (Trapped Situation) ที่เด็ก 12 คนกับโค้ช ติดอยู่ในถ้ำที่มีความลึก ห่างจากปากถ้ำ 4 กิโลเมตร ท่ามกลางฝนตกหนัก น้ำฝนไหลเข้าไปท่วมพื้นที่ภายในถ้ำ จนเกิดสภาพน้ำท่วมถ้ำ บางจุดท่วม 1 เมตร บางจุดท่วม 5 เมตร เด็ก ๆ ต้องพากันหลบหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูง ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ติดต่อสื่อสารกับใครไม่ได้
มันเป็นสถานการณ์คับขัน (Trapped Situation) มันเป็นสถานการณ์วิกฤติ (Crisis Moment) ที่น่าสะพรึงกลัว น่าหวาดหวั่น เสี่ยงอันตราย เสี่ยงชีวิต เด็กอายุ 11 ปีบ้าง 12 ปีบ้าง 14 ปีบ้าง ตกอยู่ในความมืดมิด อดอาหาร เสียงน้ำไหลผ่านรอบตัว จะรู้สึกหวาดกลัวแค่ไหน มันเป็นเหตุการณ์ที่เด็ก ๆ ไม่เคยเจอมาก่อน และไม่รู้ตัวล่วงหน้า
เหตุการณ์นี้ก็เป็น Trapped Situation ของสื่อมวลชนเช่นกัน เพราะเป็นสถานการณ์ที่สื่อมวลชน ไม่เคยเจอมาก่อน และไม่รู้ตัวล่วงหน้า
เมื่อไม่มีประสบการณ์จึงต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ที่คับขัน แข่งกับเวลา แข่งกับความอยู่รอดของชีวิตมนุษย์ถึง 13 คน ภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขที่นอกเหนือการควบคุม ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ฟ้า ฝน ลมพายุ น้ำท่วม
พวกเขาถูกส่งมาจากกรุงเทพ ฯ โดยไม่ทันตั้งตัว บางคนยังไม่ทันได้เก็บเสื้อผ้า พวกเขาวางแผน คิด ลงมือปฏิบัติไปอย่างรีบเร่ง ภายในเวลาอันจำกัด ตัดสินใจโดยใช้ความรู้ ไหวพริบ ปฏิภาณ และประสบการณ์เดิม มันจึงยาก และบีบคั้นจิตใจคนทำงาน
เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นใันเป็นเรื่องใหม่ สื่อมวลชนจึงต้องอาศัยแหล่งข่าว เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ ผู้เชี่ยวชาญการต่อสู้เอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน ผู้เชียวชาญในการรักษากายใจ
ที่ขาดไม่ได้คือ ตัวเหตุการณ์ และภาพข่าวจากเหตุการณ์ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ประสบภัยที่ต้องได้รับการเยียวยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย และการคุ้มครองสิทธิเด็ก การทำข่าวจึงต้องเผชิญกับ ข้อห้าม และ ข้อปฏิบัติ หลายอย่าง
อีกทั้งเรื่องเด็กเป็นเรื่อง sensitive ในตัวเองอยู่แล้ว สื่อมวลชนจึงต้องรอบคอบ ต้องระวัง ต้องไม่ให้ผิดพลาด การทำงานภายใต้สถานการณ์เช่นนี้จึงยากลำบากเพิ่มขึ้น
เมื่อเหตุเกิดภายใน "ถ้ำ" หัวใจอยู่ภายในถ้ำ แต่เข้าถ้ำไม่ได้ จึงเป็นความท้าทายต่อ คนทำงานข่าว ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ โปรดิวเซอร์ข่าว กองบรรณาธิการข่าว จะรายงานข่าวอย่างไร
เด็ก คือ ผู้ประสบภัย ทีมงานที่เข้าไปช่วยเหลือ คือ แหล่งข่าวสำคัญที่สุด พร้อมทั้งผู้บังคับบัญชา หัวหน้าหน่วย คือ แหล่งข่าวสำคัญที่สุดที่สุด เพราะนี่คือ แหล่งข่าวชั้นต้น (primary sources) ทหารหน่วย SEAL หัวหน้าหน่วย SEAL นักดำน้ำคือ แหล่งข่าวที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์
แต่ด้วยสถานภาพ บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ จึงทำให้แหล่งข่าวไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มากนัก
สื่อมวลชนตกอยู่ในสถานการณ์เงื่อนไขเข้มงวดกวดขัน สื่อมวลชนจึงต้องพยายามทำในสิ่งที่ทำได้ โดยการหาแหล่งข่าวเจาะจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง หาข้อมูลจาก "วงใน" ที่อินไซท์ แม้จะอยู่ "นอกถ้ำ" แต่กลับรู้เห็นเหตุการณ์เสมือนอยู่ "ในถ้ำ" มาเป็นแหล่งข่าว
รวมทั้งการหาแหล่งข่าวชั้นรอง (secondary sources) หาพยานแวดล้อมมาทำข่าว เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวไปถึง เด็กในถ้ำ หน่วยซีล และนักดำน้ำในถ้ำ
ภายใต้ Trapped Situation สื่อมวลชนจึงต้องพยายามทุกวิถีทาง ที่จะทำงานข่าว ให้ได้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ภายใต้เงื่อนไข เหตุผล ความจำเป็น เพื่อให้ได้ข่าว
การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากสภาวะคับขัน จึงมีการทดลองใช้ไอเดีย แนวคิด แนวปฏิบัติต่าง ๆ เท่าที่โอกาสเปิดช่องให้ทำได้ รวมทั้งการค้นหาช่องโอกาสด้วยตนเอง ไม่เพียงแค่นั่งรอคนออกจากถ้ำ แล้วเข้าไปสัมภาษณ์ ไม่เพียงแค่รอฟังการแถลงข่าวประจำวัน เพราะถ้าทำแบบนั้น ส่งทีวีพูลไปรายงานข่าวช่องเดียวแล้วเกี่ยวสัญญาณไปเผยแพร่ก็พอแล้ว
มุมมองที่หลากหลาย คือ หัวใจของงานข่าว การสร้างสรรค์ใหม่ ความคิดใหม่ ไอเดียใหม่ ทางเลือกใหม่ คือ หัวใจของการสร้างสรรค์
หากปราศจากการสร้างสรรค์ โลกนี้ จะไม่มีรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะไม่มีจรวด Space X จะไม่มีการเดินทางโดยแคปซูล จะไม่มีระบบการเงินแบบ Pay Pal และจะไม่มี Mini Submarine เรือดำน้ำจิ๋ว จะไม่มีระบบการบินแบบโดรน จะไม่มี Grab, Uber, Amazon, iPhone เกิดขึ้น
งานข่าว จึงจำเป็นต้องมีการสร้างสรรค์ การสร้างสรรค์ คือ การคิดริเริ่ม การคิดใหม่ การคิดต่าง ที่มุ่งสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาเรื่องเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในภาคสนาม คือ คนที่มองเห็นเหตุการณ์ คือคนที่คิดสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด ว่าจะทำข่าวอย่างไร ภายใต้สถานการณ์คับขัน โดยได้รับคำปรึกษาแนะนำจากกองบรรณาธิการ และการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างสุดกำลังของโปรดิวเซอร์ข่าว
ความพยายามในสนามข่าวบางวิธีการ จึงถูกมองว่า "ล้ำเส้น" เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อห้าม ฝ่าฝืนศีลธรรม ฝ่าฝืนมโนธรรม มันเป็นสิ่งทีผิด สมควรลงโทษตามความเหมาะสม
แต่การกระทำบางอย่าง อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ น้ำล้น น้ำกระเซ็น น้ำหก จากแก้วน้ำ ของความพยายามสร้างสรรค์งานข่าว
การพิจารณาสิ่งใดว่าเป็นความผิด จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบเรื่อง เจตนา พฤติการณ์ของการกระทำ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และความเสียหายที่เกิดขึ้น
Trapped Situation ในงานสื่อสารมวลชน ในงานข่าว เป็นเรื่องท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์ และการพัฒนา
Trapped Situation ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 อันเป็นวันที่สามารถช่วยพา 13 คนออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยครบทุกคน สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างชัดเจน 6 ประการ คือ
1. to Inform รายงานข่าวสาร เหตุการณ์ ความเป็นไป ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยผู้สื่อข่าวจากภาคสนาม จากผู้ประกาศในห้องส่ง
2. to Explain อธิบายเชิง (causality) สิ่งใดเป็นเหตุ (cause) สิ่งใดเป็นผล (effect) อธิบายด้วยรูปภาพ กราฟิก แบบจำลอง อีเมอร์ซีฟ อธิบายโดยนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ ผู้เขี่ยวชาญด้านการแพทย์ นักเทคโนโลยี นักธรณีวิทยา เพราะสาเหตุใดจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำระดับโลก ต้องใช้หน่วย SEAL ต้องมีแพทย์ฺในหน่วยซีลเข้าไปด้วย การเจาะถ้ำจะเกิดผลกระทบอะไร การดำน้ำในที่แคบ ๆ จะทำได้อย่างไร สูบน้ำออกจากถ้ำไปกี่ล้านลิตร เด็ก ๆ เอาตัวรอดได้อย่างไรในสถานการณ์คับขัน ซึ่งเป็นการอธิบายโดยอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นด้านหลัก
3. to Understand สร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การที่เด็กเข้าไปมิใช่ความผิด บทบาทของโค้ชในการดูแลเด็ก การสูบน้ำออกสร้างผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร จะเยียวยาผู้คนอย่างไร
ทำไมจึงต้องทำพิธีบูชาเจ้าป่าเจ้าเขาก่อนเข้าไปช่วยเด็ก ทำไมต้องอัญเชิญครูบามาสวดมนต์ทำพิธีช่วยเหลือเด็ก ทำไมจึงมีร่างทรง 4G มาชี้แนะ
ทำไมพี่นักสูบน้ำพญานาคยักษ์จึงมุ่งหน้ามาช่วย ทำไมพี่นักปีนถ้ำเก็บรังนกจากลิบงจึงขึ้นมาช่วย
ทำไม มร.เวิร์น อันเวิร์ธ จึงไม่นิ่งดูดาย ทำไมจึงลุกขึ้นมาช่วยอย่างเต็มกำลัง จิตใจเขาเป็นอย่างใร ความคิด ค่านิยมของเขาเป็นอย่างไร
ทำไมทีมนักดำน้ำระดับโลกจึงมาช่วย เขามาช่วยแล้วได้อะไร เขามีความคิด ความเชื่อ ค่านิยมอะไร ทำไมเขาไม่อยากเป็นข่าว ทำไมเขาไม่อยากเอาหน้า
ที่สำคัญที่สุดคือ ทำไมคนทั้งโลกจึงสนใจเรื่องนี้ ทำไมคนทั้งโลกจึงให้กำลังใจ ทำไมคนทั้งโลกจึงเอาใจช่วย
อันเป็นการสร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยปัจจัยทางด้านสังคม วัฒนธรรม จิตวิทยา เศรษฐกิจการเมือง ศักยภาพของมนุษย์ ศาสนา จิตวิญญาณ
4. to Educate อธิบายให้ความรู้เแก่ผู้ชมในเรื่องต่าง ๆ ภูเขา ป่าไม้ ถ้ำ ธรรมชาติ กระแสน้ำ อากาศ ออกซิเจน การขาดออกซิเจน การเอาตัวรอดยามคับขัน
5. to Correlation ประสานสัมพันธ์ เชื่อมโยงความคิดของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ให้เข้าใจในเรื่องเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน อย่างถูกต้อง ถกเถียงอภิปรายเพื่อหาขอสรุปที่ดี หาทางออกที่ดี เช่น การแสวงหาวิธีออกจากถ้ำ กลับทางทางปากถ้ำ ต้องดำน้าออกมา ผู้เชียวชาญบางคนบอกว่าอันตรายเกินไปที่จะให้เด็กดำน้ำออกมา หรือพยายามหาโพรงถ้ำเพื่อปีนลงไปช่วย หรือใช้เรือดำน้ำขนาดจิ๋วเข้าไปช่วย เมื่อเด็กออกมาแล้วขอให้ช่วยกันปกป้องสิทธิเด็ก ออกแนวทางในการสัมภาษณ์เด็ก เสนอแนะวิธีการเยียวยาเด็ก ถกเถียงอภิปรายกันว่า ใครควรเป็นฮีโร่ตัวจริง เด็กควรได้รับการตำหนิหรือไม่ เด็กควรได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่หรือไม่ ควรจะปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร เราจะฝึกฝนทีมซีลเพื่อช่วยเหลือใในถ้ำอย่างไร ควรจะปิดถ้ำหรือไม่ จะฟื้นฟูถ้าและป่าเขาบริเวณนั้นอย่างไร ควรจะส่งเสริมและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในระดับโลกอย่างไร
6. to Mobilization ระดมสรรพกำลังจากภาคส่วนต่าง ๆ ออกประกาศ กระจายข่าว ระดมความช่วยเหลือ อยากได้ถังออกซิเจน อยากได้หน้ากาก อยากได้ไฟฉายคาดศีรษะ อยากได้ถ่านไฟฉาย อยากได้ยากันยุง สื่อมวลชนช่วยกันประกาศออกไป คนไทยส่งมาให้ถึงปากถ้ำ มีการจัดเลี้ยงอาหารทีมงาน มีการอาสาช่วยซักเสื้อผ้าให้เจ้าหน้าที่ มีการทำก๋วยเตี๋ยวมาเลี้ยงผู้คน แม้ฝรั่งเองยังเข้ามาเป็นอาสาสมัคร มาเป็นจิตอาสาช่วยบริการอาหาร
การทำหน้าที่ทั้ง 6 ประการของสื่อมวลชน (Media function) เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของผู้ชมโทรทัศน์ ผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ Social Media Facebook 60 ล้านคนทั่วประเทศไทย และยังเผยแพร่ไปยังผู้คนหลายพันล้านคนทั่งโลก
ผ่านสถานีโทรทัศน์เครือข่ายยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ABC, CBS, Fox News, New York Time, CNN, Reuters, อังกฤษ BBC ออสเตรเลีย 7 Channel, สิงคโปร์ Channel A และอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่า แม้สื่อมวลชนไทย จะตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน จะตกอยู่ใน Trapped Situation แต่สื่อมวลชนไทย ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ประกาศข่าว โปรดิวเซอร์ข่าว กองบรรณาธิการข่าว ยังคงมีศักยภาพ มีขีดความสามารถ มีไหวพริบปฏิภาณ มีความไว มีความสามารถในกาเรียนรู้ ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สามารถทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก สามารถทำงานภายใต้สถานการณ์คับขัน ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้เป็นอย่างดี
อย่างที่เห็นในจอทีวี อย่างที่เห็นในจอโทรศัพท์มือถือ อย่างที่เห็นในเฟซบุ๊ก อย่างที่เห็นในทวิตเตอร์ มาตลอด 18 วัน
ด้วยความเคารพในวิชาชีพสื่อมวลชน
11 กรกฎาคม 2561
12.59 น.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค