ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การใช้ "ภาพตัดต่อ" เพื่อการใส่ร้ายทางการเมืองในสื่อโซเชียลมีเดีย

การใช้ "ภาพตัดต่อ" เพื่อการใส่ร้ายทางการเมืองในสื่อโซเชียลมีเดีย

        นี่คือภาพที่ปรากฏในโลกออนไลน์และส่งต่อกันในสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลาประมาณ 14.00-15.00 น. และมีการนำมาแชร์ต่อกันอย่างแพร่หลายอีก ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557 เวลาประมาณ 11.00-12.00 น..




        ตอนแรกมีผู้โพสต์ภาพด้านขวามือก่อน ซึ่งเป็นภาพที่มีการตัดต่อภาพจนทำให้ประชาชนจำนวนมาก เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นความจริง จนทำให้

        บางคนโพสต์คอมเม้นท์ตำหนิ ด่าว่า เสียๆ หายๆ
        บางคนก่นด่า สาปแช่ง..
        บางคนแชร์ภาพส่งต่อกันไป..ด้วยหมายจะให้เป็นการประจาน

        ต่อมาอีกไม่นานนัก ก็มีผู้โพสต์อธิบายว่า "ภาพจริง" คือ ภาพทางซ้ายมือ ส่วนภาพขวา เป็น "ภาพตัดต่อ" ซึ่งไม่เป็นความจริง หรือเป็นเท็จ

        ภาพข้างบนนั้นเป็นภาพตัดต่อที่มีผู้ทำขึ้นมาเพื่อ "ใส่ร้าย" นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมในทางเสื่อมเสียทางเพศ เพื่อให้ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ได้รับความอับอาย

        บางคนได้ดูเพียงภาพแรกที่ถูกตัดต่อเพียงภาพเดียว ก็หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงด่าว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างเสียๆ หายๆ

        แต่บางคนที่ได้เห็นภาพต้นฉบับจริงซึ่งเป็นภาพบุคคลอื่น ก็เข้าใจว่า ภาพที่เห็นเป็นภาพที่ถูกตัดต่อทำขึ้นมาใหม่เพื่อใส่ร้าย ก็ไม่ติดใจ และตรงข้ามอาจจะเกิดความเห็นใจ กลายเป็นเรื่องดี

       เมื่อดูการใส่ร้ายฝ่ายหนึ่งไปแล้ว เพื่อความเป็นธรรม เรามาดูการใส่ร้ายอีกฝ่ายหนึ่งบ้าง !!

       ภาพข้างล่างนี้เป็นการตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้ายคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ภาพนี้ถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 โปรดดูภาพ


         ภาพซ้ายมือเป็นภาพถ่ายเดิมซึ่งดูแล้วไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ภาพขวามือเป็นภาพที่ตัดต่อเอามือของคุณสุเทพมาวางไว้ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม โดยมีการใช้กราฟิกทำรูปวงกลมสีแดงเน้นให้เห็นถึงความประพฤติเสื่อมเสียทางเพศของคุณสุเทพ (ซึ่งไม่เป็นความจริง) ดังรูปภาพในวงกลมสีแดง เพื่อเป็นการใส่ร้ายว่าคุณสุเทพมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้านชู้สาว

         หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพดังกล่าวนี้ ก็มีผู้โพสต์ข้อความท้้งการอธิบายข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และการซ้ำเติม ดังนี้

                             
                               ภาพข้างบนนี้เป็นโพสต์อธิบายข้อเท็จจริง ผู้โพสต์เข้าใจความจริงว่าเป็นภาพที่ตัดต่อใส่ร้ายคุณสุเทพ

       
                               ภาพข้างบนนี้เป็นโพสต์ที่ผู้โพสต์เข้าใจความจริงว่าเป็นภาพที่ตัดต่อใส่ร้ายคุณสุเทพ และพยายามอธิบายข้อเท็จจริงเพิ่มเติม


     
                                 ส่วนภาพข้างบนนี้เป็นโพสต์ที่เขียนใส่ร้ายคุณสุเทพให้เสียหายในเรื่องความประพฤติเสื่อมเสียทางเพศ

            การตัดต่อภาพเดิมทำให้กลายเป็นภาพใหม่ ที่สร้างความเสียหายให้แก่บุคคลในภาพ ทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.

            ถือว่าเป็น "การใส่ร้าย" (Slur) ซึ่งมีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษอีกหลายคำ เช่น Slander, Accusation, Imputation, Mudslinging

           การใส่ร้ายทางการเมืองในประเทศไทยที่มีการกระทำกันมาก แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ได้แก่

           1. การใส่ร้ายว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
           2. การใส่ร้ายว่าไม่รักชาติ ทรยศต่อประเทศชาติ
           3. การใส่ร้ายเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน
           4. การใส่ร้ายเรื่องการประพฤติเสื่อมเสียทางเพศ

          การใส่ร้ายว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการใส่ร้ายว่าไม่รักชาติ ทรยศต่อประเทศชาติจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

          ส่วนการใส่ร้ายเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน มีลักษณะเป็นเรื่องนามธรรม ไม่ค่อยมีพยานหลักฐานมาแสดงให้ผู้อ่านเห็นชัดแจ้ง จึงมักเป็นการใส่ร้ายด้วยข้อความ ตัวอักษร คำพูด เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่จะช่วยเข้าใจง่ายขึ้น ก็จะทำเป็นภาพกราฟิก หรือภาพแอนิเมชั่น

          แต่สำหรับการใส่ร้ายเรื่องการประพฤติเสื่อมเสียทางเพศ มีลักษณะเป็นรูปธรรม ผู้ใส่ร้ายสามารถหาพยานหลักฐาน เป็นเอกสาร รูปภาพ รูปถ่าย มาแสดงให้ดูได้ง่าย

          ในขณะที่การใส่ร้ายเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ในทางกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงมาก มีอัตราโทษสูงถึงจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ขณะเดียวกันการใส่ร้ายเรื่องการประพฤติเสื่อมเสียทางเพศ ในทางกฎหมาย กรณีเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 16 จะมีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

           แต่เมื่อพิจารณาในบริบทของสังคมไทย และค่านิยมของสังคมไทย ที่ถือเรื่องเพศเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความรู้สึก กลับมองผลกระทบของการใส่ร้ายเรื่องการประพฤติเสื่อมเสียทางเพศ  มี "ความร้ายแรงในทางความรู้สึก" มากกว่า การใส่ร้ายเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน

           ด้วยเหตุนี้ การโจมตีทางการเมืองในสังคมไทย จึงมักนำประเด็นทางเพศมาโจมตีใส่ร้ายกันมากกว่าประเด็นอื่น

          ยิ่งมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการตัดต่อ ตกแต่ง แก้ไข ดัดแปลงรูปภาพได้อย่างมหัศจรรย์ ประกอบกับการมีสื่ออินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย ที่สามารถส่งข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วแล้ว ยิ่งมีการนำเทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารมาใช้ใน สร้างรูปภาพตัดต่อเพื่อนำมาใช้ในการ "ใส่ร้ายทางการเมือง" อย่างแพร่หลาย

        ถามว่าการทำและเผยแพร่ภาพตัดต่อใส่ร้ายในทางการเมืองนี้ผิดอย่างไร?

       ความผิดจากการโพสต์ภาพตัดต่อใส่ร้ายผู้อื่น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

        ส่วนที่ 1 ความผิดตามกฎหมาย

        การโพสต์ภาพดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมาย 2 ลักษณะคือ

          (1) ความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง..โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 16 ก็มีโทษสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         (2) ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

        ส่วนที่ 2 ความผิดตามมโนธรรมสำนึก

        ความผิดส่วนนี้เป็นความผิดตามความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ซึ่งผู้คนทั่วไป หรือวิญญูชนที่มีคุณธรรม มีความสำนึก จะรู้ได้ด้วยตนเองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ความรู้สึกผิดนี้จะเกิดขึ้นทั้งต่อ

        ก. ตัวผู้กระทำ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะคอยหลอกหลอนให้ผู้กระทำรู้สึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลาที่ระลึกถึง

        ข. บุคคลอื่นทั่วไป เมื่อพบเห็นภาพนี้ก็จะรู้สึกว่า มีการกระทำผิดเกิดขึ้นในสังคม และยังมิได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง

        แม้จะรู้ว่าเป็นความผิด แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยัง "ใส่ร้าย" กันอยู่ เพียงเพื่อชัยชนะของตนเองและพวกพ้อง

        การต่อสู้ทางการเมืองด้วยข้อมูล ข่าวสาร รูปภาพ สถิติ เหตุการณ์ พฤติการณ์ หลักฐาน พยาน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน "ความจริง"!! และความจริงนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "คุณธรรม" แล้ว การต่อสู้นั้น มักจะได้รับชัยชนะในบั้นปลาย ถึงแม้บางทีอาจใช้เวลานาน แต่ผลสุดท้ายย่อมเป็นชัยชนะอย่างไม่ต้องสงสัย
     
        แต่การต่อสู้ทางการเมืองด้วยข้อมูล ข่าวสาร รูปภาพ สถิติ เหตุการณ์ พฤติการณ์ หลักฐาน พยาน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน "ความเท็จ"!! เสียแล้ว ท่านอาจได้รับชัยชนะในระยะสั้น แต่ในที่สุดพอถึงบั้นปลาย เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ท่านจะต้องพบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด!!

        การต่อสู้ใดๆ เพื่อให้มาซึ่งชัยชนะและความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ศึกสงคราม หรือการต่อสู้ทางเศรษฐกิจการค้า หรือแม้กระทั่งการต่อสู้ทางการเมือง !!

        จำเป็นต้องอาศัยหลักคุณธรรม (Ethic) ศีลธรรม  (Moral) และมโนธรรมสำนึกที่สังคมส่วนรวมพึงจะมีร่วมกัน (Conscience consensus) เป็นเครื่องกำกับความประพฤติของมนุษย์

         เพราะอย่างไร เราก็มี "ความเป็นคนไทย" ด้วยกัน !!
         เพราะอย่างไร เราก็มี "ความเป็นมนุษย์" เหมือนกัน !!

         เราจึงพึงตระหนักถึง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ของบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน !!

        สิ่งที่พึงตระหนักในการใช้สื่อคอมพิวเตอร์ สื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดียมีอะไรบ้าง??

        ประชาชนที่ใช้สื่อคอมพิวเตอร์ สื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดีย พึงมีความตระหนัก อย่างน้อย 5 ประการคือ

        1. มีความเคารพต่อสิทธิของบุคคลอื่น
        2. มีความเคารพต่อกฎหมาย
        3. มีความรับผิดชอบ
        4. มีความระมัดระวัง มีความรอบคอบ ในการใช้สื่อ
        5. มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด ในกรณีที่เรื่องนั้นมีข้อสงสัยว่าจะไม่เป็นความจริง

        สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ
        1. ไม่ใช้ "อคติ" ส่วนตัว ทำร้ายผู้อื่น
        2. ไม่ใช้สื่อในการใส่ร้าย
        3. ไม่ใช้สื่อในการสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะได้
             - กระทำโดยเจตนา
             - กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง
             - กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

        - ไม่ว่าจะรังเกียจเดียดฉันท์เพียงใด..
        - ไม่ว่าจะชิงชังแค่ไหน..
        - ไม่ว่าต้องการผลสำเร็จอะไร..

         การเลือกใช้ "วิถีทาง" !! และ การเลือกใช้ "วิธีการ" !! ที่ถูกต้องตามหลัก "คุณธรรม" ศีลธรรม และมโนธรรม" เป็นเรื่องสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้ !!

        เพราะมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ "การสร้าง" !! หรือ "การทำลาย" !! "ความชอบธรรม" ในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตนเองเป็นอย่างมาก

        ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม หากหวังที่จะได้รับชัยชนะในการต่อสู้แล้วละก็..

         - จงอย่าใช้ความเท็จในการต่อสู้ !!
         - จงอย่าใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามด้วยความเท็จ !!
            เพราะความเท็จจะทำลาย "ความชอบธรรม" ในการต่อสู้ของท่าน !!
     
         - จงพูดความจริงเสมอ !!
            เพราะความจริงจะสร้าง "ความชอบธรรม" ในการต่อสู้ให้แก่ท่าน !!
            และความชอบธรรมในการต่อสู้ จะนำไปสู่ชัยชนะ !!

         รศ.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
         วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557
         เวลา 14.56 น.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค