ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การสื่อข่าวฉาบฉวยแบบ Snap Shot ของข่าวออนไลน์ในยุคดิจิทัลวิถี..เราต้องการข่าวแบบนี้จริงหรือ ??

"แม่เฒ่า นางลอย พรมเวียง อายุ 63 ปี ได้ขุดหน่อไม้ในกอไผ่ แต่ดวงถึงคาด ถูกจงอางยักษ์กัดคอเสียชีวิต @SNEWS"

ข่าวสั้นๆ ที่ผมพบในสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ก ทำให้ผมฉุกใจคิดขึ้นมาว่า..
        ถ้าเราเป็นผู้อ่านข่าวที่อยากรู้เรื่องราวของข่าวนี้จริงๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เพราะสะดุดชื่อ สะดุดนามสกุล สงสัยว่าเป็นคนรู้จัก อยากติดตามผล สงสัยในความร้ายกาจของงูจงอางยักษ์ อยากรู้วิธีป้องกันอันตรายจากเจ้างูจงอางยักษ์

        ผมอยากรู้อะไรมากกว่าข้อมูลสั้นที่ได้รู้แค่นี้
        ผมอยากรู้ว่า..
        นางลอย พรมเวียง บ้านอยู่ที่ตำบลอะไร อำเภออะไร จังหวัดอะไร จะใช่คนที่เราเคยรู้จักมาก่อนมั๊ย จะใช่คุณป้าใจดีที่เคยตักน้ำให้เราดื่มแก้กระหายเมื่อหลายปีก่อนมั๊ย นางลอยไปขุดหน่อไม้แถวไหนจึงได้เจองูจงอางยักษ์ไปขุดตอนไหน นางลอยไปขุดหน่อไม่ทำไม เป็นอาหารเช้า อาหารเย็น เพื่อยังชีพทั่วไป หรือไปขุดมาเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงเด็กน้อยตัวเล็กๆ ที่แม่ทิ้งไว้เลี้ยงเพราะแม่เข้าไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนี้ญาตินางลอยทำอย่างไรต่อไป
        ผมอยากรู้ว่า..
        1. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนางลอยจะเป็นอย่างไร ?? เช่น ความเป็นอยู่ของ สามี เด็กเล็กๆ ในบ้านที่นางลอยเคยเลี้ยงดู จะอยู่กันอย่างไร ?? นางลอยมีประกัน มีกองทุนอะไรช่วยเหลือได้บ้าง ??
        2. แพทย์ แพทย์ประจำตำบล พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ ของสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อสม. ได้เข้าไปดำเนินการอะไรบ้าง ในเชิงการป้องกัน ในเชิงการแก้ไข ??
        3 องค์การบริหารส่วนตำบล ได้เข้าไปดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวนางลอยอย่างไรบ้าง ?? 
        4. เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ มีคำแนะนำอย่างไรในเรื่องนี้ ??

         เหตุผลที่ผมคิดอย่างนี้ก็เพราะ..
         นางลอย พรมเวียง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง..แน่นอนว่า นางลอย พรมเวียง ย่อมไม่ใช่คนโดดเดี่ยว หากแต่นางลอยย่อมเป็นสมาชิกของสังคมในฐานะใดฐานะหนึ่ง เช่น
          - เป็นสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง
          - เป็นสมาชิกของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง
          - เป็นบุคคลในรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งนางลอยมีสถานะเป็นผู้ให้ปกครอง และมีบุคคลกลุ่มหนึ่งเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจปกครอง เช่น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกำนัน มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มีปลัด มีนายอำเภอ มีผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข แลัดกระทรวงเกษตร หรือบุคคลภาครัฐอื่นใดที่มีความเกี่ยวข้อง มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ..ต่อชีวิต..ของนางลอย พรมเวียง แม้ว่านางลอย พรมเวียง จะเป็นเพียงคนเล็กๆ คนหนึ่งในสังคมก็ตาม

          จุดเน้นของบทความนี้ ไม่ได้เจาะจงไปที่เรื่อง การปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน การเลือกตั้ง หรือ ประชาธิปไตย อะไรนั่นเลย

           แต่ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่คือเรื่อง "ข่าว"
           การข่าว  (Journalism)  อันประกอบด้วย การผลิตข่าว การทำข่าว การเขียนข่าว และการรายงานข่าว
           จริงอยู่ที่..ข่าวชิ้นนี้เป็นข่าวสั้น เป็นข่าวเล็ก เป็นข่าวเกี่ยวกับคนเล็กคนน้อยคนหนึ่งในสังคม ในสายตาคนทั่วไป ไม่ใช่ข่าวบุคคลสำคัญ ผู้มีตำแหน่ง ผู้มีอำนาจ ผู้มีฐานะร่ำรวย ผู้มีสถานภาพชนชั้นสูงในสังคม
           จริงอยู่ที่..ข่าวนี้เป็นข่าวที่นำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์ (Online Journalism) ซึ่งจำเป็นต้องสั้น ต้องกระชับ ต้องรวดเร็ว ต้องไวในการนำเสนอข่าว

           แต่..เราจะอ่านข่าวเพื่อรู้ข้อมูลข่าวสารเพียงแค่นี้หรือ..

           "แม่เฒ่า นางลอย พรมเวียง อายุ 63 ปี ได้ขุดหน่อไม้ในกอไผ่ แต่ดวงถึงคาด ถูกจงอางยักษ์กัดคอเสียชีวิต @SNEWS"
          
            ผู้ทำข่าว ผู้เขียนข่าว ผู้รายงานข่าว จะเป็นใครก็ไม่สำคัญ จะเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ช่องใด สำนักข่าวใด ผมก็ยังเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ..เท่ากับว่า..

            การเขียนข่าวออนไลน์ เราจะเขียนกันแบบนี้ เราจะเขียนกันเพียงเท่านี้จริงๆ หรือ ??

            ในทางนิเทศศาสตร์คิดกันอย่างไร ?
            ผมเห็นว่า..
            ประการแรก การทำข่าวขาดความรอบรู้ในเรื่องสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ที่ดีพอ จนมิได้คำนึงถึงว่า "ชีวิตของคนๆหนึ่ง" ยอมเป็นส่วนหนึ่งของ "สังคม"  สังคมหนึ่ง และมีสถานภาพ บทบาท ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ในสังคม

         ประการทีสอง การทำข่าว ไม่ได้คำนึงถึง บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงและใหล้ชิดกับบุคคลที่ตกเป็นข่าว ซึ่งในกรณีนี้คือ นางลอย พรมเวียง พูดอีกอย่างคือ มองเป็นเรื่องไกลตัว ห่างไกล เพราะคิดคำนึงในมิติด้านพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่มิได้คำนึงถึงหลัก "ความใกล้ชิด" (Proximity) ตามหลักของการทำข่าวที่แท้จริง ตามหลักนิเทศศาสตร์ นั่นคือ การคิดในมิติของความใกล้ชิดทางความรู้สึก รัก ผูกพัน เศร้า เสียใจ อาลัย มิได้คำนึงถึงความใกล้ชิดแบบความรู้สึกร่วม อารมณ์ร่วม 

        ประการที่สาม การทำข่าวนี้ได้ละเลยหลักการทำข่าวเรื่อง "ความครบถ้วนสมบูรณ์" (Completeness) ของเนื้อหาข่าว

        ประการที่สี่ การทำข่าวนี้สะท้อน ความคิดความเชื่อของคนทำข่าว ในเรื่อง "ดวง" หรือ "โชคชะตา" มากกว่า "พฤติกรรม"

        ประการที่ห้า การทำข่าวนี้ได้แบ่งช่วงอายุคนให้มีสถานภาพต่างๆ ตามการตัดสินใจของตนเอง เช่น เด็ก วัยรุ่น คนหนุ่มสาว คนวัยทำงาน คนชรา ผู้สื่อข่าวได้ตัดสินให้ คนอายุ 63 ปี ได้กลายสภาพเป็นคนชรา เป็น "แม่เฒ่า" ไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศไทย และโลกทั้งโลก ป่าวประกาศอยู่เป็นประจำว่า สังคมมุนษย์เรา ได้มีสภาพเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" ไปแล้ว ดังนั้น ตามข่าวนี้ หากคนอายุ 63 ปีเป็น "แม่เฒ่า" แล้วคนที่อายุ 80 ปี 90 ปี ที่รัฐจัดเบี้ยผู้สูงอายุให้เดือนละพันกว่าบาท หรือคนอายุยืน 100 กว่าปีที่เห็นในข่าว ผู้สื่อข่าวจะจัดสถานภาพให้ท่านเป็นแบบใด ?

        ประการที่หก การทำข่าวนี้สะท้อนว่า หลักนิเทศศาสตร์เรื่อง การทำข่าว 5W 1H ได้แก่ Who Waht When Where Why How มิได้ถูกนำมาใช้เหมือนอย่างที่โลกวิชาการด้านการสื่อข่าว ตั้งแต่อังกฤษ อเมริกา สอนกันมาตั้ง 60 กว่าปี และสั่งสอนอบรมกันในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอีก 40 กว่าปี เป็นสิ่งที่ถูกละเลย มิได้นำมาใช้อย่างจริงจัง

       ประการที่เจ็ด การทำข่าวนี้ อาจจะไม่ได้คิดถึงสภาพสังคมปัจจุบัน ที่เราสื่อสารกันในโลกออนไลน์มากขึ้นทุกขณะ โลกที่ผู้คนได้เข้าไปใช้เวลาอยู่ในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality World) บนสมาร์ทโฟน (Smart Phnone) บนแท็บเล็ต บน device สมัยใหม่ เกือบจะมากกว่าเวลาที่ใช้ในโลกแห่งความจริงทางกายภาพ นั่นหมายถึงว่า ผู้คนนิยมอ่านข่าวจากสื่อออนไลน์มาก และรูปแบบการเขียนข่าวแบบนี้ ไม่ได้ให้ความชัดเจนแก่ผู้อ่านข่าว รวมทั้งเป็นการ "สร้างความเคยชิน" ว่า "อ่านข่าวออนไลน์อ่านแค่นี้ก็พอ" ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรไปมากกว่านี้ ซึ่งเป็นลักษณะของการบริโภคข่าวสารอย่างฉาบฉวย อันเป็นการ "ปลูกฝังนิสัยพอใจในความฉาบฉวย" ให้แก่ผู้คน ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี 

       เมื่อโลกเราพัฒนามาถึงขั้นนี้แล้ว..การทำข่าวควรจะพัฒนาไปถึงขั้นไหน ??
       เมื่อโลกเราพัฒนามาถึงขั้นนี้แล้ว..คนทำข่าวควรจะพัฒนาไปถึงขั้นไหน ??

       "การเปลี่ยนแปลง" (Change) เพียงอย่างเดียว ยังไม่อาจเรียกได้ว่า "พัฒนา" (Development)

       ผมคิดว่า เราต้องการ "การพัฒนา" มากกว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวยและไร้คุณภาพเช่นนี้

         รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
         26 มิถุนายน 2556 
        
   
        หมายเหตุ ที่มาของข่าวที่อ้างถึงในบทความนี้ : ข่าวออนไลน์ ข่าว 5 หน้า 1 วันที่ 26 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 05.00 น.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค