ความตายคือการเริ่มต้น
การสื่อสารเชิงสัญญะของภาพยนตร์เรื่องจดหมายรัก The Letter
ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
ความตาย..สำหรับคนทั่วไปคือการจบสิ้น แต่ความตายในภาพยนตร์ไทยเรื่อง The Letter หรือ “จดหมายรัก” กลับเป็น..การเริ่มต้น !!
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวแห่งความรักของ..มนุษย์ที่ขาดความรัก..สองคน คนหนึ่งอยู่ในสังคมเมืองที่ทันสมัยทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เต็มไปด้วยความรีบเร่งและการแข่งขัน อีกคนหนึ่งอยู่ในสังคมชนบทที่มีความอบอุ่นใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่แข่งขันกับใคร แต่ทั้งคู่กลับมีสิ่งที่เหมือนกันคือ “ความเหงา” และ “ขาดความรัก” คนจากสองสังคมที่แตกต่างกันสิ้นเชิงได้เดินทางมาพบกัน มันจึงกลายเป็นความอบอุ่นและความรักอันดื่มด่ำ แต่เมื่อคนหนึ่งที่รักมากต้องลาจากก่อนวัย อีกคนหนึ่งจะอยู่อย่างไร..เหมือนดั่งต้นไม้ที่ไร้น้ำรอวันเหี่ยวแห้งตาย แล้ววันหนึ่งเมื่อมนุษย์เข้าใจสัจจะแห่งชีวิต ความตายก็กลับกลายเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ภาพยนตร์เรื่องจดหมายรักอาศัยความรักที่เกิดจากความตายเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่อง เริ่มต้นก็ตาย ..จุดหักเหของเรื่องก็มาจากความตาย จุดไคลแม็กซ์ก็เป็นผลมาจากความตาย หนังเรื่องนี้จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตายโดยแท้ แต่เป็นความตายที่นำไปสู่การเริ่มต้น..หาใช่จุดจบ
ความตายครั้งแรก หนังเปิดเรื่องด้วยความตายของน้องสาวของยายของตัวละครเอกที่ชื่อ “ดิว” สาวน้อยที่ไร้ญาติ แต่ไม่ขาดมิตร เพราะเธอยังมีเพื่อนสาวที่สนิทคนหนึ่งชื่อเกด แต่ตัวเธอกลับขาดซึ่ง “ความรัก” ความตายของญาติเป็นโอกาสที่ได้พบกับพระเอก เหตุการณ์แห่งความรักอุบัติขึ้นที่ท่ารถโดยสาร “โปสการ์ด” คือสื่อที่เธอครอบครองไว้ตั้งแต่ต้น สื่อชนิดนี้หากจะใช้ส่งสารถึงกัน ผู้ส่งสารจะต้องเขียน “อักษร” (Letter) ลงไป แต่ตลอดชีวิตของคนรัก เธอกลับไม่เคยเขียน “อักษรแห่งรัก” ใดๆ เพื่อบอกให้คนที่รักเธอมากที่สุดได้รู้บ้างเลยแม้สักครั้งเดียว แม้จนสิ้นลมหายใจจากกันไป
“ดิว” ทำงานสร้างเว็บไซต์โดยการพิมพ์ตัวอักษรและระบบข้อมูลในการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ “ต้น” ทำงานด้านการเกษตรอยู่กับต้นไม้และธรรมชาติ ความสัมพันธ์ช่วงเริ่มต้นพวกเขาสื่อกันด้วยใช้การพูดทางโทรศัพท์ ดิวใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นสื่อแห่งความคิดถึง แต่ต้นพอใจที่จะใช้ “ตัวอักษร” เป็นสื่อมากกว่าเพราะว่ามันมี “ตัวตน” ขณะที่ต้นชวนให้ดิวเขียนจดหมายถึงกัน แต่ดิวคิดว่าไม่จำเป็นเพราะเจอหน้ากันอยู่แล้ว ดิวกลับมองข้ามคุณค่าของตัวอักษรไปอย่างน่าเสียดาย
“ตัวอักษร” หรือ Letter ซึ่งแปลได้อีกว่าคือ “จดหมาย” ที่ต้นชอบในความมีตัวตน หรือความจริงที่สัมผัสได้ ต่างจากอีเมล์ที่มีสภาพเป็นเพียง “ข้อมูล” เมื่อไฟดับข้อมูลเหล่านั้นก็หายไป แต่ต้นเชื่อว่าตัวอักษรจะยังคงอยู่ได้อีกนาน “อักษร” เป็นสัญญะ (sign) หมายถึง “ความรักที่มั่นคงและยาวนาน” ดังเช่น จดหมายที่คนรุ่นยายของดิวเขียนไว้ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ “ความรัก” มิใช่เป็นเพียง “ข้อมูล” แต่เป็นความรู้สึกที่เปี่ยมล้นด้วย “ความหมาย”
ความตายครั้งที่สอง คือ ความตายของเกดเพื่อสนิทของดิว เกดสาววัยทำงานผู้มีวิถีชีวิตในสังคมเมืองทันสมัย เกดติดต่อสื่อสารกับผู้ชายคนหนึ่งโดยที่เธอไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เธอคิดไปเองว่าผู้ชายที่เธอติดต่อสื่อสารทาง E-mail และ Chat จะเป็นคนหน้าตาดี การศึกษาดี ฐานะดี แต่เมื่อพบตัวจริงแล้วเกดกลับพบว่ามันตรงกันข้ามกับที่เธอจินตนาการไว้อย่างสิ้นเชิง และการสื่อสารผ่านคือตัวอย่างที่สื่อให้เห็นถึงความลวงจากตัวอักษรในอินเตอร์เน็ต การติดต่อสื่อสารผ่าน Chat ด้วยตัวอักษรเป็นการสื่อสารโดยไม่เห็นหน้ากัน มนุษย์สามารถเสแสร้งได้ง่ายดาย โกหกหลอกลวงกันได้ตลอดเวลา ในที่สุดมันก็นำเธอไปสู่จุดจบคือความตาย
ความตายครั้งแรกคือความตายของน้องสาวของยายของดิว ชักนำให้มนุษย์ที่เปี่ยมด้วยความเหงาใจและไร้รักสองคนได้มาใกล้ชิดกัน เมื่อเกดเพื่อนสนิทที่รักมากที่สุดของดิวตายลง ดิวไม่มีใครอีกแล้วจึงกลับมาเชียงใหม่และได้ใกล้ชิดกับต้นจนก่อเกิดเป็นความรักและแต่งงานกัน นั่นคือการ “เริ่มต้น” ชีวิตคู่ฉันสามีภรรยา ความตายครั้งคือแรงเหวี่ยงที่ทำให้ทั้งดิวและต้นเกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
คนหนึ่งเป็นคนบ้านนอกใสซื่อแสนดี แต่ขาดความรัก คล้ายดั่งต้นไม้ขาดน้ำ อีกคนหนึ่งสวย เก่ง ทันสมัย แต่ก็ไร้ซึ่งความรัก เมื่อทั้งสองได้พานพบ จึงมอบความรักให้แก่กันล้นหัวใจ เหมือนดั่ง “ต้นไม้ที่ได้น้ำ” นำความชุ่มชื่นมาสู่ชีวิต
“ต้น” ชื่อตัวละครเอกฝ่ายชาย เป็นสัญญะที่มีความหมายสองนัย นัยแรกต้นคือ “ต้นไม้” ที่เกิดมาคู่กับดิว อีกนัยหนึ่ง “ต้น” หมายถึง “ต้นกำเนิด” หรือ “จุดเริ่มต้น” หรือ “การเริ่มต้น” อันเป็นที่มาแห่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นคือเรื่องราวความรักของคนทั้งสอง
“ดิว” ชื่อตัวละครเอกฝ่ายหญิงก็เป็นสัญญะที่มีความหมายสองนัยเช่นกัน นัยแรก “ดิว” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Dew แปลว่า “น้ำค้าง” ในหนังเรื่องนี้ดิวจึงหมายถึงน้ำค้างที่มาเกาะและให้ความชุ่มชื่นแก่ต้นหรือต้นไม้ในยามอรุณรุ่ง Dew แปลว่า “ความสดชื่น” หมายถึง ดิวเป็นน้ำค้างที่มาให้ความชุ่มชื่นให้กับต้นไม้ (ต้น) ให้มีความสดชื่นขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้นเป็นคนเงียบๆ เหงาๆ อยู่ในชนบท ดิวเป็นผู้มาชุบชีวิตให้ต้นพบกับความชุ่มชื่นคือพบกับความรักนั่นเอง
อีกนัยหนึ่งชื่อ Dew แปลว่า “น้ำตา” ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความรู้สึกเศร้าโศกและเสียใจของมนุษย์ ชื่อ “ดิว” ที่เป็นตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นสัญญะที่สื่อความหมายถึงทั้ง “ความสุขความสดชื่น” และ “ความโศกเศร้า” ซึ่งเธอจะได้พานพบกับสองอารมณ์อย่างเต็มเปี่ยม ต้นกับดิว เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กัน สองคนที่แตกต่างกันมาอยู่ด้วยกันด้วยเหตุผลเดียวคือ “ความรัก”
“ต้นไม้” ต้นบ๊วยต้นใหญ่ที่ไร้ใบอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวบนเนินเขา เป็นสัญญะแห่งความอ้างว้างเดียวดายเหมือนชีวิตของต้นที่รอคอยสิ่งที่จะมาสร้างความชุ่มชื่นแก่ชีวิต นั่นคือ “น้ำ” น้ำคือสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตชุ่มชื่นให้แก่ต้นไม้ “ดิว” คือ “น้ำ” ที่จะมาสร้างความชุ่มชื่นแก่ชีวิตให้ต้น ต้นจะต้องตายด้วยโรคร้าย เหมือนจะเป็นสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด ต้นได้ตอนต้นไม้ไว้กิ่งหนึ่งแล้วเพาะชำในกระถาง “การตอนต้นไม้” จึงเป็นสัญญะหมายถึง ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการขยายเผ่าพันธุ์ ต้นไม้คือต้น ต้นคือต้นไม้
“น้ำ” ในหนังเรื่องนี้ถูกนำมาใช้เป็นสัญญะเพื่อสื่อความหมายสามรูปแบบ หนึ่งคือ “น้ำฝน” ฉากที่ฝนตกเป็นฉากที่ทำให้ทั้งสองรักกันอยู่ด้วยกันและแยกจากกัน สองคือ “น้ำจากฝักบัวรดน้ำ” ที่ดิวรดต้นไม้ตอนในกระถางเปรียบเสมือนน้ำที่ให้ชีวิตแก่ต้นไม้ (หมายถึงต้น) และสามคือ “น้ำตา” น้ำตาของดิวที่สื่อถึงความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ในหนังเรื่องนี้เธอร้องไห้เสียน้ำตา 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเพื่อนสนิทตาย ครั้งที่สองเมื่อรู้ว่าสามีป่วยหนัก ครั้งที่สามเมื่อได้เห็นภาพสามีในวิดีโอเทป
ความตายครั้งที่สาม คือ ความตายด้วยน้ำมือของพระเจ้า ต้นพบว่าตนเองเป็นโรคร้ายรักษาไม่หาย วันเวลาที่ทั้งสองจะอยู่ด้วยกันน้อยลงไปทุกขณะ ในที่สุดความตายก็ได้มาพรากต้นไปจากดิว ดิวเหลือเพียงความอ้างว้างโดดเดี่ยว ดิวจับลูกตุ้มนาฬิกาให้หยุดเดิน ชีวิตของเธอเหมือนจะหยุดลงตรงนี้ แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น เมื่อเธอได้รับจดหมายที่เขียนด้วยลายมือคนรักของเธอที่ตายจากไปแล้ว ทุกตัวอักษรล้วนมีความหมายและมีค่าต่อดิวยิ่งนัก เธอเพิ่งรู้ซึ้งถึงคุณค่าของตัวอักษรที่ประกอบกันเป็นจดหมาย ในวันที่เธอไม่มีโอกาสเห็นหน้าผู้เขียนอีกแล้ว..ความตายของ ”ต้น” จึงเป็นการเริ่มต้น เป็นการเริ่มต้นใหม่ของดิวนั่นเอง
จดหมายรักของต้นคือพลังอันวิเศษที่ผลักดันให้ดิวมีชีวิตอยู่ต่อไป ดิวเริ่มเก็บผ้าที่ตากไว้ ดิวไกวลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อนาฬิกาเริ่มเดิน ชีวิตเธอก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ความตายของต้นที่ตอนแรกเหมือนจะเป็นจุดจบของทุกสิ่ง กลับเป็นการเริ่มต้นใหม่ในชีวิต ดิวรอคอยที่จะได้รับจดหมายรักจากต้นฉบับต่อไปอย่างมีความหวัง..จดหมายรักฉบับสุดท้ายที่เธอได้รับกลับไม่ใช่ตัวอักษร แต่เป็นภาพและเสียงของคนรักในจอโทรทัศน์ ยิ่งสร้างความปวดร้าวใจแสนสาหัส ภาพของต้นเจ็บปวดรวดร้าวใจที่จะต้องลาจากคนที่รักที่สุดในชีวิต และคำพูดของดิวที่เอ่ยปากบอก “รัก” ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตทาง “โทรศัพท์” ยิ่งทำให้ดิวสุดแสนทรมานใจ ดิวร้องไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ น้ำตาไหลเกือบเป็นสายเลือด โชคชะตาช่างแสนโหดร้าย คู่รักที่เพิ่งมีความสุขกับความรักได้ไม่ทันไรก็ต้องจากกันชั่วชีวิต ดิวโผกอด ภาพของต้นในจอโทรทัศน์ ร่ำไห้ด้วยหัวใจที่แตกสลาย น้ำตาของดิวไหลนองหน้าไปพร้อมกับน้ำตาของผู้ชม..ต่อแต่นี้จะไม่มีอีกแล้ว..จดหมายรัก
ต้นบอกลาดิวครั้งสุดท้ายและขอให้ดิวมีชีวิตอยู่ต่อไปทั้งสัญญาว่าจะไม่ทิ้งดิวไปไหน ต้นทำตามสัญญาที่พูดไว้ ด้วยการกำเนิดชีวิตใหม่เป็นบุตรชายที่เกิดจากต้นและดิวชื่อ ”ตั้ม” ตั้มเป็นสัญญะมาจากคำว่า “โมเมนตั้ม” ซึ่งหมายถึงการแกว่งไกวของลูกตุ้มนาฬิกา “ตั้ม” คือสิ่งที่เป็นแรงเหวี่ยงให้ชีวิตของดิวกลับคืนมาเริ่มต้นใหม่อีกคำรบหนึ่ง เมื่อมีตั้มดิวจึงคลายความโศกเศร้าและเข้าใจความจริงของชีวิต บ๊วยแม้มีรสเค็มแต่ยามที่เรากระหายน้ำบ๊วยกลับให้ความชุ่มชื่นได้อย่างประหลาด ต้นบ๊วยเป็นสัญญะอีกอย่างหนึ่ง “บ๊วย” แปลว่าสุดท้าย ต้นบ๊วยคือตัวแทนของความรักของคนทั้งสอง ที่ให้ความชุ่มชื่นแก่กันและกัน เธอโอบกอดต้นไม้คล้ายดั่งโอบกอดคนรัก ดิวบรรจงเสียบดอกไม้ช่อน้อยที่สวยงามแนบกับต้นไม้ สร้างสีสันมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ความรักทำให้ชีวิตสว่างไสว ต้นไม้ก็คือ “ต้น” ต้นยังอยู่กับดิวตลอดไปชั่วนิรันดร..
ความตายครั้งที่สี่..!! ถ้าดูเฉพาะในภาพยนตร์เราจะพบความตายเพียงแค่สามครั้ง แล้วความตายครั้งที่สี่คืออะไร “ความตาย” ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องจดหมายรักทั้งหมด ล้วนเป็นสัญญะ เพื่อสื่อความหมายถึง “ความรัก” และ “การเริ่มต้น” สำหรับความตายครั้งที่สี่ คือ ความตายของคุณดวงกมล ลิ่มเจริญ บุคคลที่เริ่มต้นความคิดสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Letter เพียงแต่เธอประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับต้นที่ปรารถนาจะมอบความรักแก่ผู้อื่น แต่เธอกลับต้องจากลาไปเสียก่อน ความตายของคุณดวงกมลเป็นสัญญะแห่งการเริ่มต้น เป็นการเริ่มต้นให้คุณผอูน จันทร์ศิริ สานต่อเพื่อบอกเล่าให้มนุษย์บนโลกนี้ตระหนักถึงคุณค่าของความรัก
ความตายของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย ความตายของสืบ นาคะเสถียร กระตุ้นให้คนรักป่ารัก รักสัตว์ รักสิ่งแวดล้อมและเห็นคุณค่าของการเสียสละ ความตายของเชอร์รี่แอน ดันแคน นำไปสู่การปรับปรุงงานของตำรวจ ความตายของผู้คนกว่าสามพันชีวิตในตึกเวิร์ลเทรด สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ผลร้ายจากความชิงชังที่นำไปสู่การทบทวนบทบาทของอเมริกันต่อสังคมโลก ความตายของมหาตมะคานธีที่มีพลังอย่างยิง่ใหญ่ในการปลุกจิตสำนึกผู้คนให้ร่วมกันสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์
ความตายคือการเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ หากมวลมนุษย์มี “ความรัก” ต่อกันมากกว่า “ความชัง”
หากมีความรัก..ก็จงมอบความรักให้แก่กันเสียตั้งแต่วันนี้..วันที่เรายังมีลมหายใจ
............................
ผู้เขียนบทความ:
รศ.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2547 (ค.ศ. 2004)
เผยแพร่ซ้ำทางสื่อออนไลน์ วันที่ 5 กันยายน 2557 (ค.ศ. 2014)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น