ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วิจารณ์ภาพยนตร์เชิงสัญญะ เรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า

วิจารณ์ภาพยนตร์เชิงสัญญะ เรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า

นำแสดงโดย เจนนิษฐ์  โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์ BNK48)  และ แพรวา  สุธรรมพงษ์ (มิวสิค BNK48)

ได้รับรางวัล
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม : ชมรมวิจารณ์บันเทิง, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์, คมชัดลึก อวอร์ด, สตาร์พิคส์ ฟิล์ม อวอร์ด
2. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม : ชมรมวิจารณ์บันเทิง, คมชัดลึก อวอร์ด, สตาร์พิคส์ ฟิล์ม อวอร์ด  
3. ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม : ชมรมวิจารณ์บันเทิง, 
4. ลำดับภาพยอดเยี่ยม : ชมรมวิจารณ์บันเทิง, 
5. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เจนนิษฐ์  โอ่ประเสริฐ : เจนนิษฐ์) Rising Star in Marie Claire Asia Star Awards เทศกาลหนังปูซานอินเทอร์เนชันแนลเฟสติวัล 2019, ชมรมวิจารณ์บันเทิง 
6. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (แพรวา  สุธรรมพงษ์ : มิวสิค) ชมรมวิจารณ์บันเทิง สตาร์พิคส์ ฟิล์ม อวอร์ด

เกริ่นนำ

สิ่งที่ภาพยนตร์อยากจะพูดกับผู้ชมภาพยนตร์ เป็นงานของผู้เขียนบทภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์
แต่สิ่งที่บทวิจารณ์ภาพยนตร์นี้จะเขียน เป็นเรื่อง (1) ประเด็น (2) การสื่อความหมาย และ (3) อารมณ์ความรู้สึก" ที่ได้รับจากภาพยนตร์ซึ่งอาจมีส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างกับเจตนาของผู้กำกับภาพยนตร์อยู่บ้าง

ซู (เจนนิษฐ์  โอ่ประเสริฐ) ลูกสาวเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่ ที่ตลาดท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จันทบุรี ผู้เบื่อหน่ายกับความจำเจของชีวิตประจำวันที่หมุนเวียนอยู่กับการขายก๋วยเตี๋ยว ไปเรียนหนังสือ ขายก๋วยเตี๋ยว ความเย็นชาของพ่อตนเอง และบรรยากาศเดิม ๆ ชีวิตของ "ซู" มี "เบล" เพื่อนสนิท เป็นตัวช่วยผ่อนคลายความรู้สึกจำเจ และช่วยเติมเต็มชีวิตส่วนที่ขาดหายไป ในความคิดของของซูจึงมีเรื่องหลักที่วนเวียนอยู่ในหัวสมองคือ "การไปให้พ้นจากสภาพอันจำเจที่น่าเบื่อหน่าย"

เบล (แพรวา  สุธรรมพงษ์) หลานของยายผู้เฝ้าปรนนิบัติยายด้วยความรักความห่วงใย

ซุกับเบลเป็นเพื่อนนักเรียนมัธยมปลายที่สนิทกันมาก เคียงข้างกันมาตลอด ทั้งสองคนใช้ชีวิตประจำวันอยู่ด้วยกันจนแทบจะเป็นคนในบ้านเดียวกัน มีเฉพาะเวลานอนที่กลับไปนอนที่บ้านตนเอง

เบลมักมาหาซูที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นประจำ เพื่อสนทนาเรื่องราวในชีวิต รับรู้ถ่ายทอดความสุขและความทุกข์กันเสมอ

ความสัมพันธ์ระหว่าง ซูกับเบตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็น "เพื่อน" ที่มากกว่าเพื่อนทั่วไป แต่เป็น "เพื่อนสนิท" สนิทมากจนรับรู้จิตใจของกันและกัน

ในขณะที่ซูพยายาม "ไปให้พ้น" จาก "ที่ตรงนี้" ที่มีความเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจจากชีวิตประจำวันคือ เรียน - ขายก๋วยเตี๋ยว - พ่อที่เย็นชา - บรรยากาศแวดล้อมเดิม ๆ แต่เบลกับยังอยาก "อยู่ตรงนี้" มีความสุขเล็ก ความพอใจเล็ก ๆ ในที่ตรงนี้ ขณะเดียวกันทั้งซูและเบลยังมีพื้นที่ "ที่ตรงนั้น" ที่เป็นพื้นที่ร่วมทางความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนรักสองคน

ซูคิดเพียงมิติเดียวคือ การไปให้พ้นจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่น่าเบื่อหน่ายที่มี "อยู่ตรงนี้" แต่ไม่ได้คิดถึงว่า ที่ตรงนี้ นอกจากความน่าเบื่อหน่ายแล้วยังมีสิ่งที่มีค่าอีกสิ่งหนึ่งคือ "ความรัก" (LOVE) และ "ความสัมพันธ์" (RELATIONSHIP) จาก "เพื่อนรัก" (LOVELY FRIEND) เพื่อนที่แสนดี เพื่อนที่เคียงข้าง เพื่อที่ร่วมสุขร่วมทุกข์กันมานานหลายสิบปีที่เบลมีให้ซูมาตลอด

ความสัมพันธ์

สิ่งที่เป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างซูกับเบล คือ รถมอเตอร์ไซค์ ภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong ใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นสัญญะ (SIGN) เพื่อสื่อความหมายถึงประการที่ (1) ความสัมพันธ์ (relationship) ระหว่างเด็กผู้หญิง 2 คน ที่นั่งของรถมอเตอร์ไซค์มีเพียง 2 ที่ เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งกว่ายานพาหนะชนิดใด ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องนั่งตัวชิดกัน ยิ่งใกล้ชิดกันมากเท่าไหร่ยิ่งปลอดภัย เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ของเด็กหญิงทั้งสองคนยิ่งใกล้ชิดยิ่งรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย รถมอเตอร์ไซค์ยังเป็นสัญญะสื่อความหมายประการที่ (2) การเดินทาง (travel) ชีวิตมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นการเดินทาง เป็นการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งเสมอ นับตั้งแต่การเดิน การเติบโต การเรียนรู้ชีวิต การเผชิญปัญหาอุปสรรค ความสุขความทุกข์ ความเจ็บ และความตาย

เพียงแต่การเดินของมนุษย์แต่ละคนล้วนแตกต่างกัน ในขณะที่ซูพยายามเดินทางออกไปจากเส้นทางเดิมในชีวิต เพื่อไปค้นหาเส้นทางใหม่ในชีวิต แต่เบลยังคงเลือกเดินทางในเส้นทางชีวิตแบบเดิมของตนเอง

ความต้องการของซูที่ต้องการไปให้พ้นเสียจากความซ้ำซากจำเจน่าเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวัน ที่สะสมอยู่ในจิตใจ เป็นแรงขับเคลื่อนของตัวละคร (drive) ผลักตัวละครทำให้เกิดการกระทำทางละคร (dramatic action) ซูจึงพยายามหาวิธีการเพื่อบรรลุจุดหมายของตัวเอง เช่น การไปสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งซูมีความคิดว่าประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก โดยซูอาจเข้าใจไปเองว่าเมื่อมีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก คนที่นั่นน่าจะมีชีวิตที่ดีเหมือนกับระบบการศึกษา

แต่ซูกลับไม่รู้เรื่องราวอะไรเลยเกี่ยวกับประเทศฟินแลนด์ ฝรั่งผู้สอบสัมภาษณ์ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเทศฟินแลนด์หลายคำถาม แต่ซูตอบไม่ได้เลยสักคำถาม เพราะในใจของซูมีความปรารถนา (aspiration) เพียงอย่างเดียวคือ ไปที่ไหนสักที่หนึ่งที่ตนเองคิดว่าดี เพื่อให้พ้นจากสภาพชีวิตอันจำเจน่าเบื่อหน่ายเดิม ๆ ของตนเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยที่ซูเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจะไปทำอะไรที่ฟินแลนด์

กระเป๋าเดินทางล้อเลื่อน

การกระทำทางละครเพื่อตอบสนองความปรารถนาไปให้พ้นจากชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายที่ตนเองไม่ชอบของซู หลักจากสอบสัมภาษณ์ได้คัดเลือกให้ไปฟินแลนด์แล้ว ขั้นต่อมาคือ การจัดกระเป๋าเดินทาง ซูกับเบลไปซื้อกระเป๋าเดินทางล้อลากสีเขียวใบใหญ่ โดยเลือกเอาใบหนึ่งที่ดูรูปร่างลักษณะน่าจะแข็งแรง ซูคิดว่านี่คือสิ่งที่แข็งแรงทนทาน

สีเขียว คือ การเริ่มต้นใหม่ การริเริ่มใหม่ การแสวงหาความหมายใหม่  ส่วนกระเป๋นที่มี "ล้อ" หมายถึง การเดินทางที่รวดเร็ว เร็วกว่าการเดินทางโดยไม่มีล้อ กระเป๋าที่มีล้อลากไปไหนมาไหนได้ คือความคล่องตัวและรวดเร็ว เปรียบเสมือนการเดินทางของซู แต่สิ่งที่ซุคิดว่าจะมีความคงทนและทนทานกลับพังลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่เบลขี่รถมอเตอร์ไซค์ซูซ้อนท้ายลากกระเป๋ากลับมาบ้าน ล้อของกระเป๋าที่คิดว่าจะทนทาน และคิดว่าจะพาชีวิตของตนเองไปได้อย่างรวดเร็วกลับแตกหักเสียหาย นั่นแสดงว่าการเดินทางไกลของซูอาจไม่สมหวังดังที่ตนเองปรารถนา จะต้องพบอุปสรรคขวางกั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่คิดว่าจะไปได้อาจไปไม่ได้ สิ่งที่คดว่าจะเร็วอาจจะไม่เร็ว

เบลช่วยซ่อมล้อลากของกระเป๋าให้ แสดงให้เห็นถึงความช่วยเหลือที่เพื่อนคนนี้มีให้ตลอด และยังหมายถึงว่า เบลเป็นผู้เข้ามาซ่อมแซมชีวิตให้ซู เขามาเติมเต็มชีวิตให้ซูในสิ่งที่ซูทำไม่ได้ หรือซูขาดหายไป


"กลิ่นเส้นก๋วยเตี๋ยว" ที่ซูรู้สึกเบื่อ ไม่ชอบ เป็นสัญญะเพื่อสื่อความหมายถึง ความรู้สึกในจิตใจของซู (mind) ที่ต้องทนอยู่กับสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ สิ่งที่ตนเองไม่พึงพอใจ สิ่งที่ตนเองอยากไปให้พ้น จนบางครั้งความคิดและความรู้สึก (MIND) ไม่ชอบของซู มาบดบังอีกซีกส่วนของความสุขใจจิตใจ (HEART) คือ ความรักระหว่างเพื่อน (love) และมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่แสนดี (friendship)

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความฝัน แต่ใครเล่าจะได้บรรลุถึงความฝันที่ตนเองปรารถนา หากแม้ไม่บรรลุถึงความฝัน มนุษย์เราจะใช้สิ่งใดมาช่วยเยียวยา ชดเชยความฝัน และเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไป

คุณยายของเบล ก็มีความฝัน ฝันถึงผู้ชายที่ตนเองรัก แม้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่งก็เป็นความสุขดังที่ฝัน การโอบกอด การจับนมคุณยาย ไม่ใช่แค่เรื่องแสดงออกทางเพศและความรู้สึกทางกามารมณ์อันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ หากแต่เป็นความฝัน จินตนาการ ถึงความรักที่ตนเองปรารถนา

เบลบอกว่าคุณยายในสมัยสาว ๆ ถูกผู้ชายหลอกจับนม การจับนมคุณยายสมัยที่ยังสาวทุกครั้ง จะเป็นการจับนมข้างขวา ที่ไม่ได้หมายถึง นมข้างซ้ายที่อยู่ตรงกับหัวใจ อันเป็นสัญญะสื่อความหมายถึง ความใคร่ของผู้ชาย ที่ปราศจากหัวใจ หรือปราศจากความรักนั่นเอง

ความพยายามไปให้พ้นเสียจากความน่าเบื่อหน่ายจำเจในชีวิตของซู มีเบลเป็นผู้ช่วยเสมอ นับตั้งแต่การซื้อกระเป๋า การช่วยจัดกระเป๋า เบลไม่เคยอ้อนวอนให้ซูไม่ไปฟินแลนด์ เพราะนั่นคือความสุขของเบล แต่ไม่ใช่ความสุขของซูตามที่ซูติดฝันไว้

พ่อผู้ไม่ต้องการให้เบลไปจากบ้าน อาศัย "ความรักของแม่" เป็นเครื่องมือพันธนาการซูไว้ไม่ให้ไปจากบ้าน ผ่านการใช้ร่างทรงเป็นเครื่องมือเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วกับซู เพื่อให้แม่บอกกับซูว่าอย่าไปจากที่นี่ แม่ที่ปรากฏกในร่างทรงมีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึกของซูอย่างมาก ซูสับสนระหว่างการเดินทางตามความฝันของตนเอง หรือจะอยู่บ้านเพื่อบูชาความรักของแม่

ความฝัน - ความจริง - ความหลอกลวง

ความฝัน
ความฝันของซู คือ ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าปัจจุบัน ซึ่งซูไม่รู้ว่าจะดีจริงหรือไม่

ความจริง
ความจริงในขีวิตของซู คือ สภาพลูกสาวเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ตนเองรู้สึกเบื่อหน่าย กับ ความรักและความสัมพันธ์กับเพื่อนที่แสนดีคนหนึ่ง

ความหลอกลวง
ความหลอกลวงในชีวิตของซู คือ ร่างทรง และการกล่าวอ้างถึงแม่ในจินตนาการผ่านร่างทรง ที่ร่วมมือกันจัดฉากโดยพ่อกับร่างทรง

ความหลอกลวงในชีวิตของยายของเบล ที่ใฝ่ฝันถึงความรักกับผู้ชายที่ตนเองหลงรัก

การอยู่ที่เดิม - การไปให้พ้นจากที่เดิม


การอยู่ที่เดิม (STILL)
การอยู่ที่เดิม คือ ชีวิตของซู ชีวิตของเบล ชีวิตของพ่อผู้เย็นชา 

การไปให้พ้นจากที่เดิม/การเปลี่ยนแปลง (CHANGE)
การเปลี่ยนแปลงเกิดขุึ้นจากความพยายามของซูที่จะไปให้พ้นจากสถานที่อันน่าเบื่อหน่ายไปสู่ที่แห่งใหม่ในความฝัน (ESCAPE) 

การถ่ายทำภาพยนตร์บางฉาก ผู้กำกับเลือกใช้การตั้งกล้องอยู่กับที่ (STILL) เพื่อมองเห็นภาพเบื้องหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป (CHANGE)

หลายสิ่งหลายอย่างยังคงอยู่ที่เดิม (still) เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวที่น่าเบื่อหน่ายในความคิดของซู เพื่อนที่ดีอย่างเบล ความรู้สึกที่ดี ความรักของเบลที่มีต่อเพื่อน

หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป (change) เช่น ซูที่กำลังจะเดินทาง ชีวิตนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดระหว่างซูกับเบลกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นห่างไกล

ความเก่า-ความใหม่-ความผสมผสาน-ความขัดแย้ง

ความเก่า

เมืองเล็กเมืองหนึ่ง ที่มีเรื่องราวเก่า ๆ ในสภาพแวดล้อมเก่า ๆ เหมือนในอดีต ภาพที่ดูเนือย ๆ ภาพที่ดูทึม ๆ ภาพที่ดูช้า ๆ บอกเราถึงความเก่า เรื่องราวในอดีตที่เคยเป็นมาจนถึงในปัจจุบัน แม่ว่าจะไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปี พ.ศ. 2563 ที่ชีวิตผู้คนไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ได้เก่าแบบนั้น ไม่ได้เชื่องช้าแบบนั้น แต่ภาพยนตร์ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวความเก่า

ไม่ว่าจะผ่านมา 40-50 ปี ความเก่ายังคงเป็นความคลาสสิคสืบเนื่องมาจนถึงปัจจับนมิแปรเปลี่ยน คือ เรื่องราวของ "ความรัก ความสัมพันธ์ เพื่อน เพื่อนรัก" รูปแบบการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนที่รักกัน" ยังคงเหมือนเดิมมิแปรเปลี่ยน นั่นคือ (1) ความใกล้ชิดทางกายภาพระหว่างบุคคล (2) การสัมผัสร่างกายบุคคลที่ตนรัก (3) การใช้ชีวิตร่วมกัน (4) การเคียงข้างกันช่วยเหลือกันทั้งยามสุขและยามทุกข์ (5) ความคิดถึง (6) ความห่วงใย (7) ความเข้าใจ รวมถึงความพยายามที่จะเข้าใจ  (8) ความระหองระแหง ความขัดเคืองใจ การทะเลาะเรื่องเล็กเรื่องน้อย

ความใหม่
ความใหม่ในภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้นมีฉันอยู่หรือเปล่า (1) สถานที่แห่งใหม่ในความฝันของซู ซึ่งจินตนาการไว้ว่าจะดีกว่าที่เก่าคือร้านก๋วยเตี๋ยว (2) ชีวิตใหม่ในความฝันของซู ที่คาดหมายว่าจะดีกว่าที่เก่า ความใหม่ประการที่


ความผสมผสาน
ท่าใหม่ แม้ชื่อจะมีคำว่า "ใหม่" แต่ท่าใหม่กลับเป็นตัวแทนของความเก่าแบบผสมผสาน ท่าใหม่ยังคงมีความเก่าแบบคลาสสิคคือ ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง 

แต่ท่าใหม่ไม่ได้เก่าไปเสียทั้งหมด ท่าใหม่ยังคงมีความใหม่ผสมผสานอยู่ นั่นคือ ความฝันใหม่ ๆ ของซู ที่แอบซ่อนอยู่ในใจ ความใหม่ในใจของซูคือ ที่ใดก็ได้ที่ไปให้พ้นจากความเก่าที่ตนเองไม่พึงพอใจ 

ความขัดแย้งระหว่างเก่ากับใหม่

ความเก่าที่เป็นความขัดแย้งกับความหใม่เห็นได้ชัดเจนในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ

พ่อ - สื่อ - ความเก่า
"พ่อ" คือ ตัวแทนของคนยุคเก่า หัวเก่า หัวโบราณ ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมปัจจุบัน พ่อที่เฉื่อยชา วัน ๆ ไม่ทำอะไร ได้แต่อ่านหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์ คือ สื่อเก่า (Old Media) เป็นสื่อแบบแอนาล็อก เป็นตัวแทนของโลกยุคเก่า

ลูก - สื่อใหม่ - ความใหม่
ในขณะที่คนรุ่นใหม่อย่างซูและเบลใช้โทรศัทพ์มือถือแบบสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นสื่อดิจิทัล มีความเป็นสื่อใหม่ (New Media) อันเป็นตัวแทนของโลกยุคใหม่ และเป็นตัวแทนของความคิดของคนรุ่นใหม่

การสื่อสารผ่านสมาร์ตโฟน เป็นการสื่อสารสองทาง เป็นการสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์ เป็นการสื่อสารแบบดิจิทัล เป็นการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว ทันสมัย ตรงกันข้ามกับการสื่อสารระหว่างพ่อกับเบล ที่พ่อนิืยมใช้การสื่อสารทางเดียวคือ การออกคำสั่งในฐานะของคนที่มีอำนาจเหนือกว่าโดยอาศัยสถานภาพความเป็นพ่อเป็นลูก จึงมีบทสรุปให้เรียบร้อยโดยไม่ต้องคิด และไม่เปิดโอกาสให้คิด ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารระหว่างซูกับเบลที่เป็นการสื่อสารสองทาง แลกเปลี่ยน และร่วมมือ ในฐานะที่เท่าเทียมกัน

เมื่อพ่อต้องการสิ่งใด หรือมีสิ่งใดที่มาขัดขวางความต้องการ พ่อจะใช้ด้วยวิธีการแบบเก่่วิธีการแบบโบราณ คือการใช้อำนาจ (power) ด้วยวิธีการปราบปราม (suspression) วิธีการกำจัด (eliminate) วิธีการครอบงำทางความคิด (hegemony) ด้วยการใช้ความเชื่อที่พิสูจน์ความเป็นจริงไม่ได้ นั่นคือ หมอผีในร่างทรง

ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ที่บังเกิดขึ้นที่ "ท่าใหม่" นับเป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่ง

การเดินทาง

สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)

เบล และเพื่อน ๆ ตั้งวงดนตรีชื่อวง สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) (ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน คือ มิวสิค ตาหวาน ฝ้าย น้ำหนึ่ง แพนด้า BNK48) วงดนที่คือ "ที่ตรงนั้น" ของเด็ก ๆ มัธยม ที่รวมของความสัมพันธ์ ที่แสดงออกถึงความสามารถ เป็นพื้นที่แห่ง "เสรีภาพ" ในการแสดงออกของเด็ก ๆ คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ยังหมายถึงชั้นบรรยากาศของโลกชั้นที่สอง ระยะความสูง 10-50 กิโลเมตร ซึ่ง "เครื่องบิน" จะบินอยู่ในชั้นบรรยากาศนี้ เครื่องบินเป็นสัญญะสื่อความหมายถึง การเดินทาง และเสรีภาพการในเดินทางของมนุษย์ การบินคือเสรีภาพของมนุษย์ ที่อยู่เหนืออุปสรรคขัดขวางใด ๆ สามารถจะบินไปที่ใดก็ได้ เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดที่มีเสรภาพ หากเขามีโอกาสคิด โดยไม่ถูกครอบงำไว้ด้วยความคิดของคนรุ่นเก่า

เบลและเพื่อน ๆ จึงเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่ใฝ่หาเสรีภาพ ตามความฝันของตนเอง

ในขณะที่ซูถูกพันธนาการไว้ด้วย "หน้าที่" หน้าที่ในการขายก๋วยเตี๋ยวที่น่าเบื่อหน่าย หน้าที่ในการเป็นลูกที่ดีของแม่ ทำให้แม่สบายใจ ถึงแม้ว่าแม่จะไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แต่ซูก็ยังคงถูกพันธนาการไว้ด้วยคำว่า "หน้าที่" ความเป็นลูกที่ดี และหน้าที่อันจอมปลอมที่ตามมาหลอกหลอนซูอยู่ทุกวัน ถูกสร้างขึ้นมาอย่างปลอม ๆ โดยฝีมือของพ่อตนเอง ซูจึงต้องการไปให้พ้นเสียจาก "กรอบจำกัด" หรือ "กรงขัง" หรือ "โซ่ตรวน" ที่พันธนาการ ตนเองมาตลอดชีวิต

ซูต้องการไปให้พ้นจากที่ตรงนี้ที่น่าเบื่อของตนเอง แต่นั่นหมายความว่า ซูต้องไปจาก "ที่ตรงนั้น" ที่ที่มีเบล เพื่อนที่แสนดียังคงรอคอยอยู่ โดยไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเจอกันอีกเมื่อไหร่

เราได้เรียนรู้สัญญะอีกมากมายในภาพยนตร์เรื่องนี้

ท่าใหม่
ท่าใหม่ เป็นชื่ออำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี มีประชากร 124,147 คน อำเภอท่าใหม่ถูกที่ใช้เป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ตลอดทั้งเรื่อง ที่บอกกับผู้ชมว่า "ท่าใหม่" ที่หมายถึง ท่าเทียบเรือ ท่าเทียบรถ และหมายรวมถึง "ท่าเทียบชีวิต" ของมนุษย์อันเป็นจุดหมายปลายทางที่มนุษย์ใฝ่ฝันต้องการไปถึง (destination) ของมนุษย์แต่ละคนล้วนแตกต่างกันตามความคิดความฝันของตนเอง

ท่าใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ใหม่ หรือที่อื่น เสมอไป บางที "ท่าใหม่" อาจจะเป็นที่ใดสักแห่งที่ห่างไกล อย่างเช่นประเทศฟินแลนด์ แต่บางทีท่าใหม่อาจจะเป็นอำเภอ "ท่าใหม่" ที่จังหวัดจันทบุรี คือ ที่เดิมของคนจันทบุรี ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วย "ความรัก ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ และความสุข" ที่มากล้น โดยไม่ต้องเดินทางไปแสวงหาจากสถานที่ใด ๆ ถ้าหากมนุษย์เข้าใจชีวิต เข้าใจตนเอง เข้าใจความรู้สึก และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตนเอง

รถมอเตอร์ไซค์
รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์และการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายใหม่ในชีวิตของซู เพื่อที่จะเดินทางไปยัง "ที่ใหม่" หรือ "ท่าใหม่" ของชีวิตมนุษย์

เส้นก๋วยเตี๋ยว
เส้นก๋วยเตียว หมายถึง เส้นสาย (1) เส้นสายสืบสานวิถีชีวิตของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน (2) เส้นสายที่สืบสานความความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว (3) เส้นสายที่สืบสานความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่รักันและดีต่อกัน

ซู
ซู ชื่อของตัวละครเอก มีความหมายถึง ความสวยงาม อันหมายความไปถึงความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกที่สวยงาม ซึ่งเป็นโลกใหม่ในความฝันที่ซูปรารถนาจะไปที่นั่น

เบล
เบล ชื่อตัวละครสำคัญ เพื่อนรักของเบล เบล มีความหมายถึง ระฆัง หมายถึงความสดใจ หมายถึงสิ่งที่จะมาทำให้ชีวิตมนุษย์ได้พบกับสิ่งที่สวยงาม ความฝัน และความสุข เบลคือสิ่งที่มาเติมเต็มชีวิตของซูในส่วนที่ซูขาดหายไป

กานต์
กานต์ ชื่อของผู้ชายที่ยายของเบลหลงรัก กานต์แปลว่า บุคคลอันเป็นที่รัก กานต์คือบุคคลอันเป็นรักของยายเสมอ แม้ในความฝัน

วันหนึ่ง เมื่อซูพบว่า แม่ที่ปรากฏในร่างทรง ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการความหลอกลวงด้วยความร่วมมือระหว่างพ่อกับหมอผีร่างทรง เพื่อที่จะพันธนาการตนเองไว้ไม่ให้เดินทางไปตามความฝันของตนเอง ซูจึงเสียใจอย่างมาก ซูถอดเอารูปแม่ของตนเองออกจากกรอบรูป ทิ้งไว้เพียงกรอบรูปเปล่า ในห้องที่ว่างเปล่าไร้ชีวิตมนุษย์

ซู หันหลังเดินไปตามถนนที่ทอดยาวไกลออกไป โดยไม่เห็นจุดหมายปลายทาง ซูออกเดินทางหายตัวไปจากบ้านของตนเองที่อำเภอท่าใหม่ โดยไม่มีใครรู้ว่าซูไปไหน

ซู เป็นฝ่ายที่เดินทางจากไปจาก "ที่ตรงนี้" และไปจาก "ที่ตรงนั้น" ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ร่วมกันของเพื่อนรักสองคน พื้นที่แห่งความรัก ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ และความสุข ระหว่างซูกับเบล

เบล ยังอยู่ที่ตรงนี้และที่ตรงนั้น ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับซู เบลไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง ไม่คิดจะไปจากที่นี่ ไม่คิดจะไปจากที่ตรงนั้น อันเป็นพื้นที่ชีวิตร่วมระหว่างเบลกับซูเพื่อนรักที่ได้จากไปแล้ว

เบล ยังคงขี่รถมอเตอร์ไซค์คันเก่าอยู่ที่ "ท่าใหม่" ด้วยหัวใจเบิกบาน ร่าเริง แจ่มใส เพียงแค่เบาะท้ายของรถมอเตอร์ไซค์ยามนี้กลับว่างเปล่า ไร้เงาร่างของเพื่อนรักอย่างซูมาเคียงข้างเหมือนเดิม

เบล ยังคงดูแลคนที่ตนเองรักเหมือนเดิม เบลยังคงดูแลยายเหมือนเดิม ด้วยการซื้อผ้าอ้อมไปให้ยายใช้

ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ ภาพสโลว์เบลขี่รถมอเตอร์ไซค์ ท้ายรถมีผ้าอ้อมไปให้ยายใช้ พร้อมกับเสียงเพลงที่ดังขึ้น ด้วยดนตรีไพเราะหวานเศร้า (ขับร้องโดยมิวสิค แพรวา สุธรรมพงษ์)

"...ฉันยังอยู่ ฉันยังอยู่ ตรงนี้ เหมือนวันเก่า วันที่เราคุ้นเคย แม้เธอเปลี่ยน แม้เธอจากไป เพราะทนอยู่ ก็มีแต่ปวดร้าวใจ หวังว่าจะพบเจอ ที่ที่เป็นของเธอ รู้ว่าคงจะต้องปล่อย ปล่อยมือเธอให้ไป..."

แล้ววันหนึ่ง หากเราพบกัน แม้เดินผ่าน หากเราจำไม่ได้ ไม่มีใครจะรู้หรอก พรุ่งนี้จะเป็นอย่างเดิมหรือเปล่า ชีวิตยังคงเป็นของเรา หรือต้องปล่อยมันไว้ Got you let you go now, Got you let you go away now, Got you let you go now, Got you let you go away now,     

ฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ "Where We Belong" ที่ลิ้งก์นี้ >>


...............
เขียนโดย
ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
เผยแพร่ครั้งแรก
วันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 8.15 น.
...............
#เจนนิษฐ์
#มิวสิค
#เจนนิษฐ์  โอ่ประเสริฐ
#แพรวา  สุธรรมพงษ์
#Where We Belong
#ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า
#ภาพยนตร์
#ณัฐฐ์วัฒน์
#สุทธิโยธิน








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค