การต่อสู้ด้วยการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ของ บก.ลายจุด
บก.ลายจุด จัดว่าเป็นนักออกแบบสัญลักษณ์คนหนึ่ง
เมื่อคราวประท้วงศาลรัฐธรรมนูญ บก.ลายจุด เคยใช้ ภาพตัวอักษรคำว่า "เอียง" บนกระดาษสีขาว เพื่อสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสังคมเข้าใจความหมายตรงกัน และใช้ในการสื่อสารเพื่อระดมพลังของบุคคลที่มีความเห็นในแนวเดียวกัน
มาคราวนี้ เมื่อเขาถูกจับดำเนินคดีอาญาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวของ คสช. บก.ลายจุดเลือกใช้วิธีการสื่อสารผ่านสัญลักษณ์อีกครั้ง
เป็นการใช้มือตนเองแสดงสัญลักษณ์นกพิราบสื่อสาร 2 ตัว แสดงให้สื่อมวลชนถ่ายรูป เพื่อนำไปเสนอทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์
พิจารณาจากสัญลักษณ์..นัยแรกตีความตามวิญญูชนว่า ภาพนี้สื่อความหมายถึง "เสรีภาพ" ส่วนนัยอื่นๆ นั้นยังไม่ทราบเจตนาของผู้ส่งสาร
เสรีภาพ..ภายใต้การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง
การสื่อสารด้วยสัญลักษณ์..เป็นการสื่อสารที่ไม่ต้องใชัคำพูด แต่มากด้วยความหมาย
หากมองในแง่ความชาญฉลาดในการสร้างสรรค์และการใช้สื่อ นับว่าประสบผลสำเร็จ ภาพนี้จะถูกตีพิมพ์ในหน้า 1 นสพ. และถูกเผยแพร่ต่ออย่างกว้างไกลในสื่อออนไลน์ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ถือว่า บก.ลายจุด เป็นนักออกแบบสัญลักษณ์มาใช้ในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี
หากมองในแง่มุมทางการเมือง นับว่าเป็นการปลุกเร้าพลังการต่อสู้ทางการเมือง ในกลุ่มของฟากฝ่ายตนเองได้เป็นอย่างดี
แต่ถึงแม้จะมีการออกแบบ "สื่อ" ที่ดี มีการออกแบบ "สาร" ที่ดี ก็ใช่ว่า "ผลกระทบ" (media impact) จะส่งผลกระทบรุนแรงดังคาด และใช่ว่าจะบังเกิด "ผลทางการสื่อสาร" (media effects) เหมือนที่เคยเป็นมา
เพราะยังต้องพิจารณาองค์ประกอบส่วนอื่นที่สำคัญด้วย นั่นคือ
1. แรงหนุนเนื่อง พลังของคนเสื้อแดงในห้วงเวลานี้ดูอ่อนล้า ขาดการขานรับสนองตอบอย่างเด่นชัด
2. การผลักดันของผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของนายใหญ่ที่ดูไบ ไม่ปรากฏให้เห็น
3. สภาวะอารมณ์ของคนเสื้อแดง ที่ได้รับรู้ความผิดปกติ ไม่โปร่งใส ขาดความจริงใจของแกนนำเสื้อแดง
4. สภาวะอารมณ์ของคนไทยที่เหนื่อยหน่ายอ่อนล้ากับปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 7 เดือนที่ผ่าน
5. ความตึงเครียดแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ รายได้หดหาย การเงินไม่คล่องตัว จนเกิดสภาพขัดสนในบางโอกาส
ปัจจัย 5 ประการดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้ประชาชนต้องการหา "ทางออก"
เป็น "ทางออก" ในการแก้ปัญหาของตนเองที่กำลังเผชิญอยู่
เป็น "ทางออก" ในการแก้ปัญหาของสังคมที่กำลังเผชิญชะตากรรมร่วมกัน
ดังนั้น สิ่งใดที่สอดคล้องกับความต้องการ "หาทางออก" ประชาชนจึงขานรับ ประชาชนจึงไม่คัดค้านต่อต้าน ในที่นี้อาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็น "ทางออก" ทางหนึ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนจำนวนมาก
ตรงกันข้าม สิ่งใดที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ "หาทางออก" ประชาชนจะคัดค้าน ต่อต้าน ถึงแม้ไม่ต่อต้าน แต่ก็ไม่ร่วมมือ
การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ด้วยภาพนกพิราบของ บก.ลายจุดคราวนี้ จะบังเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด จึงต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ การต่อสู้เรื่องใดๆ ต้องพิจารณาถึงเป้าหมายปลายทางของการต่อสู้ประกอบด้วย
เป้าหมายปลายทางของการต่อสู้ต้องสอดคล้องกับ "ความต้องการ" "ความเชื่อ" และ "ค่านิยม" ของคนส่วนใหญ่ในสังคม
สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนด้อยโอกาสยากจน แร้นแค้น อดอยาก ไม่ได้รับความเสมอภาคในการดำรงชีวิต ในขณะที่กลุ่มบุคคลระดับชนชั้นนำ
อาศัยอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางกฎหมาย กอบโกยทรัพยากร แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการภาครัฐจนร่ำรวยล้นฟ้า
ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
หากพิจารณาตาม "ทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยม" ของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่เป็นรากฐานหนึ่งของแนวคิดเสรีนิยมและระบอบประชาธปไตยแล้ว
ย่อมเห็นได้ว่า มันเป็นการเมืองการปกครองโดย "ระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง" ที่ไม่สร้างความเป็นธรรม ไม่สร้างความเสมอภาคให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ภายใต้บริบทสังคมการเมืองการปกครองด้วย "ระบอบประชาไตยที่บกพร่อง" เช่นนี้ อาจไม่บังเกิดผลสำเร็จ เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการ ความเชื่อ และค่านิยมของประชาชนส่วนใหญ่ ที่จ้องการได้รับประโยชน์สุขอย่างเสมอภาคกัน อย่างเป็น "รูปธรรมที่สัมผัสได้ในโลกแห่งความเป็นจริง"
มากกว่า "นามธรรมที่สัมผัสได้เพียงแค่ความรู้สึก" ว่ามี "เสรีภาพ" ว่ามี "ความเสมอภาค" แต่ในโลกความจริงที่สัมผัสอยู่กลับมีแต่ความอดอยาก ยากจน แร้นแค้น..อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน !!
12 มิถุนายน 2557
16.45 น.
cr ภาพจาก Wassana Nanuam
.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น