ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กลิ่นกาสะลอง..ดีทุกสิ่ง แต่มีบางสิ่งขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย

กลิ่นกาสะลอง..องค์ประกอบดีทุกสิ่งอย่าง แต่ขาดพลัง?

บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เวลา 14.45 น.
.....
จนรุ่งเช้าวันนี้ ความหอมของ "กลิ่นกาสะลอง" ยังคงอบอวลในความทรงจำของผู้ชมหลายล้านคน ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน

"กลิ่นกาสะลอง" ยังคงหอมอบอวลอยู่ในห้วงความคิดของหมอทรัพย์ ข้ามภพข้ามชาติไปอีกหลายสิบปี เป็นละครที่สื่อถึง "ความภักดี" ของหมอทรัพย์ในความรักที่มีต่อ "กาสะลอง" เป็นความรักที่หนักแน่น คงมั่น ดุจขุนเขาที่ "แม่แจ่ม" มิแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ฟ้าฝน และสิ่งเย้ายวน
.....
"กาสะลอง" เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวของละครโศกนาฏกรรม ในโครงเรื่องสะเทือนอารมณ์ ที่ตัวเอกของเรื่องต้องเผชิญกับโชคชะตา เหตุการณ์ร้าย ๆ มากมาย ต้องพบกับปัญหา ความผิดหวังในความรัก ความผิดหวังในชีวิต ความเจ็บปวด และความทุกข์ใจ จนกระทั่งต้องตายอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส อันเป็นผลมาจากการกระทำของ "นายแคว้นมั่ง" บิดา และ "ซ้องปีบ" น้องสาวตนเอง
..
ด้วยความรักและความผูกพันต่อคำมั่นสัญญาที่หมอทรัพย์ให้ไว้ กาสะลอง แม้ตายไปแล้ว ดวงจิตจึงยังคงวนเวียนอยู่ในวิถีชีวิตของหมอทรัพย์ และติตตามหมอทรัพย์ที่มาเกิดในชาติใหม่เป็น "ทินกฤติ" โดย "ซ้องปีบ" มาเกิดเป็น "พิมพ์พิศา" เป็นคู่รักที่ยังไม่ลงตัว เพราะหมอทรัพย์ในร่างทินกฤติยังมีดวงจิตผูกพันอยู่กับกาสะลอง
..
ดูละครด้วยความสนุกกับปมความขัดแย้ง ผูกให้แน่นไว้ด้วยความโกรธแค้น และความคับแค้นใจของกาสะลอง ที่ติดตามข้ามชาติมาแก้แค้น คนที่ตนเองคิดว่าเคยทำร้ายตนเองมาก่อน
..
ผู้ชมดูละครด้วยความสนุก ในรสอารมณ์ "ความตื่นเต้น" และ "ความอยากรู้อยากเห็น" ความเป็นไปของตัวละคร ด้วยความสามารถในการแสดงของนักแสดงฝีมือชั้นเยี่ยมอย่าง "ญาญ่า" อุรัสยา
..
เมื่อกาสะลองที่เคย "ถูกกระทำ" ในชาติก่อน เป็นผีข้ามภพมาเป็น "ผู้กระทำ" ในชาตินี้ มันจึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เธอมีความชอบธรรมที่จะแก้แค้น
..
ยิ่งเมื่อมีพลังอำนาจเหนือมนุษย์ กาสะลองยิ่งอาละวาดหนักขึ้น แก้แค้นหนักขึ้น เพื่อให้หายแค้น กลายเป็นกรรมต่อกรรมไม่รู้จบ
..
ละครบางช่วงบางตอน ผู้สร้างชวนให้ผู้ชมเกลียดชังกาสะลอง บางตอนผู้สร้างชวนให้ผู้ชมสงสารกาสะลอง
..
ความชอบ ความรัก ความชัง ความโกรธแค้น ความอาฆาต ความต้องการแก้แค้น ความต้องการเอาคืนให้สาสม มีอยู่ในตัวละคร และมีอยู่ในจิตใจของผูัชม การแก้แค้นของตัวละคร ช่วยปลดปล่อย "ความคับแค้น" ในจิตใจของผู้ชมให้บรรเทาเบาบางลง เพราะในชีวิตจริง "ทำไม่ได้"
..
เพราะชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้..ขับรถไปที่ถนนก็เจอผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พร้อมที่จะปาดหน้า เอาไม้เบสบอลมาฟาดใส่ฝากระโปรงรถ ชักมีดดาบด้ามยาวออกมาฟัน ชักฝืนออกมายิงจนหมดแมกกาซีน เพื่อทดแทนความไม่พอใจของตัวเอง
..
เพราะชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้..ไปที่ทำงาน ก็เจอเพื่อนร่วมงานที่พร้อมจะทรยศขโมยผลงานไปซึ่ง ๆ หน้า เพื่อนร่วมงานที่เขาคุยกับเราแบบกุมมือซาบซึ้งจริงใจ แต่ใน "ไลน์กลุ่มลับเฉพาะ" รุมกันด่าเราเป็นวัวเป็นควาย
..
เพราะชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้..นักการเมืองแสดงโวหารอภิปรายในสภา ด่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างเสียหายย่อยยับ ผู้ชมทางบ้านชอบอกชอบใจ ยกย่องให้เป็นฮีโร่ อภิปรายเสร็จ ไปกอดคอกันในห้องลับด้านหลัง จิบกาแฟสูบบุหรี่คุยกันสนุกสนาน ขอบอกขอบใจที่เล่นบทบาทตามแผนที่เตี๊ยมกันไว้
..
กาสะลองเองถ้ามาเจอชีวิตจริงแบบนี้จะรู้ว่า มันทุกข์ทรมานกว่าในสมัยนั้นร้อยเท่า สมัยนั้น โกรธคือโกรธจริง เกลียดคือเกลียดจริง กลั่นแกล้งคอกลั่นแกล้งจริง เปิดเผยกันให้เห็นจะ ๆ แจ้ง ๆ เจ็บคือเจ็บจริง ถ้ามาเจอสมัยนี้ "เจ็บแล้วเจ็บอีก" เจ็บปวดจากการกระทำตรง ๆ แล้วยังต้องเจ็บปวดกับการสื่อสารบดขยี้ในโลกโซเชียลมีเดียซ้ำอีก
..
กล่าวถึงตัวละครที่ "กระทำ" ต่อกาสะลองอย่างไม่เป็นธรรมมีหลายตัว ตัวหนักที่สุด ชัดที่สุด เจ็บที่สุด คือ "ซ้องปีบ" น้องสาวตัวเอง ซึ่งต้องชดใช้กรรมโดยถูกตามมารังควานในชาติใหม่
..
"ซ้องปีบ" อยากได้หมอทรัพย์มาเป็นสามี จึงทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าวิธีนั้นจะชั่วร้ายเพียงใด โกหกหน้าด้าน ๆ ว่าผ้าแพรที่หมอทรัพย์ให้พี่สาวมาว่าหมอทรัพย์ให้ตัวเอง โกหกว่าหมอทรัพย์รักตัวเอง เห็นได้ว่าซ้องปีบชั่วร้ายด้วยจิตใจชั่วร้ายของตนเอง อิจฉา ริษยา โหดร้าย โกหก กลั่นแกล้ง ทำร้าย ทารุณ ฆาตกรรม ผู้อื่นที่มาขัดขวางความปรารถนาของตนเอง
..
ผู้ชมพากันลงโทษติเตียนซ้องปีบ ว่าไม่มีคุณธรรมจริยธรรม
..
แต่คำถามคือ ใครทำให้ซ้องปีบมีอุปนิสัยชั่วร้ายแบบนี้? ใครปลูกฝัง อบรม บ่มเพาะ ส่งเสริมสนับสนุนให้ซ้องปีบมีอุปนิสัยชั่วร้ายแบบนี้?
..
"นายแคว้นมั่ง" พ่อของซ้องปีบ ผู้มีจิตใจอคติ เกลียดชังคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ด้วยฐานคติแบบนี้จึงส่งผลให้เกิด dramatic action ลงมือสร้าง "อุปสรรค" ขัดขวางความรักระหว่าง กาสะลอง กับ หมอทรัพย์ ใช้กลวิธี ใช้วิชามาร กลั่นแกล้งให้วุ่นวาย สลับคู่เอาคนนี้ไปจับคู่กับคนโน้น ผิดฝาผิดตัว
..
ใช้เล่ห์อุบายพยายาม "ดัน" ซ้องปีบลูกสาวที่ตนเองรักมากว่าให้ได้ "ตำแหน่ง" ภรรยาหมอทรัพย์ ในทางตรงกันข้าม "ดอง" กาสะลองลูกสาวที่ตนไม่รัก กลั่นแกล้งให้ "ดับ" ไม่ได้รับ "ตำแหน่ง" ภรรยาหมอทรัพย์ คนอย่างนายแคว้นมั่งนี่ มีอยู่ในออฟฟิศแทบทุกที่ มีในระบบกองทัพ มีในระบบตำรวจ มีในระบบกระทรวง มีในบริษัท
.....
ความแตกต่างระหว่างความชั่วร้ายในคนสองคน..อยู่ตรงที่

"ซ้องปีบ" มีแรงขับ (drive) คือ ความรัก โดยมีจุดหมายปลายทาง (goal) คือ การได้เป็นภรรยาหมอทรัพย์ ซ้องปีบจึงใช้วิธีการ (means) ที่ผิดคุณธรรมจริยธรรม
..
แต่ "นายแคว้นมั่ง" พ่อของซ้องปีบ มีแรงขับ (drive) คือ ความแค้น โดยมีจุดหมายปลายทาง (goal) คือ การพยายามพิสูจน์ตัวเองให้ได้รับการยอมรับ (สิ่งที่เขาต้องการคือความรักที่เกิดขึ้นจากความเต็มใจของภรรยา) นายแคว้นมั่งจึงใช้วิธีการ (means) ที่ผิดคุณธรรมจริยธรรม ก่อกรรมทำเข็ญมากมาย
..
นายแคว้นมั่งผู้พ่อมีปมในจิตใต้สำนึก เขาอยากได้รับความรักที่แท้จริงจากใครสักคน จากคนที่รักเขาด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ความรักที่ได้มาด้วยอำนาจหรือใช้กำลังบังคับ
..
นายแคว้นมั่งจึงใช้ซ้องปีบเป็น Proxy หรือเป็นสงครามตัวแทนในการแสวงหาความรักแท้ เพื่อชดเชยความรู้สึกผิดหวังของตนเองในอดีต
..
เขาจะรู้สึกชนะ ถ้าซ้องปีบชนะ แต่เมือเขาใช้วิธีการที่ผิดบาป มันจึงเป็นการก่อกรรม และผลของกรรมนั้นก็มาตกอยู่กับซ้องปีบลูกสาวที่ตนเองรัก
..
ซ้องปีบคือ ผลผลิตอันเป็น "บาปบริสุทธิ์" ของตัวเอง
.....
"มนุษย์ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง ไม่มีใครล่วงพ้นกรรมไปได้" เป็นหลักสัจธรรมในพระพุทธศาสนา

ทั้งซ้องปีบและนายแคว้นมั่ง ต่างได้รับผลกรรม
..
แต่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้..ดูที่ผลกรรมที่ทั้งสองคนได้รับ
..
ซ้องปีบได้รับผลกรรม ในชาติเดิมคือ ความตายที่ทรมานในกองไฟ
ซ้องปีบได้รับผลกรรม ในชาติใหม่คือ ความผิดหวังในความรัก
..
นายแคว้นมั่ง พ่อของซ้องปีบ ได้รับผลกรรมอะไรในชาติเดิม?
ความโศกเศร้าเสียใจแค้นใจ ที่ตัวเองสูญเสียลูกสาวสองคน !!
จนเกิดความสำนึกผิดบวชเป็นพระ!! (ซึ่งใช้เวลานำเสนอเพียงไม่กี่นาที)
นายแคว้นมั่งได้รับผลกรรมอะไรในชาติใหม่?
รถยนต์ประสบอุบัติตาย ตายกันง่าย ๆ ชดใช้กันง่าย ๆ แต่ไม่สัมพันธ์กับเหตุแห่งกรรม
..
แล้วกาสะลองล่ะ..ตกลง "กาสะลอง" เป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี?
..
กาสะลอง เป็นคนดี ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง แต่มีเพียงบางช่วงที่มีความโกรธแค้น มีความคับแค้นใจ จึงมาเป็นผีหลอกคนให้ตกใจนิดหน่อย แต่เจตนาที่แท้จริงคือ เพื่อที่จะให้คนที่ทำกรรมไว้กับตัวเอง ได้มาเห็นความจริงในอดีต ว่าทำกรรมไว้หนักหนาขนาดไหน และตัวกาสะลองได้รับความทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน?
..
กาสะลอง (ผี) พาไปดูอดีตว่า บาปกรรมที่นายแคว้นมั่ง พ่อของซ้องปีบและกาสะลอง กระทำไว้ต่อ "กาสะลอง" มันมากมาย หนักหนาสาหัส ผู้สร้างปูเรื่อง ขยายความ เน้นย้ำ ทั้งตัวเรื่องราว มุมกล้อง เทคนิคการถ่ายทำ ดนตรีประกอบ และฝีมือการแสดงที่ยอดเยี่ยมของญาญ่า ถูกกละ่นแกล้ง ถูกทุบตี ถูกทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ถูกจับมาขังในยุ้งข้าว ยังไม่พอ ยังจะถูกข่มขืน ต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดจากการถูกข่มขืน รอดจากการถูกข่มขืนมาได้ ต้องมาต่อสู้กับความหิวโหย ถึงขนาดต้องกินหนูเพื่ออยู่รอด (ซึ่งผู้สร้างนำเสนอไว้เป็นภาพขนาดใหญ่)
..
ความทุกข์ทรมานของตัวเอก "กาสะลอง" ถูกขยายภาพให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ตัวต้นเหตุผู้กระทำคือ นายแคว้นมั่ง คิดได้เลยไปบวชเป็นพระ ถือว่าสำนึก? ถือว่าชดใช้แล้ว?
..
มนุษย์มีกรรมเป็นของตนเอง ไม่มีใครล่วงพ้นกรรมไปได้..แต่ "ขนาดของกรรม" กับ "ขนาดของผลกรรมที่ได้รับ" มันควรจะมีความเป็นเหตุเป็นผล มีขนาด มีน้ำหนัก ได้สัดส่วนกับขนาดของกรรม เมื่อมีความเป็นเหตุเป็นผล คนดูจะเชื่อ คนดูจะคล้อยตาม
..
แต่ถ้าหากขาดความเป็นเหตุเป็นผลที่ดีพอ คนดูจะไม่เชื่อ คนดูจะไม่คล้อยตาม
..
การวางน้ำหนักในการนำเสนอเรื่อง จึงมีความสำคัญต่อผลที่เกิดขึ้นกับคนดูละคร
...............
ละครเรื่องนี้ดีทุกอย่าง บทประพันธ์ บทโทรทัศน์ การออกแบบศิลปกรรม production design การถ่ายภาพที่งดงามปราณีตราวกับภาพยนตร์ แสงสวย ดนตรีประกอบดี ผู้กำกับภาพเก่ง ผู้กำกับการแสดงเยี่ยม นักแสดงเยี่ยม พูดรวม ๆ คือ โปรดักชั่นสุดยอด
..
ละครดูสนุกทุกตอน สร้างความสุข ทำหน้าที่การสื่อสารด้านความบันเทิงครบถ้วน

เมื่อมันดีทุกสิ่งอย่างแบบนี้..แล้วมันมีอะไรที่มันขาดหายไป?
มันมีอะไรที่ควรจะมี แต่ไม่มี?
.....
จึงลองตั้งคำถามกับตัวเองดู!!
..
ละครเรื่องนี้จัดเป็นโครงเรื่องแบบไหน?
..
โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวชวนโศก" ตัวเอกนิสัยดี ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ นา ๆ จบลงด้วยความทุกข์ ผู้ชมสงสารเห็นใจตัวเอก
..
โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวโศกเศร้า" หรือ "แนวโศกนาฏกรรม" ตัวเอกนิสัยดี ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ นา ๆ จบลงด้วยความทุกข์ ผู้ชมสงสารเห็นใจตัวเอก แต่ความทุกข์ที่ตัวเอกได้รับนั้น เป็นเพราะผลกรรมของตัวเอง เป็นผลมาจากการกระทำของตัวเอง
..
โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวการลงโทษ" ตัวเอกนิสัยเลว เป็นคนเลว แต่ยังพอมีคุณสมบัติที่ดีบางประการ เช่น ความเก่ง ความกล้าหาญ จบลงด้วยตัวเอกถูลงโทษ ตัวอย่างเช่น ละครเรื่องตี๋ใหญ่
..
โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวชื่นชม" ตัวเอกนิสัยดี ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ นา ๆ ตัวเอกต่อสู้ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคด้วยความดีของตนเอง จบลงด้วยความสุข
..
โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวสะเทือนอารมณ์" ตัวเอกนิสัยดี ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรค เกิดเรื่องราวชวนสงสาร สะเทือนอารมณ์ ด้วยความรัก ความผิดหวัง ความเสียใจ ความทรมานใจ แต่ในที่สุดตัวเอกต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคผ่านพ้นมาได้ จบลงด้วยความสุข
..
ละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง น่าจะเป็นโครงเรื่องแบบผสม!!
..
ถ้าละครกลิ่นกาสะลอง จบลงแค่ กาสะลอง (ผี) กลับไปชดใช้กรรมในนรก ก็น่าจะเป็น โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวโศกเศร้า"
..
แต่เมื่อละครกลิ่นกาสะลอง จบลงโดย กาสะลอง (ผี) กลับไปเกิดใหม่ ได้มาพบเจอกับคนรักในชาติใหม่ แล้วก็สมหวังในความรัก ก็น่าจะเป็น โครงเรื่องประเภทโชคชะตา "แนวสะเทือนอารมณ์"
..
กาสะลอง ไม่ใช่ละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) ที่ตัวเอกนิสัยดี แต่ใช้ชีวิตผิดพลาดเพราะกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ตัวเอกต้องมาตายตอนจบ สร้างความโศกเศร้าแก่ผู้ชม ตัวอย่างเช่น โรเอโอแอนด์จูเลียต
...............
ละครเรื่องกาสะลอง นำเสนอเรื่องราว "ความสะเทือนอารมณ์" ผ่านตัวเอกคือ "กาสะลอง" เกิดมามีชีวิตที่มีความสุขช่วงสั้น ๆ ได้สัมผัสความสุขเพียงช่วงสั้น ๆ กับหมอทรัพย์ แต่ต้องผิดหวังในความรัก โศกเศร้าเสียใจ ได้รับความทุกข์จากการถูกกลั่นแกล้ง และจบชีวิตลงอย่างทุกข์ทรมาน
..
ละครเรื่องกาสะลอง นำเสนอเรื่องราว "ความสะเทือนอารมณ์" ผ่านตัวเอกฝ่ายชายคือ หมอทรัพย์ ที่มีความรักหนักแน่น มีความภักดี มีหัวใจที่งดงาม มีความรักที่งดงาม กระทั่งลมหายใจสุดท้าย เขาก็หลับไหลที่ไปใต้ต้นกาสะลอง
..
ละครเรื่องกาสะลอง ยังนำเสนอเรื่องราว "ความสะเทือนอารมณ์" ผ่าน "ดอกกาสะลอง" หรือ "ดอกปีบ" ที่เป็นสัญญะแทนความรักของคนทั้งสองที่หอมหวานจรุงจิต รัญจวนใจ แม้จะโรยราร่วงหล่นจากต้นปีบ แต่ยังคงส่งกลิ่นหอมตรึงใจ สะท้อนถึงความรักคงมั่นนิรันดรของ "กาสะลอง" กับ "หมอทรัพย์"
..
กลิ่นกาสะลอง..ยังไม่จางหายไปจากใจผู้คน ยังประทับใจ ยังอินอยู่ในใจผู้คนนับล้าน
ดูละครจบได้ความประทับใจ ได้ความสุขใจเต็มอิ่ม
..............
แม้รักมากเพียงใด แต่มิอาจข้ามความปรารถนาดีไปได้
จึงขอเป็นเพียงแค่เสียงเล็ก ๆ จากมุมหนึ่งในโลกใบนี้ ส่งความปรารถนาดีมาให้
..
เพียงแค่รำพึงด้วยความเสียดาย
เสียดายว่า "กลิ่นกาสะลอง" น่าจะไปให้สุด!!
..
แม้จะดีครบเครื่องความเป็นละคร แต่ทว่า "กลิ่นกาสะลอง" ยังขาดพลัง!!
ขาดพลังของละคร!! ขาดพลังอันเกิดจากการใช้เครื่องมือของการละครในการเล่าเรื่อง!!
..
ขาดพลังที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจมนุษย์ที่ได้ชม!!
ให้เกิดความตระหนัก!! ให้เกิดความสำนึก!!
ให้เกิดความรู้สึกอย่างรุนแรงในความละอายต่อบาป!!
..
ขาดพลังที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจของมนุษย์!!
..
เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง
เพื่อให้เกิดความเข้าใจชีวิต
เพื่อให้เกิดความสว่างในใจ
เพื่อให้เกิด "การชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์"
เพื่อให้เกิด "ความรู้สึกที่ต้องการยกระดับจิตใจ "ให้สูงส่งยิ่งขึ้น
..
อันเป็น "คุณค่า" ของการละคร ที่มีต่อมวลมนุษย์
..
ไม่อยากเปรียบเทียบ แต่ขอเปรียบเปรย
ดู "กลิ่นกาสะลอง" แล้ว พาลให้คิดไปถึง "กรงกรรม"
..
"กลิ่นกาสะลอง" มีสิ่งที่ควรจะมีคือ รสชาติความบันเทิงครบรส
"กลิ่นกาสะลอง" มีความเป็น Dramatic สูง มากกว่าความเป็น Real
..
"กรงกรรม" มี ความเป็น Dramatic สูงพร้อมกับมีความเป็น Real สูง
"กรงกรรม" มีพลังให้เกิดความเข้าใจชีวิต
"กรงกรรม" มีพลังแห่งการสร้างการชำระล้างจิตใจมนุษย์
..
สิ่งที่ "กรงกรรม" มีในข้อหลังนี่แหละที่ขาดหายไปใน "กลิ่นกาสะลอง"
..
นอกจากความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายจิตใจที่อ่อนล้าและปลอบประโลมใจให้มนุษย์มีความหวังแล้ว ละครยังมีคุณค่ามากไปกว่านั้น
..
ละคร มีคุณค่าต่อการชำระล้างจิตใจตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น
ละคร มีคุณค่าต่อการสร้างความเป็นมนุษย์ที่สามารถยกระดับจิตใจตนเองให้สูงขึ้น
..
เรารักละครไทย เรามีความหวังมากมายจากละครไทย เรามีเพียงความฝันที่จะเห็นมันเกิดขึ้น
................
หมายเหตุ ละครเรื่อง "กลิ่นกาสะลอง" ออกกากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 จบบริบูรณ์ไปเมื่อค่ำคืนวันที่ 29 กรกฎาคม 2562

#กลิ่นกาสะลอง
#ซ้องปีบ
#ละคร
#ช่อง3
#ญาญ่า
#เจมส์มาร์




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค