ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

นวัตกรรม ตอนที่ 5 การสร้าง การออกแบบ การพัฒนา นวัตกรรม



          นวัตกรรม เป็นกระบวนการของการเกิดความคิด (taking ideas) ที่คิดไปข้างหน้า คิดย้อนกลับ และคิดแบบประณีต การคิดแกว่งไปแกว่งมา จนกระทั่งมาเจอสิ่งที่เรียกว่าความรู้ที่แตกต่างกัน (Tidd & Bessant, 2013, p.233) สิ่งที่มากระตุ้น (trigger) กระบวนการคิดไม่ได้มีแต่เฉพาะการเกิดประกายความคิดวาบ หรือเกิดจากแรงบันดาลใจที่แวบเข้ามาในสมองเท่านั้น แต่ยังเกิดจากทางเลือกอีกหลายทางและหลากหลาย

          ดังนั้น ในการคิดสร้างสรรค์เพื่อนำนวัตกรรมการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจะต้องมองเห็นที่มาของการเกิดนวัตกรรมจากหลายทิศทาง หลายที่มา และหลายแหล่ง นวัตกรรมมีที่มาจากแหล่งของนวัตกรรม (Source of Innovation) หลาย ๆ แหล่ง ดังภาพที่ 6.1 ผู้สร้างสรรค์และผู้ประยุกต์ใช้นวัตกรรมสามารถนำแหล่งที่มาต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมขึ้นมา เพื่อใช้งานตามลักษณะของงานและวัตถุประสงค์ขององค์กร หรือวัตถุประสงค์ของธุรกิจของตนเองได้อย่างไร กระบวนการสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสื่อสารมีกระบวนการในการคิดที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้ (Tidd & Bessant, 2013, p.234)

          1. การสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในระบบเดิม (shock to the system) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่เคยทำกันมา เปลี่ยนระบบที่เคยใช้กันมานาน มีลักษณะแทบจะเป็นการเปลี่ยนโลกเลยทีเดียว

          2. เหตุบังเอิญ (accident) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการคิดได้โดยไม่ได้คาดหมายมาก่อน เป็นการคิดได้โดยบังเอิญ อาจมาจากการปฏิบัติงาน ค้นพบปัญหา ค้นพบสาเหตุ ทำให้ค้นพบวิธีการแก้ไขโดยบังเอิญ





 




















































ภาพที่ 6.1 ที่มาของนวัตกรรม

ที่มา Tidd & Bessant (2013, p.234)

          3. การเลียนแบบ (imitation) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นสังเกตการณ์ทำงานของผู้อื่น สินค้าคนอื่น บริการของคนอื่น ระบบงานขององค์กรอื่นที่ทำได้ดี แล้วนำมาดัดแปลงเข้ากับสินค้าของตนเอง บริการของตนเอง ระบบงานขององค์กรตนเอง

          4. การผสมผสาน (recombination) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการนำเอาคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ ระบบงานจากหลาย ๆ แหล่งนำมาคัดเลือกสิ่งที่ดีแล้วนำมาผสมผสานกัน สร้างออกมาเป็นวัตกรรมการสื่อสารแบบใหม่

          5. การเปลี่ยนกฏเกณฑ์ (rule of game) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการแหวกกฏเกณฑ์ การเปลี่ยนแนวทางในการคิด คิดนอกกรอบ นอกกฏเกณฑ์ ทำให้ค้นพบแนวทางใหม่ในการสร้างนวัตกรรมการสื่อสาร

          6. การค้นหาความต้องการแฝง (latent needs) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการสืบเสาะค้นหาความต้องการของผู้บริโภคที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ แล้วนำมาสร้างเป็นนวัตกรรมการสื่อสารแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา

          7. การสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการได้รับสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดประกายความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น อะคิมิดิส ค้นพบกฎการแทนที่เมื่อเขาลงไปในอ่างอาบน้ำ

          8. การใช้ความรู้เป็นแรงผลักดัน (knowledge push) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการได้รับอิทธิพลมาจากการค้นพบความรู้ใหม่ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ การค้นพบทางเทคโนโลยีใหม่ ทำให้นักสร้างสรรค์เกิดประกายความคิดในการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา รวมทั้งความรู้ทางด้านการตลาด การตลาดสมัยมใหม่ การตลาดดิจิทัล

          9. การใช้ความต้องการของมนุษย์เป็นแรงดึง (need pull) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการศึกษาถึงความต้องการ (need) และความจำเป็น (necessity) ของมนุษย์ เพื่อนำมาเป็นประเด็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม

          10. ผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างนวัตกรรม (user as innovators) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการปล่อยให้ผู้ใช้งานเป็นผู้นำเกมแห่งการสร้างสรรค์ ความคิดของผู้ใช้งานประกอบกับความคับข้องใจของผู้ใช้งานที่มีอยู่ในบรรดาผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบงานต่าง ๆ จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม การทดลอง การสร้างชิ้นงานต้นแบบขึ้นมา จนนำไปสู่การผลิตนวัตกรรมจริงออกมา

          11. การค้นหาทางเลือกใหม่ในอนาคต (future and forecasting) เป็นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการใช้วิธีการจินตนาการและการศึกษาค้นคว้าแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากที่มีอยู่ เป็นอยู่ ใช้อยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การใช้โดรนส่งสินค้าแทนการส่งโดยรถยนต์หรือจักรยานยนต์ การใช้โดรนเป็นยานพาหนะโดยสารแทนรถแท็กซี่



เมื่อทราบที่มาของการเกิดนวัตกรรมแล้ว นักสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร ควรจะนำวิธีคิดและที่มาของนวัตกรรมดังกล่าวนี้ไปใช้ในการวางแผน การสร้างสรรค์ การออกแบบนวัตกรรมการสื่อสาร โดยการคิดค้นว่าจะนำนวัตกรรมการสื่อสารที่มีอยู่ หรือที่จะสร้างขึ้นใหม่ ไปประยุกต์ใช้กับการผลิตสินค้า การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายสินค้า การให้บริการ การส่งมอบสินค้า รวมทั้งการพัฒนาระบบงาน การพัฒนาประสิทธิภาพ การพัฒนาคุณภาพของสินค้า บริการ และบุคลากร ตลอดจนการพัฒนาระบบงาน การพัฒนาประสิทธิภาพ การพัฒนาคุณภาพขององค์กรและบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน อันจะทำให้ผู้ใช้ ผู้บริโภค และลูกค้าเกิดความรู้สึกพึงพอใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความก้าวหน้าและความเจริญเติบโตขององค์กร

กระบวนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสื่อสาร แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ (โปรดดูภาพที่ 6.2) (Tidd & Bessant, 2013, p.405)



Text Box: Market Knowledge,Text Box: Technological Knowledge 


































ภาพที่ 6.2 กระบวนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสื่อสาร

ที่มา: ดัดแปลงจากกรวยนวัตกรรม (The Innovation Funnel) ของ Tidd & Bessant (2013, p.331)



1. การเกิดความคิด (Idea) ขั้นตอนแรกสุดคือ นักสร้างสรรค์และนักสื่อสารที่จะประยุกต์ใช้นวัตกรรมสื่อสารเกิดความคิด (idea) ขึ้นมาว่าตนเองจะสร้างนวัตกรรมการสื่อสารอะไร หรือจะนำนวัตกรรมการสื่อสารอะไรไปประยุกต์ใช้ในงานของตนเอง อันเป็นผลมาจากแรงสองอย่างคือ แรงผลัก และแรงดึง แรงผลัก (Push) เกิดจากปัจจัยด้านความรู้ใหม่ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโนโลยีใหม่ แรงดึง (Pull) เกิดขึ้นจากความต้องการ (need) ของผู้บริโภค เช่น ความต้องการความสะดวก ความต้องการความมีประสิทธิภาพ ความต้องการความรักความอบอุ่น รวมทั้งความจำเป็น (necessity) ของผู้บริโภค เช่น ต้องการปัจจัยสี่ ต้องการแก้ปัญหาความร้อน ความหนาว ความชื้น ต้องการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย ต้องการติดต่อสื่อสารกับพ่อแม่พี่น้อง คนรัก ญาติ เมื่อเกิดความคิดแล้ว นักสร้างสรรค์และนักสื่อสารต้องนำความคิดนั้นไปพัฒนาต่อไป



2. การร่างแนวคิด (Outline Concept) เมื่อได้ความคิดแล้ว ขั้นตอนต่อมานักสร้างสรรค์และนักสื่อสารจะต้องยกร่างแนวคิด (outline concept) ขึ้นมาให้พอมองเห็นเป็นรูปร่างคร่าว ๆ ว่าความคิดของตนเองนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละองค์ประกอบมีบทบาทหน้าที่ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีทิศทางอย่างไร มีปัจจัยเหตุมาจากอะไร เข้าไปสู่กระบวนการอย่างไร จะได้ปัจจัยผลอะไรออกมา และส่งผลกระทบอย่างไร จะเกิดประโยชน์อะไร จะนำไปสู่ผลที่ต้องการอย่างไร



3 การออกแบบรายละเอียด (Detail Design) เมื่อได้ร่างแนวคิดแล้ว ขั้นตอนต่อมานักสร้างสรรค์และนักสื่อสารจะต้องทำการออกแบบในรายละเอียดของนวัตกรรมว่าประกอบด้วยส่วนประกอบอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร จัดวางโครงสร้างอย่างไร ลำดับก่อนหลังอย่างไร แต่ละส่วนมีหน้าที่อย่างไร ทำงานอย่างไร ต้องเชื่อมโยงกันอย่างไร อะไรคือหัวใจสำคัญ อะไรคือปัจจัยหลัก อะไรคือปัจจัยรอง อะไรคือแกนหลัก อะไรคือตัวสนับสนุน จนในที่สุดในขั้นตอนนี้จะได้ผลออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ



4. การทดสอบ (Testing) เป็นการนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้สร้างขึ้นนั้นไปทำการทดสอบ โดยทำการทดสอบได้ทั้งสองวิธีคือ การทดสอบในตลาดจริง ให้ผู้บริโภคตัวจริงได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือทดลองใช้บริการ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การทดสอบในห้องแล็บที่จำลองสถานการณ์เสมือนจริง มีการคัดเลือกตัวแทนผู้บริโภคมาทำการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ แล้วทำการประเมินผลเก็บข้อมูล เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพดีขึ้น มีประสิทธิภาพดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้อาจมีการแก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการแล้วนำมาทดสอบซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง แก้ไขปรับปรุงอีกหลายครั้ง จนกว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ



5. การนำไปใช้ (Launch) เมื่อได้นวัตกรรมการสื่อสารที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ได้ทำการทดสอบคุณภาพและประสิทฺธิภาพ จนเป็นที่เชื่อถือได้ เป็นที่พอใจแล้ว จะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นออกสู่ตลาด ให้ผู้บริโภคได้ซื้อผลิตภัณฑ์ ได้ใช้บริการ



 อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมนี้ ยังถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพลังความรู้สองด้าน คือ

ปัจจัยความรู้ด้านตลาด (Market knowledge) ประกอบด้วย ประเภทของตลาด ขนาดของตลาด ความต้องการของตลาด คู่แข่งขันในตลาด โอกาสในการแข่งขัน ความสามารถในการแข่งขัน

ปัจจัยความรู้ด้านเทคโนโลยี (Technological knowledge)  ประกอบด้วย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ การเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้บริโภค การแพร่กระจายของเทคโนโลยี ทั้งสองปัจจัยนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ ออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการไปจนสิ้นสุดโครงการ

สรุปได้ว่า กระบวนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสื่อสารแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่  การเกิดความคิด การร่างแนวคิด การออกแบบรายละเอียด
การทดสอบ และการนำไปใช้ อย่างไรก็ตามในกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพลังความรู้สองด้าน คือ ปัจจัยความรู้ด้านตลาด และปัจจัยความรู้ด้านเทคโนโลยี

-------------------------------------------

เราไม่ได้บังคับ แต่เราสอนให้คิดเป็น
.......................................................
หลายสิ่งหลายอย่าง "เรารู้ เราเข้าใจ เราทำได้" แต่ให้เราเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือในเวลานี้ เราเขียนไม่ได้ แต่ครูอาจารย์พยายามคาดคั้นให้เราเขียนมันออกมาเป็นตัวหนังสือให้ได้ ไม่รู้จะบังคับเราไปทำไม

สิ่งที่เราทำไม่ได้ แต่ครูอาจารย์อยากให้เราทำได้นั่นแหละ เขาเรียกว่า "การฝึกฝนระบบความคิด" เพื่อให้คุณจัดรูปความคิดให้เป็นระบบ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผมกำลังฝึกให้คุณ "คิดเป็น" นั่นแหละ

การฝึกให้คนคิดเป็น คือ การฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ ความเป็นระบบของความคิดแบบเบสิคที่สุด อย่างน้อยที่สุด มันต้องมีหน้าตาแบบนี้ครับ

1. บอกได้ว่านี่มันเป็นเรื่องอะไร (what things)
2. จัดประเภทของเนื้อหาได้ (types)
3. จัดกลุ่มของเนื้อหาได้ (category)
4. ระบุองค์ประกอบได้ (elements)
5. ระบุบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์ประกอบได้ (functions)
6. แสดงความสัมพันธ์ (relations) ขององค์ประกอบเหล่านั้นได้
7. ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ (incidences)
8. จัดลำดับการเกิดก่อนหลังของเหตุการณ์ได้ (chronological order)
9. ระบุสิ่งที่เป็นสาเหตุ (causes) ได้
10. ระบุสิ่งที่เป็นผล (effects) ได้
11. ระบุสิ่งที่เป็นผลสืบเนื่อง (consequences) ได้
12. กล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลได้ (rationals)
13. หาพยานหลักฐานเชิงทฤษฎีมากล่าวอ้างถึงความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ได้ (theoretical supporting)
14. หาพยานหลักฐานเชิงตัวเลขมากล่าวอ้างถึงความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ได้ (empirical evidence supporting)
15. สร้างข้อสรุปได้ (construction of conclusions)

ผมพยายามฝึกฝนการคิดให้แก่ลูกศิษย์ของผม ทั้งสายตรงคือ เรียนมากับผม ทำวิทยานิพนธ์กับผม ทำการศึกษาค้นคว้าอิสระกับผม และสายอ้อมคือ เรียนรู้ร่วมกันผ่านโลกโซเชียลมีเดีย

เมื่อคนเราได้รับการฝึกฝนทักษะการคิดมาเป็นอย่างดีแล้ว ยามเผชิญเหตุการณ์ สถานการณ์ การทำงาน การแก้ไขปัญหา ความคิดที่มีความเป็นระบบที่ซ่อนอยู่ในสมองและในระบบความคิดของตัวบุคคล จะถูกนำมาใช้อย่างฉับพลันทันทีทันใด โดยไม่ต้องไปเปิดตำรา

นักบิน ที่กำลังขับเครื่องบินด้วยความเร็วสูงอยู่บนท้องฟ้า ไม่มีเวลาไปเปิดตำราค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

แพทย์ ที่กำลังรักษาคนไข้ที่อาการหนักมาก ไม่มีเวลาไปเปิดตำราค้นหาตัวยาและวิธีการรักษาอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

วิศวกร ที่คุมงานก่อสร้างอยู่บนตึกสูง 100 ชั้น ไม่มีเวลาเปิดตำราค้นหาวิธีการคำนวณความสามารถในการรับน้ำหนักของเหล็ก

นายกรัฐมนตรี ที่กำลังตอบคำถามของผู้สื่อข่าวร้อยคนที่รุมล้อม หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพูดถึงโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ไม่มีเวลาไปเปิดตำราหลักการพูดทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

การที่ผมและบรรดาครูอาจารย์ทั้งหลาย บังคับให้คุณเขียนอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่คุณคิดว่า "รู้ เข้าใจ และ ทำได้" ออกมาเป็นตัวหนังสือ

คือ วิธีการฝึกฝนความคิดของคุณ เพื่อให้คุณมีความสามารถทางการคิด คิดอย่างเป็นระบบ ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกการคิดสังเคราะห์ ฝึกการคิดวิพากษ์ เพื่อให้คุณมีสมองที่สามารถคิดได้ มีความสามารถทางการคิด ที่พร้อมนำมาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตจริงของคุณได้อย่างทันท่วงที

เมื่อฝึกฝนสมองของคุณให้คุณ "คิดเป็น" แล้ว ทีนี้ผมและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ต้องเป็นห่วงพวกคุณแล้ว ว่าคุณจะรับมือกับสถานการณ์ทั้งหลายได้หรือไม่

เพราะเมื่อสมองของคุณคิดเป็น คุณก็สามารถคิดวิเคราะห์เหตุการณ์และปัญหาต่า่ง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณได้ คุณก็สามารถค้นหา "ความรู้" จากแหล่งต่าง ๆ ทั้งหนังสือ ตำรา รายงานผลการวิจัย ฐานข้อมูลอออนไลน์ แหล่งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เอามาใช้งานได้

เพราะเมื่อสมองของคุณคิดเป็น คุณก็สามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณได้ ด้วยความคิดของคุณ ที่คุณพกพาไปด้วยทุกหนทุกแห่ง ตลอดชีวิตของคุณ

ดร.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
23/07/2017

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค