ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ลักษณะการทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ตอนที่ 2

ลักษณะการทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ตอนที่ 2

(บทความนี้อ้างอิงมาจากงานเขียนเรื่อง "จริยธรรมสื่อสารมวลชน" ในปี พ.ศ. 2547 โดย ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน )
                การทำงานของสื่อมวลชน เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การนำข่าวสารมาเผยแพร่และรายงานให้ประชาชนทั่วไปทราบ

                นอกจากนี้สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแล และ "ตรวจสอบความจริง" ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตลอดจนการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ

                การดำเนินงานของสื่อมวลชนในบางครั้งอาจไปกระทบกระเทือน รุกล้ำต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้ ทั้งโดยรู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว ในบางครั้งแม้สื่อมวลชนจะมีความปรารถนาดีต่อสังคมส่วนรวม แต่ความปรารถนาดีนั้นก็หาได้มีสิทธิพิเศษที่จะสร้างความกระทบกระเทือนต่อบุคคลอื่น 

                การกระทำของสื่อมวลชนบางเรื่องมีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดแจ้งว่าจะกระทำมิได้ แต่ในบางเรื่องกฎหมายมิได้เขียนห้ามไว้ แต่สื่อมวลชนยังต้องคำนึงถึงหลักว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ที่สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และสังคมช่วยกันกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็น การควบคุมกันเองของสื่อมวลชน (Self Regulation)

               ถึงแม้มิได้มีกฏเกณฑ์ปรากฏชัดแจ้งเป็นเอกสาร แต่สื่อมวลชนก็ยังมี "ความรับผิดชอบในตัวเอง" (Self responsibility) และต้องมี "มโนธรรมสำนึก" (Conscience) ที่จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักคุณธรรม หลักจริยธรรม และหลักมโนธรรม ที่สื่อมวลชนพึงจะมีในฐานะหน้าที่ของตน

                ลักษณะการกระทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ จนได้ข้อสรุปว่า หากสื่อมวลชนมีการกระทำเช่นว่านี้ อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการการทำผิดหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชน และจริยธรรมในวิชาชีพนิเทศศาสตร์ 
                อนึ่ง คำว่า สื่อมวลชน ในที่นี้หมายถึง บุคคลผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ อาจทำผิดจริยธรรมได้หลายลักษณะดังต่อไปนี้

5.11 การมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับแหล่งข่าว
    การมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับแหล่งข่าว (Liaisons dangerousness: reporter and sources) สื่อมวลชนต้องมีใจเป็นกลาง ต้องปราศจากอคติ ต้องมีความกล้าหาญ ต้องยืนอยู่ข้างความถูกต้อง และต้องนำเสนอความจริง เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ แต่ถ้าหากว่าสื่อมวลชนมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับแหล่งข่าวแล้ว สื่อมวลชนอาจไม่สามารถทำหน้าที่ของสื่อได้อย่างครบถ้วน อันเนื่องมาจากความรัก ความสงสาร ความเห็นใจ

5.12 การชี้ช่องอาชญากรรม
   การเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในบางครั้ง อาจกลายเป็นการชี้ช่องอาชญากรรม (Crime Promotion) อย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เช่น การรายงานข่าวการปล้นธนาคารที่มีการวางแผนอย่างแยบยลจนตำรวจจับไม่ได้ การแสดงการใช้เทคโนโลยีในการประกอบอาชญากรรมในภาพยนตร์ อาจเป็นตัวอย่างหรือให้การเรียนรู้กับผู้ร้ายในทางอ้อม

5.13 การแต่งเรื่อง
การแต่งเรื่อง (Story Compose) ข่าวสารบางอย่างสื่อมวลชนอาจนำมาประกอบสร้างเป็น เรื่องราวขึ้นมาเพื่อให้น่าอ่านสนุกสนานในการติดตาม เช่น การนำเรื่องของเจ้าหญิงไดอานามาเขียนในทำนองบทประพันธ์หรือนิยาย มีการใช้ถ้อยคำที่หวือหวาเร้าอารมณ์ (emotional) มีการใช้ถ้อยคำที่ดูเร้ากิริยาทางเพศ (erotic) โดยที่อาจมีหรืออาจไม่มีมูลความจริงอยู่เลยก็ได้เพราะเป็นเรื่องเล่าหรือเรื่อที่แต่งขึ้นมาจากข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น

5.14 การพาดหัวข่าวเกินจริง
      การพาดหัวข่าว (Headline) เกินจริง สื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากสื่อมวลชนอื่นคือ มีการพาดหัวข่าว ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ประชาชนตัดสินใจซื้อหนังสือพิมพ์นั้น การพาดหัวข่าวที่น่าสนใจมีหลายวิธี แต่ในบางครั้งหนังสือพิมพ์มีการพาดหัวข่าวที่มีลักษณะเกินความจริงจากเนื้อหาของข่าวที่มีอยู่ข้างในเนื้อข่าวไปมาก

5.15 การสถาปนาบุคคลให้กลายเป็นวีรบุรุษ
      การกระทำของมนุษย์ในบางเรื่องที่กระทำไปด้วยความซื่อสัตย์ กล้าหาญ เสียสละ ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม มีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของสาธารณชนและสังคมโดยรวม และก่อให้เกิดความสำเร็จหรือบังเกิดผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมในทางที่ดี มักได้รับการยอกย่องว่าเป็น วีรบุรุษ (Heroes) แต่ในยุคปัจจุบัน การทำความดีงามบางอย่างอาจเป็นเรื่องตามปกติชีวิตมนุษย์ เป็นวิถีชีวิตธรรมดาของมนุษย์ แต่สื่อมวลชนบางคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในทัศนะของตน จึงนำมาเสนอข่าวสารยกย่องการกระทำนั้นว่าเป็นการกระทำเยี่ยงวีรบุรุษ ในบางกรณีสื่อมวลชนที่ขาดการตรวจสอบข้อมูลดีพอ แต่เพื่อเป็นการแย่งชิงพื้นที่การนำเสนอข่าว ได้พากันยกย่องบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนขับรถแท็กซี่ผู้อ้างว่าตนเองนำเงินที่ผู้โดยสารชาวต่างชาติที่ลืมไว้ในรถเป็นจำนวนมาก ไปคืนที่ให้ผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมือง ให้กลายเป็นวีรบุรุษชั่วข้ามคืน ในเวลาไม่นานความจริงก็ปรากฏว่า คนขับรถแท็กซี่คนนั้นโกหกและหลอกลวง (lying)

5.16 การขยายความจริงให้ใหญ่กว่าความเป็นจริงหรือบิดเบือนไปจากความจริง
  การขยายความจริงให้ใหญ่กว่าความเป็นจริง (enlarge reality) และการบิดเบือนให้คลาดเคลื่อนไปจากความจริง (distortion) ความจริงในเรื่องหนึ่งอาจมี ขนาดเล็ก แต่สื่อมวลชนสามารถทำให้เรื่องนั้นกลายเป็นเรื่องที่มี ขนาดใหญ่ ในความรู้สึกของประชาชนผู้รับสารได้ หรือบิดเบือนเรื่องราวให้แตกต่างจากความจริง โดยการใช้ พื้นที่ เวลา และ อารมณ์

         1. การใช้พื้นที่ (Space) เพื่อขยายความจริงให้รู้สึกใหญ่ขึ้นสามารถทำได้โดย
           (1) การกำหนดขนาดให้ใหญ่ ทำได้โดยการกำหนดพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับข่าวสารเรื่องนั้น เช่น การพาดหัวข่าวขนาดใหญ่
              (2) การวางตำแหน่งที่สำคัญ เป็นการนำเสนอข่าวของเรื่องนั้นให้จัดวางอยู่ในตำแหน่งที่ดูแล้วมีความสำคัญเช่น ด้านบนของหนังสือพิมพ์ ด้านขวาของหนังสือพิมพ์ หรือด้านบนซีกขวาของหนังสือพิมพ์
              (3) การใช้ความต่อเนื่อง ทำได้โดยการนำเสนอข่าวสารนั้นให้เป็นข่าวที่สำคัญด้วยการนำเสนอข่าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน

        2. การใช้เวลา (Time) เพื่อขยายความจริงให้รู้สึกใหญ่ขึ้นสามารถทำได้โดย
            (1) การให้เวลาที่ยาว เป็นการใช้เวลานำเสนอข่าวนั้นด้วยเวลาที่ยาวนานกว่าข่าวอื่น ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามีความสำคัญ
            (2) การจัดนำเสนอในช่วงเวลาที่สำคัญ เป็นการนำเสนอข่าวหรือเรื่องราวนั้นในเวลาที่มีผู้ฟังผู้ชมมาก เช่น ช่วงไพรม์ไทม์ของรายการวิทยุและโทรทัศน์
          (3) การนำเสนออย่างต่อเนื่อง เป็นการนำเสนอเรื่องราวนั้นอย่างต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง หรือหลายๆ วัน ทำให้ผู้ฟังผู้ชมรู้สึกว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญ

       3. การใช้อารมณ์ (Emotion) เป็นการใช้การแสดงออกไปในเนื้อหาที่นำเสนอโดยการสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของผู้นำเสนอ เช่น วิธีการพูด ลีลา น้ำเสียงในการพูด รวมทั้งการใช้วิธีการนำเสนอรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้สี การใช้แสง การใช้เสียงดนตรีประกอบการนำเสนอ เพื่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก
           (1) ความรู้สึก (Feeling) หมายถึง การแสดงความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งสอดแทรกลงไปในเนื้อหาที่นำเสนอ เช่น ความรู้สึกรัก ชอบ พึงพอใจ เห็นอกเห็นใจ เมตตา เกลียด ชิงชัง ต่อต้าน เหยียบย่ำ ไร้ความปราณี
           (2) ทัศนคติ (Attitude) หมายถึง การแสดงออกถึงท่าทีโน้มเอียงของความรู้สึกไปในทางบวกหรือทางลบต่อสิ่งที่นำเสนอ เช่น ทัศนคติที่มีต่อบุคคลว่าน่าจะเป็นคนดี คนซื่อสัตย์ น่าจะเป็นคนโกง คนทุจริต
           (3) โทน (Tone) หมายถึง การแสดงท่าที การสื่อควาหมายโดยรวมทำให้ผู้รับสารรับรู้ได้ว่า เรื่องดังกล่าวมีโทนอย่างไร เช่น มีโทนไปในทางลบ มีโทนไปในทางร้าย มีโทนไปในทางทุจริตไม่โปร่งใส

5.17 การทำข่าวให้เป็นละคร
   การนำเสนอเรื่องราวอย่างมีสีสัน (colorful) การนำเสนอเรื่องราวอย่างสนุกสนานตื่นเต้น (exciting) ทำให้เรื่องราวนั้นมีอรรถรสน่าติดตามอ่านหรือติดตามชม ซึ่งเหมาะกับการทำรายการประเภทละคร (drama) หรือนวนิยาย แต่สำหรับรายการข่าวจำเป็นต้องยึดถือความจริง ข้อเท็จจริง ความถูกต้อง ความแม่นยำเป็นหลัก สื่อมวลชนบางแขนงนำรูปแบบวิธีการนำเสนอแบบละคร (drama) มาใช้ในการนำเสนอข่าว  ทำให้ทำข่าวกลายเป็นละคร (Dramatize news) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ความจริงของข่าวคลาดเคลื่อนไป เนื่องจากการเกิด อารมณ์ในขาวที่นำเสนอ ทำให้ข่าวกลายเป็นเรื่องของความรู้สึกสนุกสนานในการติดตาม ตัวอย่างเช่น ข่าวอาชญากรรมที่เขียนข่าวในลักษณะสร้างอารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจ การเสนอข่าวการเมืองในลักษณะของการต่อสู้ของฝ่ายพระเอกกับฝ่ายผู้ร้ายที่ต้องต่อสู้กันเพื่อชัยชนะ เพื่อครองอำนาจ หรือเพื่อได้ผลประโยชน์

5.18 การอนุมานเอาเอง

      สื่อมวลชนอาจมีความจริงไม่ครบถ้วน ขาดเพียงบางส่วนก็จะสมบูรณ์ แต่สื่อมวลชนอาจไม่มีเวลาพอที่จะไปหาความจริงให้ครบถ้วน จึงอาศัย การอนุมาน” (Its looks like…) โดยใช้วิธีการสันนิษฐาน การคาดการณ์ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เป็นเหตุให้ความจริงในเรื่องนั้นคลาดเคลื่อนไป

>> ยังมีต่อ..ขอเชิญติดตามอ่านต่อได้ในตอนต่อไป >>

เขียนโดย รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
เผยแพร่ซ้ำ วันที่ 24 ตุลาคม 2556

หมายเหตุ
1. เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน
ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ปี พ.ศ. 2547
2. นำมาอ้างอิงเผยแพร่ซ้ำในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรมสื่อสารมวลชน หน่วยที่ 5 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2548
3. นำมาอ้างอิงเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรมสื่อสารมวลชน หน่วยที่ 5 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2550

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค