ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้จริงหรือ ?
นี่เป็นข่าวจากเทพเจ้า หรือข่าวจากสวรรค์กันแน่ !! เป็นท่านใดกันที่ทรงเป็นห่วงมนุษย์ เกรงจะไม่ปลอดภัย จึงส่งสารคำเตือนเรื่องโรคระบาดในฟาร์มไก่ของบริษัทแห่งหนึ่งและแนะนำว่า "..ช่วงนี้อย่าเพิ่งกินไก่กับไข่เด็ดขาด อย่าเพิ่งกินไก่กันน่ะช่วงนี้.." ขอบคุณอย่างยิ่งในความเมตตาของท่าน แต่ปัญหาคือ ผมไม่รู้ว่าจะไปขอบคุณใคร ?? ไม่รู้ว่าจะไปขอบพระคุณท่านใด ??
มีใครก็ไม่รู้เหมือนกันเคยกล่าวไว้ว่า "..ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของสื่อใหม่ ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้.." เพียงแค่มีอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ มีสมาร์ทโฟนตัวเดียวก็ "ทำข่าว" ได้ เรื่องนี้ฟังดูก็เห็นจะเป็นจริงสัก 30% เพราะคนบางคนไม่ต้องเรียนด้านการสื่อสาร อาศัยความสามารถส่วนตัว อาศัยพรสวรรค์ อาศัยเซ้นส์ ของตนเอง ก็สามารถทำข่าวได้ราวกับนักข่าวมืออาชีพ แต่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนขำนวนมากมีข้อบกพร่องเรื่อง "การสื่อสาร" ไม่สามารถจะสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างถูกต้อง เที่ยงตรง ชัดเจน ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ "ข่าว" ควรจะมี สิ่งเหล่านี้นอกจากต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และเซ้นส์ด้านการข่าวแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะการสื่อสารอีกด้วย
ทักษะการสื่อสารเบื้องต้นที่คนทำงานข่าวควรจะต้องมีคือ การสื่อสารตามหลัก 5W 1H ได้แก่ WHO WHAT WHEN WHERE WHY and HOW
หากพิจารณาตามชิ้นข่าวที่ผมนำมาแสดงนี้ จะเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องในเรื่องความชัดเจน และความสมบูรณ์ครลถ้วนของเหตุการณ์
เราไม่รู้ WHO เราไม่รู้ชัดเจนว่า WHO เป็นใคร เชื่อถือได้แค่ไหน
เราไม่รู้ WHEN เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อใด
เราไม่รู้ WHERE เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหน
เราไม่รู้ HOW เราไม่รู้ลักษณะเหตุการณ์ ไม่รู้พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น
การสื่อสารในโลกโซเชียลมีเดีย ผู้คนสามารถเป็นผู้ผลิตสาร (producer) เป็นแหล่งสาร (source) เป็นผู้ส่งสาร (sender) ได้ทุกเวลา ด้วยการโพสต์ข้อความใหม่หรือรูปภาพใหม่จากการริเริ่มของตนเอง หรือโดยการแชร์ข้อความหรือรูปภาพของบุคคลอื่นที่เราได้รับมา
แต่สิ่งที่ผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียไม่ค่อยทำคือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบความแท้จริง (authenticity) ของเนื้อหาและผู้ส่งสาร อาจเป็นเพราะโลกโซเชียลมีเดียมีลักษณะพิเศษคือ ความสะดวก ความง่าย ความรวดเร็ว ในการผลิตข่าวสารและการสข่าวสาร
เหตุนี้เราจึงได้พบ "ข่าว" ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่รู้ผลที่เกิดขึ้น จำนวนมากมายแพร่หลายอยู่ในโซเชียลมีเดีย ข่าวแบบนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ"ข่าวลือ" (rumour) คือ การไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มส่งสารเป็นคนแรก การไม่มีหลักฐานยืนยันพิสูจน์ควสมถูกต้องและความเชื่อถือได้ของข้อมูล และมักจะถูกส่งข่าวต่อๆ กันไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ในโลกการสื่อสารออนไลน์ที่ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดนเช่นนี้ สิ่งที่พึงตระหนักคือ เราไม่รู้ว่าข่าวสารใดจริงแท้ เราไม่รู้ว่าข่าวสารใดเท็จ เพราะมักจะมีข้อบกพร่องในการสื่อสาร ทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้อยู่ตลอดเวลา เราไม่รู้ว่าเอกสารต้นฉบับ (original text) เป็นอย่างไร เราไม่รู้ว่าเอกสารต้นฉบับนั้น ได้ถูกแปลงสาร ดัดแปลง แต่งเติม ตัดต่อ ไปในขั้นตอนใดของการสื่อสาร เช่น เราไม่รู้ว่าก่อนที่จะมีการแชร์ออก มา ผู้แชร์ได้แอบใส่ความคิดของตนไว้ตรงไหนล้าง
ภาพตัวอย่างประกอบการอธิบาย ที่เห็นนี้ไม่ใช่ความคิดเห็นของผม แต่เป็นสิ่งที่ผมได้รับการแชร์มาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่า มันถูกแชร์มากี่ต่อแล้ว
โลกการสื่อสารวันนี้ แม้แต่เรื่องเท็จที่สื่อสารกันมาตั้งแต่ต้นทาง เราก็ไม่มีวันรู้ แม้แต่เรื่องเท็จนั้นจะกลายเป็นจริงชึ้นมา เราก็ยังไม่มีวันรู้ เพราะการสื่อสารแบบไร้ต้นสายปลายเหตุแบบนี้
คำกล่าวที่ว่า โลกยุคสื่อใหม่ ใครๆก็เป็นนักข่าวได่ คงจะจริงอยู่บ้าง แน่เราไม่ได้พูดถึง "คุณภาพของข่าว" เพราะฉะนั้น ผู้รับสารและผู้บริโภคข่าวสาร คงจะต้องใช้วิจารณญานอย่างมาก ในการคิดอย่างรอบคอบว่าเราจะเชื่อถือข่าวนั้นได้มากน้อยเพียงใด
รศ.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
15 ตุลาคม 2556
หมายเหตุ ผู้เขียนไม่ขอพูดถึงว่าเรื่องตามภาพข่าวประกอบจะจริงหรือไม่จริง ไม่มีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ปรากฏในภาพข่าว เพียงแค่ต้องการนำภาพมาวิพากษ์ในมิติด้านการสื่อสารเท่านั่น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น