ประชาธิปไตยในโลกอินเทอร์เน็ต: บทบาทของสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่ในการพัฒนาความเข้มแข็งแข็งประชาสังคม
ประชาธิปไตยในโลกอินเทอร์เน็ต
ประชาธิปไตยในโลกอินเทอร์เน็ต
(Cyber
Democracy) เป็นแนวคิดในการใช้การสื่อสารบนสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่าเป็น สื่อใหม่ (New Media) ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปกครองระบบอประชาธิปไตยในด้านข้อมูลข่าวสาร
Cathy Bryan, Roza
Tsagarousianou and Damian Tamnini (1988) อธิบายเรื่อง "ประชาธิปไตยในโลกอินเทอร์เน็ต" หรือ "ประชาธิไตยในโลกไซเบอร์" (Cyber Democracy) ไว้ว่า ประชาธิปไตยในโลกอินเทอร์เน็ต เป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายประชาสังคม 7 ประการต่อไปนี้
1. สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
ทำให้ประชาชนควบคุมข้อมูลได้มากขึ้น เป็นการติดอาวุธทางด้านข้อมูลให้กับประชาชน
2. สามารถใช้เป็นมาตรวัดความพึงพอใจของประชาชน การตอบสนองความต้องการของประชาชน
3.
เป็นที่รวบรวมปฏิกิริยาทางการเมือง
4.
หลีกหนีการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงสื่อ เกิดรูปแบบใหม่ทางการเมืองที่ปลอดจากอำนาจรัฐ
เปลี่ยนเป็นการสื่อสารในแนวราบมากยิ่งขึ้น
(จากเดิมที่มีลักษณะการสื่อสารแบบแนวตั้ง (Vertical communication) ในสัดส่วนที่มากกว่า การสื่อสารแบบแนวราบ (Horizontal communication) ที่เป็นลักษณะเฉพาะของการสื่อสารมวลชน (Mass communication) ที่ผู้ส่งสารมักผูกขาดในการเป็นผู้ส่งสาร และผู้รับสารไม่สามารถโต้ตอบได้ ในลักษณะของการสื่อสารแบบสองทาง (Two way communication) ได้ดีเท่าที่ควร-ผู้เขียน)
5.
ประชาชนที่เป็นผู้รับสารสามารถโต้ตอบได้เร็วขึ้น
6. ทำให้สื่อมวลชนและนักการเมืองไม่สามารถบิดเบือนข่าวสารได้สะดวกเหมือนเก่า
7. สื่อใหม่สามารถออกแบบได้ตามความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
ทั้ง Bryan, Tsagarousianou และ Tamnini ได้ชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของสื่ออินเทอร์เน็ตในการส่งเสริมการเกิดเครือข่ายประชาสังคม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของสื่อ เป็นผู้ผลิตสื่อ เป็นผู้ผลิตสาร และเป็นผู้ส่งข่าวสารด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาสื่อมวลชนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา นอกจากนี้การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตยังสามารถป้องกันการแทรกแซงจากรัฐ และการแทรกแซงจากอิทธิพลอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
บทบาทของสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่ในการพัฒนาความเข้มแข็งแข็งประชาสังคม
ด้วยคุณลักษณะพิเศษของสื่ออินเทอร์เน็ตดังที่กล่าวถึง สื่ออินเทอร์เน็ต
จึงเป็นสื่อที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย
เพื่อพัฒนาให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งตามแนวคิดพลเมืองเข้มแข็งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมากดังต่อไปนี้
(อ้างอิงจาก ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
2554)
1. การแสวงหาข้อมูลข่าวสารทำได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ไร้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และเวลา
หรือพรมแดนทางกายภาพใดๆ ประชาชนจึงมีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น รู้เท่าทันการเมือง
รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันสื่อมากขึ้น
2. การแสดงความคิดเห็นมีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีสื่อที่เปิดกว้าง มีพื้นที่สาธารณะ (Public
sphere) ประชาชนมีเวทีในการแสดงออกทางความคิดเห็นได้กว้างขวางขึ้น
ปราศจากการจำกัด หรือการครอบงำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในอดีต
3.
ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้กว้างขวาง ทั่วถึง
และรวดเร็ว ในระหว่างสมาชิกกลุ่ม องค์กร ชุมชน และเครือข่ายด้วยกัน
และระหว่างเครือข่ายกับเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน
รวมทั้งเสริมสร้างพลังในการแสดงออกร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
4. ประชาชนสามารถสร้างและพัฒนากลุ่ม ชุมชน สมาคม องค์กร หรือเครือข่ายสังคมของตนเองได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การรวมตัวกันเนเครือข่ายในโลกของชุมชนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic
Community) ชุมชนแบบออนไลน์ (Online Community) รวมทั้งการสร้างเครือข่ายสังคม (Social Networks)
รูปแบบต่างๆ เช่น สังคมในเฟซบ๊ก (Facebook) เว็บบล็อก (Web
Blog) เว็บบอร์ด (Web board) เว็บท่าในการสืบค้น
(Portal Site Web) ได้ง่ายขึ้น เพื่อใช้เป็นช่องทาง
พื้นที่สาธารณะในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหวางกัน
รวมพลังในการแสดงออกถึงท่าทีของกลุ่มที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
5.
ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้นและเสมอภาคยิ่งขึ้น
การใช้สื่อใหม่โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของภาครัฐได้เท่าเทียมกันมากขึ้น
ไม่ว่าคนในเมือง หรือคนในชนบท ก็สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลขาวสารภาครัฐได้เหมือนกัน
ทั้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ โครงการ งบประมาณ การรายงานผล
การวิจัย ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนนรู้และการพัฒนาความคิดของประชาชน
และประชาสังคม
6. สร้างพลังในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ดีขึ้น
เช่น การตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ
การตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน
การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา การเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน
7.
สร้างพลังในการตรวจสอบการทำงานของภาคเอกชน ธุรกิจการค้า
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประชาชนได้ดีขึ้น เช่น
การต่อต้านสินค้าที่ไม่ปลอดภัย สินค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
8.
สร้างพลังในการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งการตรวจสอบกันเอง
และการตรวจสอบโดยประชาชนและประชาสังคม ได้ดียิ่งขึ้น เชน
การตรวจสอบความจริงในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน การตรวจสอบจริยธรรมของสื่อมวลชน
การตรวจสอบการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ
การตรวจสอบความไม่เป็นกลางหรือความมีอคติลำเอียงของสื่อ
9. ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนด
ตัดสินใจ ยอมรับ สนับสนุน ปฏิเสธ ต่อต้าน นโยบายสาธารณะของภาครัฐได้ดียิ่งขึ้นและเสมอภาคยิ่งขึ้น เช่น
การต่อต้านการประกาศเขตการค้าเสรี การต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
10. เป็นช่องทางและวิธีการในการสร้างการมีส่วนร่วมในการเข้าถึง
การใช้ประโยชน์ และการกระจายทรัพยากรที่สำคัญของชาติได้ดียิ่งขึ้นและเสมอภาคยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น
และประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น
การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งแข็งของประชาสังคม มีลักษณะและรูปแบบต่างๆ
ดังตัวอย่างที่นำมาเสนอต่อไปนี้ (อ้างอิงจาก ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน 2554)
1. การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก
ในเชิงประเด็นทางสังคม เพื่อต่อต้านการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง
ตัวอย่างที่ 1 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก “ชุมชนคนต่อต้านภาษาวิบัติ”
เครือข่ายประชาสังคมรูปแบบนี้
เป็นเครือข่ายประเภทการรวมตัวกันเชิงประเด็นปัญหาสังคม
เป็นกลุ่มคนที่สนใจประเด็นปัญหาสังคมร่วมกันในด้านการใช้ภาษา
2. การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนด้านการโฆษณา
ตัวอย่างที่
2 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก “ต่อต้านการโฆษณาที่ขาดจริยธรรม”
เครือข่ายประชาสังคมรูปแบบนี้
เป็นเครือข่ายประเภทการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่สนใจประเด็นปัญหาสังคมในลักษณะการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนด้านการโฆษณา
รวมทั้งการตรวจสอบการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชน
3. การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กในลักษณะเครือข่ายบุคคลทีมีเพศสภาพเดียวกันและมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
ตัวอย่างที่ 3 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก “เครือข่ายผู้หญิง
พลิกโฉมประเทศไทย”
เครือข่ายประชาสังคมรูปแบบนี้
เป็นเครือข่ายประเภทการรวมตัวกันเชิงคุณลักษณะของกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้หญิงที่มีความกระตือรือร้นต่อการเคลื่อนไหวทางสังคม
4.
การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก.ในลักษณะการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์สังคม
ตัวอย่างที่
4 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก “เครือข่ายพลังบวก”
เครือข่ายประชาสังคมรูปแบบนี้
เป็นเครือข่ายประเภทการรวมตัวกันเชิงคุณลักษณะของกลุ่มบุคคลที่มีความในเรื่องการสร้างสรรค์สังคม
5.
การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กในลักษณะการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นและท่าทีในการต่อต้านเหตุการณ์สังคมที่ตนคิดว่าไม่เป็นธรรม
และเรียกร้องความโปร่งใสในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
ตัวอย่างที่ 5 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก “มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านไม่พอใจแพรวา (อรชร) ”
เครือข่ายประชาสังคมรูปแบบนี้
เป็นเครือข่ายประเภทการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่สนใจเรื่องปัญหาอาชญากรรม
และปัญหาความยุติธรรมในสังคม จึงแสดงออกด้วยการให้ความเห็น แสดงทัศนะ วิพากษ์
วิจารณ์ และยื่นข้อเสนอของตนผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์
6.
การใช้สื่อประชาสังคมบนสื่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กในลักษณะการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นและท่าทีในการต่อต้านปรากฏการณ์สังคมที่ตนไม่พึงพอใจ
ตัวอย่างที่
6 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก “มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคนไม่พอใจผลการตัดสิน
TGT ที่ให้ไมร่า
มณีภัสสร ชนะ”
TGT เป็นอักษรย่อมาจากคำเต็มว่า
Thailand Got Talent หมายถึง รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่มีลักษณะเป็นการประกวดและแข่งขันความสามารถที่ยอดเยี่ยมของบุคคล
ตัดสินผลแพ้ชนะโดยการโหวตจากผู้ชมรายการโทรทัศน์
เครือข่ายประชาสังคมรูปแบบนี้
เป็นเครือข่ายประเภทการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจร่วมกัน
มีประโยชน์ร่วมกัน มีส่วนได้เสียร่วมกัน
ในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมของมวลชนจำนวนมาก (Popular)
ตัวอย่างที่นำมาเสนอข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนของกระบวนการประชาสังคมในสื่อใหม่
โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยเหตุที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นักศึกษาและผู้สนใจควรศึกษาค้นคว้า ติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ
เพื่อเปรียบเทียบการทำงานของประชาสังคมในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ซึ่งมักจะมีการพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ
กับความเจริญก้าวหน้าของสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันเหตุการณ์ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และรู้เท่าทันความหลากหลายในโ,กทางการเมือง และในโลกของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดียิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
22 ตุลาคม 2556
................................................................................................................................................................
รายการอ้างอิง
ณัฐฐ์วัฒน์
สุทธิโยธิน “กระบวนการประชาสังคมในสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่” การสื่อสารยุคใหม่กับประชาธิปไตยไทย 2554
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ "ประชาสังคมในสื่อใหม่" ในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรรมด้านนิเทศศาสตร์ หน่วยที่ 6 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี 2554
Rosa Tsagarousianov, Damian Tambini and Cathy Bryan. Cyber Democracy: Technology, Cities and Civic Networks. London: Routledge, 1988
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น