ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ภาพยนตร์ The Letter จดหมายรัก: ความตายคือการเริ่มต้น..สัญญะวิทยาว่าด้วยการสื่อความหมายในภาพยนตร์

ภาพยนตร์ The Letter จดหมายรัก: ความตายคือการเริ่มต้น
สัญญะวิทยาว่าด้วยการสื่อความหมายในในภาพยนตร์
ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
                                                                                                                     

          ความตาย..สำหรับคนทั่วไปคือการจบสิ้น แต่ความตายในภาพยนตร์ไทยเรื่อง The Letter หรือ จดหมายรัก กลับเป็น..การเริ่มต้น !!





ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวแห่งความรักของ..มนุษย์ที่ขาดความรัก..สองคน คนหนึ่งอยู่ในสังคมเมืองที่ทันสมัยทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เต็มไปด้วยความรีบเร่งและการแข่งขัน อีกคนหนึ่งอยู่ในสังคมชนบทที่มีความอบอุ่นใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่แข่งขันกับใคร แต่ทั้งคู่กลับมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความเหงาและ ขาดความรักคนจากสองสังคมที่แตกต่างกันสิ้นเชิงได้เดินทางมาพบกัน มันจึงกลายเป็นความอบอุ่นและความรักอันดื่มด่ำ แต่เมื่อคนหนึ่งที่รักมากต้องลาจากก่อนวัย อีกคนหนึ่งจะอยู่อย่างไร..เหมือนดั่งต้นไม้ที่ไร้น้ำรอวันเหี่ยวแห้งตาย แล้ววันหนึ่งเมื่อมนุษย์เข้าใจสัจจะแห่งชีวิต ความตายก็กลับกลายเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง..!!

หนังเรื่องจดหมายรักอาศัยความรักที่เกิดจากความตายเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องเริ่มต้นก็ตาย ..จุดหักเหของเรื่องก็มาจากความตาย..จุดไคลแม็กซ์ก็เป็นผลมาจากความตาย หนังเรื่องนี้จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตายโดยแท้ แต่เป็นความตายที่นำไปสู่การเริ่มต้น.. หาใช่จุดจบ..!!

ความตายครั้งแรก หนังเปิดเรื่องด้วยความตายของน้องสาวของยายของตัวละครเอกที่ชื่อ ดิวสาวน้อยที่ไร้ญาติ แต่ไม่ขาดมิตร เธอมีเพื่อนสาวที่สนิทคนหนึ่ง แต่เธอกลับขาดซึ่งความรักความตายของญาติเป็นโอกาสที่ได้พบกับพระเอก เหตุการณ์แห่งความรักอุบัติขึ้นที่ท่ารถโดยสาร โปสการ์ดคือสื่อที่เธอครอบครองไว้ตั้งแต่ต้น (สื่อชนิดนี้หากจะใช้ส่งสารถึงกัน ผู้ส่งสารจะต้องเขียน อักษร” (Letter) ลงไป) แต่ตลอดชีวิตของคนรัก เธอกลับไม่เคยเขียน อักษรแห่งรักใดๆ เพื่อบอกให้คนที่รักเธอมากที่สุดได้รู้บ้างเลย

ดิว ทำงานสร้างเว็บไซต์โดยการพิมพ์ตัวอักษรและระบบข้อมูลในการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ ต้นทำงานด้านการเกษตรอยู่กับต้นไม้และธรรมชาติ   ความสัมพันธ์ช่วงเริ่มต้นพวกเขาสื่อกันด้วยใช้การพูดทางโทรศัพท์ดิวใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นสื่อแห่งความคิดถึง แต่ต้นพอใจที่จะใช้ ตัวอักษรเป็นสื่อมากกว่าเพราะว่ามันมี ตัวตน” ขณะที่ต้นชวนให้ดิวเขียนจดหมายถึงกัน แต่ดิวคิดว่าไม่จำเป็นเพราะเจอหน้ากันอยู่แล้ว

ตัวอักษรหรือ Letter ซึ่งแปลได้อีกว่าคือ จดหมาย ที่ต้นชอบในความมีตัวตน หรือความจริงที่สัมผัสได้ ต่างจากอีเมล์ที่มีสภาพเป็นเพียง ข้อมูลเมื่อไฟดับข้อมูลเหล่านั้นก็หายไป แต่ต้นเชื่อว่าตัวอักษรจะยังคงอยู่ได้อีกนาน อักษร จึงเป็น สัญญะ (sign) หมายถึงความรักที่มั่นคงและยาวนานดังเช่น จดหมายที่คนรุ่นยายของดิวเขียนไว้ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ความรักมิใช่เป็นเพียง ข้อมูลแต่เป็นความรู้สึกที่เปี่ยมล้นด้วย ความหมายเกดเพื่อสนิทของดิวคือตัวอย่างที่สื่อให้เห็นถึงความลวงจากตัวอักษรในอินเตอร์เน็ต เธอคิดว่าผู้ชายที่เธอติดต่อทาง E-mail และChat หน้าตาดี การศึกษาดี ฐานะดี การติดต่อสื่อสารผ่านสื่อโดยไม่เห็นหน้ากัน มนุษย์สามารถเสแสร้งได้ง่ายดาย โกหกหลอกลวงกันได้ตลอดเวลา ในที่สุดมันก็นำเธอไปสู่จุดจบคือความตาย

ความตายครั้งที่สอง ชักนำให้มนุษย์ที่เปี่ยมด้วยความเหงาใจและไร้รักสองคนได้มาใกล้ชิดกัน เมื่อเกดเพื่อนสนิทที่รักมากที่สุดของดิวตายลง ดิวไม่มีใครอีกแล้วจึงกลับมาเชียงใหม่และได้ใกล้ชิดกับต้นจนก่อเกิดเป็นความรักและแต่งงานกัน นั่นคือการ เริ่มต้นชีวิตคู่ฉันสามีภรรยา

คนหนึ่งบ้านนอกใสซื่อแสนดี แต่ขาดความรัก คล้ายดั่งต้นไม้ขาดน้ำ อีกคนหนึ่งสวย เก่ง ทันสมัย แต่ก็ไร้ซึ่งความรัก เมื่อทั้งสองได้พานพบ จึงมอบความรักให้แก่กันล้นหัวใจ เหมือนดั่ง ต้นไม้ที่ได้น้ำนำความชุ่มชื่นมาสู่ชีวิต

ต้น ชื่อตัวละครเอกฝ่ายชาย เป็น สัญญะ (sign) มีความหมายสองนัย นัยแรกต้นคือ ต้นไม้ ที่เกิดมาคู่กับดิว อีกนัยหนึ่ง ต้นหมายถึง ต้นกำเนิด หรือ จุดเริ่มต้น หรือ การเริ่มต้น อันเป็นที่มาแห่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นคือเรื่องราวความรักของคนทั้งสอง

ดิว ชื่อตัวละครเอกฝ่ายหญิงก็เป็น สัญญะ (sign) มีความหมายสองนัยเช่นกัน นัยแรก ดิว ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Dew แปลว่า น้ำค้าง ในหนังเรื่องนี้ดิวจึงหมายถึง น้ำค้างที่มาเกาะและให้ความชุ่มชื่นแก่ต้นหรือต้นไม้ในยามอรุณรุ่ง Dew แปลว่า ความสดชื่น หมายถึง ดิวเป็นน้ำค้างที่มาให้ความชุ่มชื่นให้กับต้นไม้ (ต้น) ให้มีความสดชื่นขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้นเป็นคนเงียบๆ เหงาๆ อยู่ในชนบท ดิวเป็นผู้มาชุบชีวิตให้ต้นพบกับความชุ่มชื่นคือพบกับความรักนั่นเอง

อีกนัยหนึ่งชื่อ Dew แปลว่า น้ำตาซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึง ความรู้สึกเศร้าโศกและเสียใจของมนุษย์ ชื่อ ดิวที่เป็นตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็นสัญญะที่สื่อความหมายถึงทั้งความสุขความสดชื่นและ ความโศกเศร้า ซึ่งเธอจะได้พานพบกับสองอารมณ์อย่างเต็มเปี่ยม ต้นกับดิว เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กัน สองคนที่แตกต่างกันมาอยู่ด้วยกันด้วยเหตุผลเดียวคือ ความรัก

ต้นไม้ ต้นบ๊วยต้นใหญ่ที่ไร้ใบอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวบนเนินเขา เป็นสัญญะแห่งความอ้างว้างเดียวดายเหมือนชีวิตของต้นที่รอคอยสิ่งที่จะมาสร้างความชุ่มชื่นแก่ชีวิต นั่นคือ น้ำ น้ำคือสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตชุ่มชื่นให้แก่ต้นไม้ ดิวคือ น้ำ ที่จะมาสร้างความชุ่มชื่นแก่ชีวิตให้ต้น ต้นจะต้องตายด้วยโรคร้าย เหมือนจะเป็นสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด ต้นได้ตอนต้นไม้ไว้กิ่งหนึ่งแล้วเพาะชำในกระถาง  การตอนต้นไม้จึงเป็นสัญญะหมายถึง ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการขยายเผ่าพันธุ์ ต้นไม้คือต้น ต้นคือต้นไม้

น้ำในหนังเรื่องนี้ถูกนำมาใช้เป็นสัญญะ (sign) เพื่อสื่อความหมายสามรูปแบบ หนึ่งคือ น้ำฝน ฉากที่ฝนตกเป็นฉากที่ทำให้ทั้งสองรักกันอยู่ด้วยกันและแยกจากกัน สองคือ น้ำจากฝักบัวรดน้ำ” ที่ดิวรดต้นไม้ตอนในกระถางเปรียบเสมือนน้ำที่ให้ชีวิตแก่ต้นไม้ (หมายถึงต้น) และสามคือ  "น้ำตาของดิว" ที่สื่อถึงความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ในหนังเรื่องนี้เธอร้องไห้เสียน้ำตา 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเพื่อนสนิทตาย ครั้งที่สองเมื่อรู้ว่าสามีป่วยหนัก ครั้งที่สามเมื่อได้เห็นภาพสามีในวิดีโอเทป

ความตายครั้งที่สาม คือ ความตายด้วยน้ำมือของพระเจ้า ต้นพบว่าตนเองเป็นโรคร้ายรักษาไม่หาย วันเวลาที่ทั้งสองจะอยู่ด้วยกันน้อยลงไปทุกขณะ ในที่สุดความตายก็ได้มาพรากต้นไปจากดิว ดิวเหลือเพียงความอ้างว้างโดดเดี่ยว ดิวจับลูกตุ้มนาฬิกาให้หยุดเดิน ชีวิตของเธอเหมือนจะหยุดลงตรงนี้ แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น เมื่อเธอได้รับจดหมายที่เขียนด้วยลายมือคนรักของเธอที่ตายจากไปแล้ว ทุกตัวอักษรล้วนมีความหมายและมีค่าต่อดิวยิ่งนัก   เธอเพิ่งรู้ซึ้งถึงคุณค่าของตัวอักษรที่ประกอบกันเป็นจดหมาย ในวันที่เธอไม่มีโอกาสเห็นหน้าผู้เขียนอีกแล้ว..ความตายของ ต้นจึงเป็นการเริ่มต้น เป็นการเริ่มต้นใหม่ของดิวนั่นเอง

จดหมายรักของต้น คือพลังอันวิเศษที่ผลักดันให้ดิวมีชีวิตอยู่ต่อไป ดิวเริ่มเก็บผ้าที่ตากไว้ ดิวไกวลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อนาฬิกาเริ่มเดิน ชีวิตเธอก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ความตายของต้นที่ตอนแรกเหมือนจะเป็นจุดจบของทุกสิ่ง กลับเป็นการเริ่มต้นใหม่ในชีวิต ดิวรอคอยที่จะได้รับจดหมายรักจากต้นฉบับต่อไปอย่างมีความหวัง..จดหมายรักฉบับสุดท้ายที่เธอได้รับกลับไม่ใช่ตัวอักษร แต่เป็นภาพและเสียงของคนรักในจอโทรทัศน์ ยิ่งสร้างความปวดร้าวใจแสนสาหัส ภาพของต้นเจ็บปวดรวดร้าวใจที่จะต้องลาจากคนที่รักที่สุดในชีวิต และคำพูดของดิวที่เอ่ยปากบอก รักครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตทาง โทรศัพท์ยิ่งทำให้ดิวสุดแสนทรมานใจ ดิวร้องไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ น้ำตาไหลเกือบเป็นสายเลือด โชคชะตาช่างแสนโหดร้าย คู่รักที่เพิ่งมีความสุขกับความรักได้ไม่ทันไรก็ต้องจากกันชั่วชีวิต ดิวโผกอด ภาพของต้นในจอโทรทัศน์ ร่ำไห้ด้วยหัวใจที่แตกสลาย น้ำตาของดิวไหลนองหน้าไปพร้อมกับน้ำตาของผู้ชม..ต่อแต่นี้จะไม่มีอีกแล้ว..จดหมายรัก

ต้นบอกลาดิวครั้งสุดท้าย และขอให้ดิวมีชีวิตอยู่ต่อไป ทั้งสัญญาว่าจะไม่ทิ้งดิวไปไหน ต้นทำตามสัญญาที่พูดไว้ ด้วยการกำเนิดชีวิตใหม่เป็นบุตรชายที่เกิดจากต้นและดิวชื่อตั้มตั้มเป็นสัญญะ (sign) มาจากคำว่าโมเมนตั้ม” ซึ่งหมายถึงการแกว่งไกวของลูกตุ้มนาฬิกา ตั้มคือสิ่งที่เป็นแรงเหวี่ยงให้ชีวิตของดิวกลับคืนมาเริ่มต้นใหม่อีกคำรบหนึ่ง เมื่อมีตั้ม ดิวจึงคลายความโศกเศร้าและเข้าใจความจริงของชีวิต 



บ๊วยแม้มีรสเค็มแต่ยามที่เรากระหายน้ำบ๊วยกลับให้ความชุ่มชื่นได้อย่างประหลาด ต้นบ๊วยเป็นสัญญะ (sign) อีกอย่างหนึ่ง บ๊วยแปลว่าสุดท้าย ต้นบ๊วยคือตัวแทนของความรักของคนทั้งสอง ที่ให้ความชุ่มชื่นแก่กันและกัน  เธอโอบกอดต้นไม้คล้ายดั่งโอบกอดคนรัก ดิวบรรจงเสียบดอกไม้ช่อน้อยที่สวยงามแนบกับต้นไม้ สร้างสีสันมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ความรักทำให้ชีวิตสว่างไสว ต้นไม้ก็คือ ต้นต้นยังอยู่กับดิวตลอดไปชั่วนิรันดร

ความตายครั้งที่สี่..!! ถ้าดูเฉพาะในภาพยนตร์เราจะพบความตายเพียงแค่สามครั้ง แล้วความตายครั้งที่สี่คืออะไร ความตายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องจดหมายรักทั้งหมด ล้วนเป็นสัญญะ (sign) เพื่อสื่อความหมายถึง ความรักและ การเริ่มต้น สำหรับความตายครั้งที่สี่ คือ ความตายของคุณดวงกมล  ลิ่มเจริญ บุคคลที่เริ่มต้นความคิดสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Letter เพียงแต่เธอประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับต้นที่ปรารถนาจะมอบความรักแก่ผู้อื่น แต่เธอต้องจากลาไปเสียก่อน ความตายของคุณดวงกมลคือการเริ่มต้น เป็นการเริ่มต้นให้คุณผอูน จันทร์ศิริ สานต่อเพื่อบอกกล่าวมนุษย์ให้ตระหนักถึงคุณค่าของความรัก

ความตายของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย 
ความตายของสืบ นาคะเสถียร กระตุ้นให้คนรักป่าและเห็นคุณค่าของการเสียสละ 
ความตายของเชอร์รี่แอน นำไปสู่การปรับปรุงงานของตำรวจ 
ความตายของผู้คนกว่าสามพันชีวิตในตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ผลไม้พิษจากความชิงชังที่นำไปสู่การทบทวนบทบาทของอเมริกัน และ
ความตายของมหาตมะคานธี ที่ปลุกจิตสำนึกแห่งสันติสุขของมวลมนุษย์

            ความตาย คือ การเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ หากมวลมนุษย์มี ความรักต่อกันมากกว่า ความชัง

            หากมีความรัก..ก็จงมอบความรักให้แก่กันเสียตั้งแต่วันนี้..วันที่เรายังมีลมหายใจ

                                  ..................................................................................

ผู้เขียนบทความ:
รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วันที่เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก วันที่  9 ส.ค. 2547

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค