แนวทางในการตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมาย
รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
วิชาที่เกี่ยวกับกฎหมาย เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผล (rational) เป็นประการสำคัญ มีการใช้ทั้งเหตุ (causes) มีการใช้ทั้งผล (effects) ในการศึกษาทำความเข้าใจ นอกจากนี้ยัง มีลักษณะเฉพาะของวิชา คือ การมีตัวบทกฎหมายที่แน่นอน ชัดเจน รองรับและสนับสนุนการวิเคราะห์
ด้วยลักษณะเฉพาะและธรรมชาติของเนื้อหาวิชากฎหมายดังกล่าว ในการวัดผลจึงใช้วิธีการวัดผลด้วยข้อสอบแบบอัตนัย หรือข้อสอบแบบเขียนตอบเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้วิธีการคิด วิธีการวิเคราะห์โดยอาศัยหลักกฎหมายเป็นกรอบอ้างอิง แต่นื่องจากความไม่คุ้นเคยกับธรรมชาติของวิชากฎหมาย ทำให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาในการเขียนตอบข้อสอบวิชาที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทั้งนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์หรือสาขาวิชาอื่น ที่มิใช่นักศึกษาที่เรียนสาขาวิชานิติศาสตร์โดยตรง มักจะมีข้อสงสัยมีข้อคำถามเกี่ยวกับวิธีการเขียนตอบข้อสอบวิชากฎหมาย ว่าจะเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง เขียนอย่างไรจึงจะตรงประเด็น เขียนอย่างไรจึงจะครบถ้วนสมบูรณ์ และเขียนอย่างไรจึงจะได้คะแนนดี ซึ่งในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มีชุดวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายโดยตรงชุดวิชาหนึ่งคือ ชุดวิชา 15307 กฎหมายและจริยธรรมด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนเป็นประธานกรรมการกลุ่มผลิตและบริหารชุดวิชานี้ ผู้เขียนจึงขอแนะนำสาระความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมาย เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา และให้แนวปฏิบัติในการเขียนคำตอบข้อสอบวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายดังที่จะได้อรรถาธิบายดังต่อไปนี้
หลักทั่วไปในการตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมาย
1. วิเคราะห์โจทย์ จับประเด็นให้ได้ว่า โจทย์ข้อนี้คือ
(1) เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เช่นเป็นเรื่อง การหมิ่นประมาทผู้อื่น การหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา
(2) ประเด็นคำถามของโจทย์คืออะไร มีกี่ประเด็น มีประเด็นอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น โจทย์ถามว่า
- การกระทำของนายแดงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทอย่างไรบ้าง
- การกระทำของนายแดงถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะเหตุใด
- การกระทำของนายแดงจะเข้าข่ายได้รับข้อยกเว้นที่ถือว่าไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะเหตุใด
- นายแดงจะหยิบยกข้อต่อสู้ใดขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อให้พ้นจากความรับผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาทได้บ้าง
- นายแดงจะหยิบยกข้อต่อสู้ใดขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อให้พ้นจากการต้องได้รับโทษตามกฎหมายหมิ่นประมาทได้บ้าง
2. คิดถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อค้นหาหัวเรื่องและประเด็นที่โจทย์ถามพบแล้ว ให้นักศึกษาพิจารณาต่อไปว่า ในหัวเรื่องและประเด็นดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายเรื่องใด ตัวอย่างเช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา การหมิ่นประมาทที่ต้องทำให้ได้รับโทษหนักขึ้น ข้อยกเว้นความรับผิดฐานหมิ่นปะมาท
3. จำแนกหลักเกณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิด เมื่อเลือกหลักกฎหมายได้มาแล้ว ให้พิจารณาต่อไปว่า หลักกฎหมายนั้น มีหลักเกณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดอย่างไร มีหลักเกณฑ์กี่ข้อ มีอะไรบ้าง องค์ประกอบแห่งความผิดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
องค์ประกอบภายใน คือ เจตนาของผู้กระทำผิด ตามหลักกฎหมายอาญา บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (มาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)
องค์ประกอบภายนอก คือ การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามที่ได้กำหนดไว้ของแต่ละฐานความผิด
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีองค์ประกอบความผิด 5 ประการดังนี้คือ
1. ผู้ใด
2. ใส่ความ
3. ผู้อื่น
4. ต่อบุคคลที่สาม
5. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
4. เขียนให้สั้น กระชับ รัดกุม เขียนให้ตรงประเด็นที่สุด ไม่เยิ่นเย้อ
5. เขียนตามหลักเหตุผล ไม่ใส่ความรู้สึก หรืออารมณ์ของตนเองลงไป
วิธีการเขียนตอบข้อสอบอัตนัย
มีวิธีการเขียนตอบข้อสอบที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน โดยการแบ่งโครงสร้างการเขียนตอบออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนแรก วางหลักกฎหมาย เป็นการเขียนหลักกฎหมายของฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในโจทย์ที่ถามไว้
ตัวอย่างวิธีการเขียน
กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ได้วางหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบของความผิดไว้ 5 ประการดังนี้คือ
1. ผู้ใด
2. ใส่ความ
3. ผู้อื่น
4. ต่อบุคคลที่สาม
5. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
พร้อมด้วยองค์ประกอบภายใน คือ กระทำโดยเจตนา
ส่วนที่สอง ปรับข้อเท็จจริงตามอุทธาหรณ์ที่ปรากฏในโจทย์ให้เข้ากับหลักกฎหมาย โดยการอธิบายการกระทำหรือพฤติการณ์ของบุคคลตามที่ระบุในโจทย์ให้เข้ากับหลักกฎหมาย ทุกองค์ประกอบความผิด
ตัวอย่างวิธีการเขียน
1. ผู้ใด ในที่นี้หมายถึงนายแดงผู้พูดส่ความผู้อื่น
2. ใส่ความ การที่นายแดงไปพูดกับบุคคลอื่นว่า นายขาวเป็นมีหนี้สินล้นพ้นตัว เคยจ่ายเช็คให้ตนเองแล้วเช็คเด้ง นอกจากนี้ยังเคยกู้เงินคนอื่นมาหลายรายแล้วไม่ยอมใช้หนี้ รวมทั้งเคยไปกู้เงินธนาคาร ธนาคารก็ไม่ให้กู้เพราะเครดิตไม่ดี การพูดของนายแดงถือได้ว่าเป็นการใส่ความนายขาวให้ได้รับความเสียหาย
3. ผู้อื่น ในที่นี้หมายถึงนายขาวผู้ถูกนายแดงพูดใส่ความ
4. ต่อบุคคลที่สาม ในที่นี้หมายถึงนายดำ นายเขียว นายเหลือง หรือบุคคลใดๆ ที่ได้รับรู้การพูดของนายแดงที่ใส่ความนายขาว
5. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง คำพูดที่นายแดงกล่าวว่านายขาวเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เคยจ่ายเช็คให้ตนเองแล้วเช็คเด้ง นอกจากนี้ยังเคยกู้เงินคนอื่นมาหลายรายแล้วไม่ยอมใช้หนี้ รวมทั้งเคยไปกู้เงินธนาคาร ธนาคารก็ไม่ให้กู้เพราะเครดิตไม่ดี เป็นคำพูดที่น่าจะทำให้นายขาวเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายแดงได้กระทำการพูดใส่ความนายขาวต่อผู้อื่นโดยเจตนา
ส่วนที่สาม วินิจฉัย เป็นการลงข้อสรุปตามประเด็นที่โจทย์ตั้งคำถามไว้ โดยการอธิบายการกระทำหรือพฤติการณ์ของบุคคลตามที่ระบุในโจทย์ ซึ่งอาจวินิจฉัยได้หลายลักษณะดังนี้คือ
- เป็นความผิด
- ไม่เป็นความผิด เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมาย
- ไม่เป็นความผิด เพราะเข้าข้อยกเว้นความรับผิด
- เป็นความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ให้ไม่ต้องรับโทษ
ตัวอย่างวิธีการเขียน
จากพฤติกรรมของนายแดงที่พูดใส่ความนายขาวต่อบุคคลที่สาม ทำให้ได้ความเสียหายเสื่มเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาท ดังนั้น นายแดงจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
หมายเหตุ ในการเขียนตอบข้อสอบ นักศึกษาอาจจำเลขมาตราในกฎหมายไม่ได้ ก็ไม่ต้องเขียนลงไป ให้เขียนเพียงแค่ว่า ตามหลักกฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาททางอาญา ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ แล้วจึงเขียนอธิบายหลักเกณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบความผิดทีละข้อจนครบทุกข้อ
ผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
ประธานกรรมการกลุ่มผลิตและบริหารชุดวิชา
15307 กฎหมายและจริยธรรมด้านนิเทศศาสตร์
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
วันที่เขียน: วันที่ 14 ตุลาคม 2556
วันที่เผยแพร่: วันที่ 16 ตุลาคม 2556
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น