ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง..เรื่องราวที่ใหญ่หลวงของคนไทย

ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง..เรื่องราวที่ใหญ่หลวงของคนไทย
...................

สิ่งที่เกิดขึ้นที่ "ถ้ำหลวง" อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในช่วงเวลา 18 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ไม่ใช่เพียงแค่เหตการณ์ (Events) แต่มันเป็น "ปรากฏการณ์" (Phenomenon) สำคัญของประเทศไทย และเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลก ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ สงสัย สังเกต ติดตาม มีความหวัง ส่งกำลังใจ เอาใจช่วย ส่งคนมาช่วย ส่งอุปกรณ์เทคโนโลยีมาช่วย

การที่ผมเขียนถึงเรื่องราวของทีมนักดำน้ำอังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกัน และชาติอื่น ๆ ติดต่อกันมาหลายวันนับตั้งแต่เกิดปรากฏการถ้ำหลวง มิใช่เพราะคลั่งฝรั่ง แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะวิเคราะห์ค้นหาสิ่งที่เป็นแก่น (Core) ของปรากฏการณ์ เพื่อสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้นำไปใช้ในอนาคต คือ

1. องค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
2. องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี
3. องค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติ ถ้ำ น้ำท่วม การติดกับดัก การตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน Trapped Situation
4. องค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ ในมิติทางกายภาพ ความรู้ พันธุกรรม ขีดความสามารถ ศักยภาพ และมิติทางจิตใจ ความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ความกลัว ความกล้าหาญ ความเสียสละ
5. องค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อ สื่อมวลชน และการสื่อสาร

องค์ความรู้ลำดับที่ 1-2-3 ผมวางตนเป็นผู้เรียน ที่ใช้ปรากฏการณ์นี้โอกาสนี้ในการศึกษาหาความรู้ จากสื่อ (media) ทุกสื่อ

องค์ความรู้ลำดับที่ 4 เป็นความสนใจส่วนตัวของผม ด้วยการตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจถึงศักยภาพของมนุษย์ จิตใจของมนุษย์ ค่านิยม จิตวิญญาณของมนุษย์ เพื่อตอบคำถามว่าคำไม คนในซีกโลกหนึ่งถึงมีคุณสมบัติเช่นนี้ ทำไมคนในอีกซีกโลกหนึ่งไม่มี มันเกิดขึ้นจากอะไร มันสร้างและหล่อหลอมขึ้นมาจากอะไร มีหนทางที่จะนำมาพัฒนาได้อย่างไร

องค์ความรู้ลำดับที่ 5 เป็นวิชาชีพของผมที่เคยทำงานด้านสื่อสารมวลชนและงานในปัจจุบันทำงานวิชาการด้านสื่อและสื่อสารมวลชน ผมจึงใช้ปรากฏการณ์นี้โอกาสนี้ ในการศึกษาทำความรู้ ทำความเข้าใจ จากการทำงานของสื่อ (media) ทุกสื่อ

ผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศ 1,000 คน ที่ถ้ำหลวง คือ ต้นแหล่งข่าวสารที่สำคัญที่สุด พวกเขารู้ เห็น สัมผัส ขบคิด แก้ปัญหา หาทางออก ถ่ายทอด นำเสนอ ออกมาเป็นข่าวให้คนทั้งโลกรับรู้

กองบรรณาธิการข่าว โปรดิวเซอร์ข่าว แม้อยู่ในสถานีโทรทัศน์ไม่ได้สัมผัสเหตุการณ์จริง แต่เขาเห็นภาพย่อย (a parts) เห็นภาพรวม (a whole) เขาจึงสามารถเชื่อมโยง บูรณการข่าวสาร แหล่งข้อมูล ค้นหาข้อมูล ติดต่อประสานงาน ติดต่อนัดหมาย ฟีดข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามได้ วางแผนการเดินหน้าต่อไปข้างหน้าของข่าว มอบหมายสั่งการ บริหารจัดการให้ผู้สื่อสารแต่ละคนแบ่งบทบาทหน้าที่กันไปปฏิบัติ และเป็นผู้นำข่าวสารทั้งหมดมาผลิต และเผยแพร่ทางหน้าจอโทรทัศน์ ผลผลิตจะออกมาดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ พวกเขาที่อยู่ในสถานีต้องรับผิดชอบ

งานนี้เราจึงเห็นความแตกต่างในการนำเสนอข่าวของแต่ละสถานี 3,5,7,9,11(nbt), Thai PBS, ที่ผันตัวมาจากทีวีแอนาล็อกเดิม กับทีวีที่ตั้งใจมาเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยตรง Nation, Thairath TV, Spring News, PPTV, Work Point News, Amarint, Bright, TNN24, ONE, 8(RS)

สำนักข่าวต่างประเทศระดับโลก ที่มาสร้างโอกาสในการเรียนรู้ด้านการข่าวและการสือสารมวลชนให้กับเราถึงประเทศไทย ABC, CBS, Fox News, New York Times, Reuters, BBC, CNN, Channel 7 และอื่น ๆ เราได้เห็นผู้สื่อข่าวรายงานสดจากหน้าถ้ำหลวงส่งข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ตัดเข้าข่าวด่วน Breaking News ตัดเข้ารายงานพิเศษ Special Report ที่รวดเร็ว

นี่คือคุณประโยชน์ที่คนทำงานวิชาชีพได้รับตรง ๆ เต็ม ๆ

แต่สำหรับคนในแวดวงวิชาการเราจึงมิอาจทำตัวเป็นเพียงแค่ "ผู้ชม" ดูข่าวด้วยความตื่นเต้นด้วยความ "ตื่นตา" เพียงอย่างเดียว แต่เราต้อง "เปิดตา" เปิดสมอง เปิดความคิด เรียนรู้ ศึกษา วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ สังเคราะห์ความรู้ออกมา เพื่อนำไปใช้ในการเรียนรู้ การให้การศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ผู้เรียนต่อไป

บทบาทความเป็นครูอาจารย์ เป็นนักวิชาการ ต้องลุกขึ้นมานำ กระตุ้น ชักชวนให้มาร่วมกันศึกษาหาความรู้ เมื่อได้ความรู้ เกิดความคิดใด ๆ นำมาแลกเปลี่ยน นำมาเรียนรู้กัน แต่มิใช่ครูอาจารย์จะเป็นผู้นำฝ่ายเดียว นิสิต นักศึกษา และผู้เรียนในยุคปัจจุบัน มีความชาญฉลาด มีความไว มีความสามารถทางภาษา พวกเขาอาจเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่า พวกเขาอาจไปรออยู่ข้างหน้าแล้ว

แต่นั่นเป็นเพียงบางส่วน ผู้เรียนส่วนมากในประเทศนี้ยังคงต้องการครูอาจารย์ ต้องการที่ปรึกษา ต้องการผู้นำทางวิชาการ ต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณ การที่ครูอาจารย์ นักวิชาการ และนักคิด ลุกขึ้นมาชักชวนกันให้สนใจและเรียนรู้จากปรากฏการณ์นี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อ การกระตุ้นความสนใจ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ ให้แก่นิสิต นักศึกษา และผู้เรียน

ห้วงเวลา 18 วัน หากเราใช้เวลาและปรากฏการณ์นี้ เพื่อการศึกษา เรียนรู้ เพื่อนำไปแก้ไข ปรับปรุง สร้างสรรค์ และพัฒนา การปฏิบัติงาน การศึกษาค้นคว้า การวิเคราะห์ การวิจัย จะได้คุณประโยชน์อย่างยิ่งยวด

บางทีมันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ของเรา บางทีมันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการและการปฏิบัติของเรา

บางทีมันอาจก่อให้เกิดความตระหนักในบางเรื่อง บางประเด็น ที่เราควรต้องแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนา

ถึงแม้มันจะไม่เกิดอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย แต่มันก็ได้ชื่อว่าเคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้แล้วที่ประเทศไทย

คนงานเหมืองชิลี 33 คน ที่ติดอยู่ในสถานการณ์คับขัน (Trapped Situation) ใต้ดินลึกลงไป 1 กิโลเมตร นาน 69 วัน ยังส่งเสียงข้ามประเทศมาเตือนให้เรียนรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

"ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง" เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังคงเกิด After Effects ตามมาอีกหลายระลอก และส่งผลสะเทือนถึงระบบราชการ ระบบสื่อสารมวลชน รวมทั้งความคิด ทัศนคติ ของประชาชน

จึงขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้ปรากฏการณ์นี้เป็นบทเรียนอันมีค่า หรือเราจะมองเห็นเป็นฝันร้ายที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ตืนเช้านำมาเล่าขาน ไม่กี่วันก็ลืมเลือนกันไป

13 กรกฎาคม 2561 9.45 น.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค