ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การสร้างนวัตกรรม

ความหมายของนวัตกรรม

นวัตกรรม (Innovation) เป็นการทำให้เกิดความคิดและนำความคิดไปทำให้เกิดรูปธรรม สิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่

1. ส่วนแรกคือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มีลักษณะเป็นนามธรรม
2. ส่วนที่สองคือ การประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ (Invention) มีลักษณะรูปธรรม และ
3. ส่วนที่สามคือ การนำนวัตกรรมไปใช้ (Application) มีลักษณะรูปธรรม

ออกซ์ฟอร์ดดิคชันนารีให้คำนิยามไว้ว่า “นวัตกรรม (Innovation) คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สิ่งหนึ่งเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา”  (Making changes to something established by
introducing something new) (The New Oxford Dictionary of English, 1998, p.942)

O’Sullivan and Dooley เห็นพ้องกับการให้คำนิยามของออกซ์ฟอร์ดดิคชันนารี และพวกเขาได้ให้คำนิยามเชิงขยายความอีกว่า

“นวัตกรรม คือ กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สิ่งหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา โดยมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า” (David O’Sullivan and Lawrence Dooley, 2009, p.4) สิ่งที่พวกเขาเน้นคือ “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า” โดยเขาเสนอว่าลูกค้าที่มีประสบการณ์กับมูลค่าเพิ่มจะยิ่งใช้สินค้านั้นต่อเนื่องไปอีก หรืออย่างน้อยที่สุดลูกค้าก็ได้รับประสบการณ์ที่ปรับปรุงดีขึ้นกว่าเดิมซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญเติบโตให้แก่องค์กร

O’Sullivan and Dooley ได้ขยายคำนิยามของนวัตกรรมเพิ่มเติมอีกว่า

“นวัตกรรม หมายถึง กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าและนวัตกรรมนี้ยังช่วยในการและการพัฒนาไปสู่การสร้างความรู้ขององค์กร” (David O’Sullivan and Lawrence Dooley, 2009, p.5)

นอกจากนี้ David O’Sullivan and Lawrence Dooley ยังได้ขยายคำนิยามของพวกเขาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีกว่า

“นวัตกรรม หมายถึง กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งวงกว้างและวงแคบอันสุดโต่ง เพื่อทำให้เกิดผลกำไรเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และบริการ ที่ก่อให้เกิดผลในการสร้างสิ่งใหม่ให้แก่องค์กร อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า และการพัฒนาไปสู่การสร้างความรู้ขององค์กร” (David O’Sullivan and Lawrence Dooley, 2009, p.5)
 เนื่องจากการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์และการสร้างความรู้ เพื่อทำตามพันธกิจองค์กร จึงต้องมีการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรรหาแทนที่ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการที่มีอยู่ ด้วยสิ่งที่มีประสิทธิผลมากกว่า นวัตกรรมจึงเป็นกระบวนการสร้างความรู้ที่ต่อเนื่องที่มีผลต่อการเรียนรู้วิธีการสร้างสรรค์เชิงความรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร อันเป็นการเรียนรู้วิธีการที่จะสร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิผลต่อการจัดการความรู้ในองค์กรและให้ข้อเสนอที่มีศักยภาพต่อการสร้างเสริมความเติบโตขององค์กร

ประเภทของนวัตกรรม

นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผลิตภัณฑ์ (product) กระบวนการ (process) ของการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ การแบ่งประเภทนวัตกรรมบางครั้งมีการแบ่งตามลักษณะที่สังเกตได้จับต้องได้เพราะเกี่ยวกับการผลิตสินค้า แต่ก็มีนวัตกรรมการบริการบางประเภทไม่สามารถสังเกตได้จับต้องได้เพราะเกี่ยวกับการผลิตสินค้าเช่น บริการของโรงพยาบาล สายการบิน บริการของหน่วยงานภาครัฐ

กรณีที่พูดถึงขอบข่ายงานขององค์กร เราจะพบว่าสามารถแบ่งนวัตกรรมออกเป็น 3 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์ (product) กระบวนการ (process) และบริการ (service) (David O’Sullivan and Lawrence Dooley, 2009, p.13)

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) หมายถึง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณประโยชน์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น เครื่องรับโทรทัศน์จอแอลอีดี เครื่องรับโทรทัศน์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ รถยนต์ไฮบริดจ์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือที่จอสามารถพับได้ โทรศัพท์มือถือที่ใช้งานคิดคำนวณได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ราวกับเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง

นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) หมายถึง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณประโยชน์ต่อกระบวนการในการผลิตสินค้าหรือกระบวนการให้บริการ นวัตกรรมกระบวนการ เป็นการปรับปรุงวิธีการในการผลิตสินค้าหรือการส่งมอบสินค้าและบริการ ที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร

คำว่า “กระบวนการ” มีความเชื่อมโยงกับชุดของกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้าให้กลายเป็นผลลัพธ์พิเศษสำหรับลูกค้า จุดสำคัญของนวัตกรรมกระบวนการอยู่ที่ “ทำอย่างไรจึงจะทำให้งานเสร็จเรียบร้อย” (how work is done) ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นมาในองค์กรมากกว่าการสนใจสิ่งที่องค์กรทำ (does)

นวัตกรรมกระบวนการสร้างผลสำเร็จด้านการแก้ไขปรับปรุงองค์กร ตัวอย่างเช่น ทำให้ใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยลง ทำให้ผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น ทำให้ไม่ต้องสต็อกสินค้ามาก หรือมีสินค้าในสต็อกเหลืออยู่ในปริมาณที่เหมาะสมที่สุดหรือไม่ต้องสต็อกสินค้าเลย เช่น ระบบธุรกิจแบบดร็อพชิป (drop ship) หรือทำงานได้เร็วขึ้น มีระบบการขนส่งที่รวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น ระบบการควบคุมการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงงานที่ใช้โปรแกรม AI: Artificial Intelligent ให้ความแม่นยำมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย การใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตสินค้าในโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการจ้างแรงงาน ลดค่าใช้จ่าย การสร้างระบบใหม่ในการตรวจสุขภาพพื้นฐานทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใช้วิธีตรวจวัดไขมัน ความดัน เบาหวาน ด้วยแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถตรวจได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล

ตัวอย่างแนวคิดนวัตกรรมกระบวนการอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) ที่มีแนวคิดหลักคือ การลดรูปแบบ การลดแบบพิธี ในกระบวนการการทุกชนิดลง อันเป็นการลดขั้นตอนที่ทำให้เกิด ความสูญเสียหรือความสูญเปล่า (waste) ทุกชนิดลง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่ม มูลค่า (value) มากขึ้น

การลดความสูญเปล่าลงมี 7 ชนิด คือ การลดเรื่องการขนส่ง การลดเรื่องการประดิษฐ์คิดค้น การลดการเคลื่อนไหวในการทำงาน การลดเวลาในการรอคอย การลดการผลิตเกินความต้องการ การลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น และการลดผลิตภัณฑ์ที่มีตำหนิหรือสินค้าที่มีข้อบกพร่อง (defective product)

นวัตกรรมการบริการ (Service Innovation) หมายถึง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณประโยชน์ต่อการบริการที่ลูกค้าเป็นผู้ใช้บริการนั้น

บริการ (service) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ หรือมองเห็นได้โดยตรง มองไม่เห็นการทำงาน แต่เห็นผลที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้ตู้สมองกลให้บริการผู้ใช้โทรศัพท์มือถือครบวงจร ทำได้ทั้งการตรวจเช็คข้อมูลสถานะปัจจุบัน หนี้ที่ค้างชำระ การชำระเงินค่าบริการ ยอดเงินที่เหลือ การเติมเงิน การแจ้งโปรโมชั่นพิเศษ การยืนคำขอกู้เงินจากธนาคารผ่านเว็บไซต์ การซื้อตั๋วเครื่องบิน การจองที่นั่ง การเช็คอินผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การโอนเงินระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันผ่านทางแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่สะดวกและรวดเร็ว หรือตัวอย่างบริการรถยนต์โดยสารของ Grab หรือ Uber ที่ใช้ระบบการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการระหว่างความต้องการเดินทางของผู้โดยสารกับความสามารถในการให้บริการของผู้ขับขี่รถยนต์ที่เข้าร่วมธุรกิจ ระบบการจัดหาสินค้า เช่น อาหาร ระบบการให้บริการไปซื้ออาหารของ Food Panda, Line Man หรือระบบการให้บริการจัดส่งสินค้าประเภทอาหารของ Lalamove ระบบหารจัดส่งสินค้าของ Kerry

ความแตกต่างระหว่างคุณลักษณะของสินค้า กระบวนการ และบริการ อยู่ที่ ระดับของความสามารถในการมองเห็นได้สัมผัสได้จับต้องได้ (degree of tangibility) ของสินค้า และระดับของปฏิสัมพันธ์ (interrelation) กับลูกค้าหรือผู้ใช้สินค้า คือ

1) ด้านการประดิษฐ์ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์สามารถจัดเก็บได้ แต่บริการจัดเก็บไว้ไม่ได้

2) ด้านเวลาในการตอบสนอง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใช้ระยะเวลาในการตอบสนอง ยาวนานกว่า ส่วนการบริการใช้ระยะเวลาในการตอบสนองสั้นกว่า

3) ด้านทรัพยากร สินค้าหรือผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นสิ่งที่แปลงเป็นทุนหรือแปลงเป็นสินทรัพย์ได้ แต่บริการเป็นทุนด้านแรงงาน


การแบ่งประเภทของนวัตกรรมอีกแนวคิดหนึ่ง
การแบ่งประเภทของนวัตกรรมข้างต้น ต่อมาได้มีนักวิชาการในยุคต่อมาคือ Robert B. Tucker[1] ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมออกเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มใหญ่หรือ 3 ประเภทใหญ่ ดังนี้

1. นวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Product or Service) หมายถึง สิ่งประดิษฐ์คิดค้นอันเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริหารที่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าและองค์กร ๆ มาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริหารที่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าและองค์กร

ตัวอย่างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องโทรทัศน์ชนิดไม่มีจอภาพปรากฏ เครื่องโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่หน้าจอแสดงผลสามารถพับได้ เครื่องสแกนม่านตา โปรแกรมจดจำใบหน้ามนุษย์ (face recognition) ที่นำมาใช้กับแว่นตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรศัพท์มือถือ โปรแกรม AI: Art Intelligent ช่วยให้กล้องในโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปสวยรถยนต์ไร้คนขับ

ตัวอย่างนวัตกรรมบริการ เช่น บริการซื้อตั๋วเครื่องบิน จองที่นั่ง เช็คอิน ซื้อบริการเสริมโดยใช้แอปพลิเคชันในโทรทศัพท์มือถือ

2. นวัตกรรมกระบวนการ (Process) หมายถึง สิ่งประดิษฐ์คิดค้นอันเกี่ยวกับวิธีการในการผลิต (manufacturing) ประสิทธิภาพการผลิต ความเร็วในการผลิต คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า การบริการ ประสิทธิภาพการบริการ ความเร็วในการบริการ คุณภาพของการบริการ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ (management) การลดการใช้วัตถุดิบ การลดต้นทุน การลดพลังงาน การลดแรงงาน การลดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการในการผลิตและการบริการนี้สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ และสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กร นวัตกรรมกระบวนการเป็นวัตกรรมที่ไม่ได้สัมผัสกับลูกค้าโดยตรงลูกค้าไม่สามารถสังเกตเห็นได้ สังเกตเห็นได้ตอนเมื่อเกิดข้อผิดพลาดบกพร่องขึ้นมาในกระบวนการ

ตัวอย่างนวัตกรรมกระบวนการ เช่น กระบวนการผลิตสินค้าโดยใช้พลังงานต่ำ กระบวนการผลิตที่ทำงานโดยใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะควบคุมการผลิตกระบวนการผลิตที่ทำงานโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligent) ออกแบบและควบคุมการผลิต

3. นวัตกรรมกลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง สิ่งประดิษฐ์คิดค้นอันเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่า การเพิ่มคุณค่า การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า การนำเสนอวิธีการขาย วิธีการซื้อ วิธีการใช้ วิธีการบริโภคแบบใหม่ นวัตกรรมกลยุทธ์เป็นสิ่งที่สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง ลูกค้าสามารถรับรู้ได้ มองเห็นคุณค่าแบบเป็นรูปธรรมได้

ตัวอย่างของนวัตกรรมกลยุทธ์ เช่น การออกแบบสร้างสรรค์วิธีการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ของเว็บไซต์อเมซอนดอทคอม (Amazon.com) อีเบย์ดอทคอม (eBay.com) อาลีบาบา (Alibaba.com) เต๋าบ่าว (Taobao.com) ลาซาด้า (Lazda.com)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัทเดลคอมพิวเตอร์ ใช้วิธีการขายตรงกับลูกค้ารับออเดอร์จากลูกค้า ผลิตตามความต้องการ ไม่ต้องสต็อกสินค้า

นวัตกรรมกลยุทธ์เกี่ยวกับการออกแบบสร้างสรรค์วิธีการทำธุรกิจแบบดรอพชิป (dropship) ที่ไม่ต้องมีสินค้าในมือแต่มองหาสินค้าจากแหล่งหนึ่งเอาไปขายอีกแหล่งหนึ่ง

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น บริษัทอีเกียขายเฟอร์นิเจอร์โดยให้ลูกค้าขนสินค้าไปเองนำกลับไปประกอบเอง

นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการค้าปลีกของบริษัทค้าปลีกของวอลมาร์ท (WallMart) ที่ยื่นข้อเสนอแก่ลูกค้าว่า “ราคาที่ถูกกว่าทุก ๆ วัน”

นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ เป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าโดยตรง แต่เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับความคิดเชิงกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา วิธีการปฏิบัติงาน ให้บรรลุผลสำเร็จ แต่ลูกค้ารับรู้ได้ รู้สึกได้ สัมผัสได้ถึงผลที่เกิดขึ้น

ตัวย่างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ด้านการจัดหาสินค้ามาขายลูกค้าเช่น บริษัทเดลคอมพิวเตอร์ขายเครื่องคอมพิวเตอร์โดยเปิดรับออเดอร์จากลูกค้า ทำการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ขากโรงงานผลิต จัดส่งให้แก่ลูกค้า โดยตนเองควบคุมคุณภาพ รับประกันคุณภาพ ให้บริการที่พึงพอใจ

ตัวย่างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ด้านการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าของรถยนต์ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริหารจัดการผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เช่น บริษัท Grab และ Uber ให้บริการรถยนต์โดยสารโดยที่ตนเองไม่มีรถ โดยให้ประชาชนทั่วไปที่มีรถยนต์สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกในฐานะผู้ให้บริการ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการและการติดต่อสื่อสาร ลูกค้าแจ้งความจำนงในการเดินทางผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ บริษัทออกคำถามไปยังสมาชิกผู้ให้บริการว่าสมาชิกรายใดอยู่ใกล้พื้นที่ลูกค้ามากที่สุดและยินดีรับทำงานนี้ เมื่อตกลงกันได้เรียบร้อยสมาชิกผู้ให้บริการจะขับรถไปรับลูกค้าไปส่งยังสถานที่ที่ต้องการ
โดยชำระเงินให้แก่สมาชิกผู้ให้บริการคนนั้น โดยบริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริการครั้งนี้

ตัวย่างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ด้านบริการเดินทาง เช่น สายการบิน South West Airline ให้บริการเดินทางโดยใช้กลยุทธ์ตัดรายการบริการที่นอกเหนือจากบริการพื้นฐานออกมา เช่น บริการเลือกที่นั่ง บริการเครื่องดื่ม บริการสัมภาระที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน แล้วนำมาทำเป็นบริการเสริมให้ลูกค้าเลือกซื้อบริการเสริม วิธีนี้ทำให้สายการบินขายตั๋วเครื่องบินในราคาต่ำเพราะมีเฉพาะต้นทุนจริง ๆ เท่านั้น ปัจจุบันสายการบินแอร์เอเชียก็ใช้แนวคิดนี้ในการทำธุรกิจเช่นกัน


ตัวอย่างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ด้านบริการประกันภัยรถยนต์ ที่ออกแบบมาให้ผู้เอาประกันสามารถเลือกกำหนดได้เองว่าจะเริ่มและจะหยุดเอาประกันเมื่อใด โดยมากจะกำหนดให้เมื่อมีการใช้รถยนต์จะเริ่มเอาประกันและเมื่อเลิกใช้รถยนต์ก็จะหยุดเอาประกัน เท่ากับว่าลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยในขณะที่ไม่ได้ใช้รถยนต์  

ตัวย่างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ด้านการเมืองการปกครองที่ถือเป็นตัวอย่างเชิงความคิดเชิงกลยุทธ์ คือ นโยบาย 66/2523 ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อต่อสู้กับความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองได้สำเร็จหรือนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ของ พลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ ที่มุ่งการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ

วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม

ความเข้าใจเรื่องนวัตกรรม

การที่องค์กรพยายามสร้างนวัตกรรมขึ้นมานั้น เป็นการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ โมเดลธุรกิจแบบใหม่
เพื่อเสนอสิ่งใหม่ให้แก่ลูกค้า ที่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้า ด้วยวิธีการแบบใหม่ ด้วยวิธีการที่ทันสมัย ด้วยวิธีการที่ล้ำหน้า ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งมอบคุณค่าอันวิเศษให้แก่ลูกค้า ด้วยการส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าไม่สามารถหาได้จากองค์กรอื่นสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ

1. เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตขององค์กร
2. เพื่อสร้างรายได้ให้องค์กรเพิ่มขึ้น
3. เพื่อสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรเพิ่มขึ้น
4. เพื่อลดการใช้พลังงาน
5. เพื่อลดการใช้แรงงาน
6. เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์ของการสร้างนวัตกรรม

นวัตกรรมสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ลูกค้าและสร้างคุณค่าในองค์กร การสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ลูกค้าเป็นการสร้างคุณค่าชนิดที่เรียกว่า มีคุณค่าที่ลูกค้ารู้สึกได้ และยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านั้น คุณค่าใหม่ที่จะสร้างให้แก่ลูกค้าจะต้องมีลักษณะสำคัญ 4 ประการดังนี้คื
(1) ต้องมีความโดดเด่นจนลูกค้ารู้สึกได้
(2) ต้องเป็นคุณค่าที่ให้ลูกค้ามากกว่าความคาดหวัง
(3) ต้องมีเอกลักษณ์ที่ลูกค้าไม่สามารถหาได้จากที่อื่น
(4) ต้องสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า เพราะสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

การสร้างคุณค่าในองค์กร เป็นการสร้างคุณค่าที่นำไปใช้ในการสร้างการเจริญเติบโตขององค์กร โดยการคิดค้นวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า บริการ และทรัพย์สินขององค์กรในปัจจุบันและอนาคต

เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม
นวัตกรรมสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. นวัตกรรมสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างการเจริญเติบโต (Growth)
2. นวัตกรรมสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างผลกำไร (Profit)
3. นวัตกรรมสร้างขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดขององค์กรและธุรกิจ (Survival)

หลักการในการสร้างนวัตกรรม
การสร้างนวัตกรรมมีหลักการสำคัญ ดังต่อไปนี้ (West, 1992: 204)
1. คิดเชิงกลยุทธ์ (Think strategic)
การสร้างนวัตกรรมต้องเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ที่ต้องมีการวิเคราะห์และประเมินระหว่างความต้องการของตลาดกับทรัพยากรขององค์กรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไปตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การสร้างนวัตกรรมผู้บริหารธุรกิจและผู้บริหารองค์กรจึงต้องหาวิธีการสร้างความลงตัวระหว่างทรัพยากรขององค์กรกับความต้องการของตลาด เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันและการพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญเติบโตขององค์กร

2. คิดต่าง (Think different)
ไม่มีองค์กรใดสร้างความสำเร็จได้จากการเลียนแบบคู่แข่งขัน การสร้างนวัตกรรมต้องไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าหรือบริการที่ดีเยี่ยมเท่านั้น แต่ผู้บริหารและทีมงานสร้างนวัตกรรมต้องคิดทำในสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่

วิธีการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมตามที่ เอดเวิร์ด เดอร์ โบโน (De Bono) อธิบายไว้คือ การคิดของมนุษย์ 3
ขั้นตอน ได้แก่ (West, 1992: 205)

1) ขั้นตอนที่หนึ่ง การคิดเพื่อสร้างความเข้าใจ (understanding) โดยการใช้การตั้งทำถามว่า “ทำไม” (Why)
อันเป็นสิ่งที่โบโนเรียกว่า ระยะทำไม (Why phase)
2) ขั้นตอนที่สอง การคิดเพื่อค้นหาวิธีการแก้ปัญหา (problem solving) เมื่อได้เข้าใจแล้วว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้นขั้นต่อมาคือการพยายามประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้ไปแก้ไขปัญหา โดยการใช้การตั้งทำถามว่า “ทำไม” (Why not) อันเป็นสิ่งที่โบโนเรียกว่า ระยะทำไมไม่ (Why not phase)
3) ขั้นตอนที่สอง การเกิดความรู้เชิงปัญญา (wisdom) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะอย่างหนึ่ง เป็นการคิดที่ทำให้มนุษย์ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ (possible solutions) อันเป็นสิ่งที่โบโนเรียกว่า ระยะเพราะว่า (Because phase)

การคิดเพื่อสร้างนวัตกรรม องค์กรจะต้องไม่คิดไหลไปตามกระแส ไม่คิดไหลไปตามฝูงชนที่พากันแห่ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ควรจะต้องคิดในทิศทางที่แตกต่างจากกระแส และนำเสนอสิ่งใหม่แก่ตลาด องค์กรจะต้องมุ่งเน้นแนวคิดและบทบาทของการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurism) มากกว่าการเป็นเพียงผู้ตอบสนอง (reaction)

หลักการสำคัญที่องค์กร ผู้บริหาร และทีมงาน ต้องจดจำไว้คือ การสร้างความประหลาดใจ (surprise) คือ ปัจจัยสำคัญในการสร้างการโจมตีตลาดที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด

------------------------------------------------------------------------ เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
ทุกท่านสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ได้ประโยชน์ทางการศึกษาค้นคว้าและการพัฒนาได้ โดยอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล


[1] Robert B. Tucker. Driving Growth through Innovation. อ้างใน สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล องค์กรแห่งการสร้างนวัตกรรม ผู้แปล กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ, 2552 หน้า 33-40










ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค