ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความบกพร่องทางความคิดและความกลวงทางสติปัญญา ในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันแบบไทยๆ..การสื่อสารเพื่อปลูกฝังเรื่องการกระทำผิดคิดชั่วใส่หัวสมองเด็กอนุบาล

ความบกพร่องทางความคิดและความกลวงทางสติปัญญา ในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันแบบไทยๆ..การสื่อสารเพื่อปลูกฝังเรื่องการกระทำผิดคิดชั่วใส่หัวสมองเด็กอนุบาล

        การรณรงค์ปลูกฝังเรื่องทุจริตใส่สมองเด็กอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ แบบใช้อำนาจรัฐบังคับควบคุม โรงเรียนอนุบาลทั้งของรัฐและเอกชน สะท้อนถึงปัญหาความกลวงทางความคิด และความบกพร่องสติปัญญา ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบไทยๆ ของท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สูงด้วยวุฒิภาวะ

         ภาพเด็กหญิงเด็กชายตัวน้อยๆ วัย 3 ขวบ ร้องเพลง "ลา ลา ลา โตไปไม่โกง ลา ลา ลา โตไปไม่โกง" พร้อมแสดงท่าทางประกอบ ในขณะเข้าแถวเคารพธงชาติในตอนเช้าที่โรงเรียนอนุบาล

         ภาพอาจจะดูน่ารักน่าเอ็นดูในสายตาครู อาจจะสร้างความพึงพอใจให้กับคนในหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยในฐานะที่เป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ

         แต่ในทัศนะของผม..มันคือภาพที่สะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของสังคม มันคือภาพสะท้อนความกลวงทางความคิดและสติปัญญาของคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง..!!

         ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เกิดจากการกระทำชั่วของกลุ่มบุคคล 3 ฝ่ายสมคบคิดกัน คือ ฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายเอกชน ที่โกงเงินของรัฐและของประชาชน

         โดยมีฝ่ายที่ 4 คือฝ่ายประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ..!!

         แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำ แต่ก็ได้รับผลกระทบ มิหนำซ้ำสังคมยังกำหนดบทบาทหน้าที่ว่าประชาชนต้องร่วมรับผิดชอบต่อการโกงนั้นด้วย

         แนวคิดนี้ผมไม่โต้แย้ง เพราะประชาชนและสังคมย่อมต้องร่วมรับผิดชอบในผลผลิตของสังคม

         แต่วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น โดยใช้แนวคิดว่า "การป้องกันต้องทำกันตั้งแต่อนุบาลจึงจะได้ผล" เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องขบคิดพิจารณาให้ดีกว่านี้ รอบคอบกว่านี้..!!  

         เมื่อคิดยุทธศาสตร์ป้องกันคอร์รัปชั่นแบบนี้แล้ว รัฐได้ใช้ยุทธวิธีการสื่อสารด้วยการปลูกฝังแนวคิดต่อต้านคนโกงและการโกงเข้าไปปลูกฝังในหัวสมองของคนไทยทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอนุบาล 1 !!

         ผมเห็นว่าแนวคิดและวิธีการแบบนี้เป็นแนวคิดที่อุบาทว์ที่สุด..!! เลวร้ายที่สุด..!! สร้างความเสียหายแก่เด็กตัวเล็กๆ ที่ไร้เดียงสามากที่สุด..!!

         เหตุผลของผม..เด็กอนุบาล 1 อายุเพียง 3 ขวบ ร่างกายกำลังเจริญเติบโตจากวัยทารกไปสู่เด็กปฐมวัย ทุกคนยังดื่มนม ทุกคนยังกินข้าว นอนกลางวัน เด็กส่วนมากร้องไห้กระจองอแง เพราะต้องพรากจากอ้อมอกแม่มาโรงเรียน สภาพจิตใจย่ำแย่ หวาดกลัว อ้างว้าง คิดถึงแม่ คิดถึงบ้าน

         โรงเรียนและครูต้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่ ให้ความรัก ให้ความอบอุ่น..พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็ก..ทั้งด้านกายภาพ เช่น สถานที่ ที่เรียน ที่ทานอาหาร ที่นอน ที่ออกกำลังกาย..และด้านจิตใจ มีครูสองสามคนช่วยกันดูแลสภาพจิตใจเด็ก มีการออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้เป็นการเล่น และการเรียนรู้จากการเล่น play and learn โดยไม่ยัดเยียดความรู้ทางวิชาการ แต่มุ่งจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมกับเด็กอายุ 3 ขวบ เพื่อให้เด็กเกิดความอบอุ่นมั่นคงทางจิตใจ

         ในขณะที่โรงเรียนพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็กอนุบาล..กลับมีการบังคับเชิงนโยบายให้โรงเรียนอนุบาล สอดแทรกแนวคิดและประสบการณ์การกระทำชั่วของคนที่บรรลุนิติภาวะ ไปในสมองของเด็กอนุบาลตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงอนุบาล 3 ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ (matuarity)

         โดยใช้วิธีการให้ครูสอนในชั้นเรียน และใช้วิธีการบังคับให้เด็กร้องเพลง พร้อมกับเต้นและแสดงท่าทางประกอบ ในช่วงเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า

         ภาพที่ปรากฏคือ เด็กร้องเพลงพึมพำไป จำได้บางคำก็ร้อง จำไม่ได้ก็งึมงำทำท่าไปตามครูบอกและครูเต้นนำ

         เด็กวัย 3 ขวบ ในทางจิตวิทยาถือว่า เป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ นักวิชาการด้านจิตวิทยาวิจัยค้นคว้าได้คำตอบว่า ควรสร้างสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็ก ไม่ควรใส่ข้อมูลด้านลบให้แก่เด็กในวัยนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ การจดจำ การเกิดทัศนคติในทางที่ไม่ดี และจะส่งกระกระทบมาถึงตอนโตเป็นเด็กประถม มัธยม อุดมศึกษา

        ความคิดเรื่องการยัดเยียดแนวคิดการต่อต้านการคอร์รัปชั่นใส่สมองเด็กอนุบาลมาจากไหน?? คำตอบคือมาจาก ฝ่ายรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น พยายามทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับปัญหาการคอร์รัปชั่น..คิดค้นยุทธศาสตร์ป้องกัน ทั้งมาตรการทางกฎหมายที่อาศัยการลงโทษเป็นเครื่องมือ มาตรการทางสังคมในการควบคุม ตรวจสอบ และกดดัน และมาตรการทางวัฒนธรรมในการถ่ายทอดปลูกฝังค่านิยม และอุดมการณ์ โดยใช้สื่อมวลชน และการสื่อสาร เป็นกลไกและเครื่องมือ

         ใช้ยุทธวิธีการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรม..เพื่อถ่ายทอดแนวคิดการต่อต้านคอร์รัปชั่น..โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่งคือ โรงเรียนและเด็กนักเรียน..ตัวอย่างเช่น

         ก. การแต่งเพลงสอดแทรกแนวคิด (tied in)
         ข. การเผยแพร่สื่อบทเพลงแบบบังคับยัดเยียดผ่านช่องทางการสื่อสารแบบบังคับควบคุมได้ (control media) เช่น การเข้าแถวตอนเช้า เสียงตามสาย สถานีวิทยุของโรงเรียน
         ค. การบังคับให้เด็กเข้าค่ายอบรม

         หน่วยงานภาครัฐเป็นต้นคิด ร่วมมือกับนักวิชาการในชื่อที่ใช้สร้างความเชื่อถือให้ตัวเองตั้งแต่แรกพูดถึงโดยปราศจากการตรวจสอบความเป็น "อาจารย์" และ "นักวิจัย"ซึ่งความจริงก็เป็นเพียงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

         ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บรรลุนิติภาวะเหล่านี้ อาจจะได้รับอิทธิพลจากหนังสือชื่อ "กว่าจะรอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว" ที่คนญี่ปุ่นเขียนขึ้นเพื่อให้พ่อแม่ใช้เป็นคู่มือสอน อบรม ขัดเกลา เด็กทารก ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ได้ช่วยกันคิดค้นยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี โดยอาศัยข้อมูลจากผลการวิจัยมาชี้ว่า "ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กจึงจะเอาอยู่" ต้องป้องกันตั้งแต่เด็ก จึงจะรับมือกับปัญหาคอร์รัปชั่นได้
   
        นอกจากใช้กลไกรัฐแล้ว ยังใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ในการเผยแพร่ยัดเยียดแนวคิดนี้ให้แก่เด็กอนุบาล

        เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบ ที่พ่อแม่และครูพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีทุกชนิดให้แก่เด็ก พยายามปกป้องภัยอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจที่จะเกิดขึ้นแก่เด็ก..ทั้งที่บ้าน..และที่โรงเรียน..กลับถูกทำร้ายด้วยภัยจากการกระทำอันบกพร่อง ภัยอันคาดไม่ถึงที่เกิดจากคนที่มีความรู้ มีวิชาการ มีอำนาจรัฐในมืิอ

         ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้

          ประเด็นแรกคือ แนวคิด (concept) ของคำว่า การโกง การฉ้อโกง การทุจริต การคอร์รัปชั่น คืออะไร..เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบ รู้จักไหม เข้าใจไหมว่ามันคืออะไร ?? แล้วทำไมผู้มีวุฒิภาวะอย่างเรา กลับคิดไม่ออกว่า มันเหมาะสมไหมที่จะไปยัดเยียดแนวคิดนี้ให้กับเด็กอายุเพียง 3 ขวบ ที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสา (innocent)

          ประเด็นที่สอง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นจากใคร ?? เด็กอนุบาล 3 ขวบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาอย่างไร เด็กมีส่วนร่วมกับการกระทำผิดในฐานะใด ในฐานะตัวการ?? ผู้สนับสนุน ?? 

         ประเด็นที่สาม เด็กต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และบริษัทเอกชน ด้วยหรือไม่ ?? หากต้องร่วมรับผิดจะต้องร่วมรับผิดในระดับมากน้อยเพียงใด ?? 

         ประเด็นที่สี่ แม้เด็กจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมนี้ แต่ก็เป็นสมาชิกที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา (innocent) แตกต่างจากสมาชิกคนอื่นที่เป็นประชาชนทั่วไปที่มีวุฒิภาวะ มีอำนาจเลือกกระหรือไม่กระทำสิ่งมดๆ ได้ด้วยตนเอง..แต่เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบยังขาดวุฒิภาวะ ไม่มีอำนาจในการคิดและกระทำการโดยอิสระ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของพ่อแม่ ครู และโรงเรียน..การเรียกร้องให้เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหากฎหมายและปัญหาสังคมอันชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของคนที่มีวุฒิภาวะ มีอิสระในการคิดการกระทำ (free will)  เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ?? 

         ประเด็นที่ห้า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยแนวคิดและยุทธศาสตร์ "ต้องปลูกฝังจิตสำนึกไม่เป็นคนโกงตั้งแต่อนุบาล" เป็นการปลูกฝังเพาะบ่มความชั่วร้าย (evil mind) ของคำว่า "โกง" ให้แก่เด็กชั้นอนุบาลที่มีอายุระหว่าง 3-5 ขวบ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ ?? 

          ประเด็นที่หก การสมคบร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยฝ่ายออกนโยบาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ในฐานะที่เป็น "ตัวการ" และ "ผู้จ้างวาน" ซึ่งมีแนวคิดในการควบคุม (control) สิ่งต่างๆ ในสังคมด้วยอำนาจรัฐด้วยงบประมาณรัฐ กระทำลงไปด้วยความไม่รู้..ด้วยความบกพร่องทางความรับผิดชอบ..อีกทั้งนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีความกลวงทางความคิดและสติปัญญา..ในฐานะ "ผู้สนับสนุน" เป็นผู้ที่นำความรู้ด้านวิจัยมาใช้ส่งเสริมการกระทำอันเป็นภยันตรายแก่เด็กอนุบาล..ตลอดจนบริษัทผลิตสื่อ บริษัทออแกไนซ์ โดยครีเอทีฟผู้ขลาดเขลาเบาปัญญา..นายทุนผู้โลภมากในการหาเงิน..# หน่วยงานและบุคคลเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่เด็ก (harm to other)   ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร ?? 

         ประเด็นที่เจ็ด การที่พวกคุณเอาปัญหาที่เด็กไม่ได้ก่อ ไปยัดเยียดใส่สมองเด็ก ไปยัดเยียดความรับผิดชอบความชั่วร้ายของสังคมพวกคุณให้แก่เด็กวัย 3 ขวบ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง มีคุณธรรมหรือไม่ ?? 

         บทสรุป..หากพวกคุณไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้..
         หากพวกคุณหมดหนทางสู้..พวกคุณก็ควรยอมแพ้เสียแต่โดยดี..!!
         พวกคุณทั้งหมดนั่นแหละ..ที่จะต้องช่วยกันร้องเพลงแห่งความชั่วร้ายที่เคยยัดเยียดใส่สมองเด็กแบบนี้เสียเอง..

ลา ลา ลา โตไปไม่โกง
ลา ลา ลา โตไปไม่โกง
ลา ลา ลา แก่ไปไม่โกง
ลา ลา ลา แก่ไปไม่โกง
ลา ลา ลา ตายไปไม่โกง
ลา ลา ลา ตายไปไม่โกง

         พวกคุณทั้งหมดนี่แหละต้องรับผิดชอบเอง..มากกว่าที่จะมาบังคับให้เด็กอนุบาลอายุ 3 ขวบร้องเพลงแห่งความชั่วร้ายให้ซึมซับลงไปในจิตสำนึกที่สะอาดบริสุทธิ์ของเด็ก..

         หากพวกคุณไม่ได้ช่วยพ่อแม่ คุณครู และและโรงเรียน ในการดูแลผ้าขาว..
         คุณก็ไม่ควรเอาสีดำมาทาทับลงไปบนผ้าขาวที่บริสุทธิ์เหล่านี้เลย..!!

         ผมขอกราบวิงวอนด้วยความเคารพ

         รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน 
         23 เมษายน 2556

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค