ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 2 การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ

กลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
ตอนที่ 2 การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ

ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน วันที่ 10 พ.ค. 59

2. กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (to change attitude)
การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสมาชิกนิติบุคคลหรือผู้พักอาศัยในหมู่บ้าน บางเรื่องมีความจำเป็นมาก เช่น ทัศนคติต่อการจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคส่วนกลาง สมาชิกนิติบุคคลบางส่วนอาจมีทัศนคติว่าเป็นเรื่องที่ต้องเสียเงินโดยไม่อยากเสีย มีทัศนคติว่าไม่จำเป็นต้องจ่าย หรือถ้าจะจ่ายก็จะจ่ายให้ช้าที่สุด สมาชิกบางคนมีทัศนคติทางลบว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องจ่าย

2.1 กลยุทธ์หลัก (Core strategies)

(1) รู้จักวิธีการใช้กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ (persuasive communication)

(2) การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ (persuasive communication) การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคคลอื่นและทัศนคติของบุคคลในสังคมโดยใช้การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ แบ่งออกเป็น 3 แนวทางหลัก (approaches) ตามทฤษฎีของอริสโตเติ้ล ได้แก่

ก. การโน้มน้าวใจโดยใช้เหตุผล (Logos)
ข. การโน้มน้าวใจโดยใช้อารมณ์ (Ethos)
ค. การโน้มน้าวใจโดยใช้บุคคล (Pathos)

(3) การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป โดยต้องใช้สารและสื่อที่มีพลังและมีประสิทธิภาพต่อการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ (belief) ของผู้คนที่สั่งสมมาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว

(4) กลุ่มอ้างอิง (referent group) มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคคลเป็นอย่างมาก

(5) ผู้นำทางความคิดในสังคม (opinion leader) มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคคลเป็นอย่างมาก

(6) การใช้สื่อมวลชนมีผลต่อการรับรู้ (perception) และการตระหนักรู้ (awareness) มาก แต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติไม่มากนัก

(7) สื่อบุคคล มีอิทธิพลและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคคลมาก ช่วยยืนยัน (confirm) ช่วยสนับสนุนการนำเสนอของสื่อมวลชนได้ดียิ่งขึ้น

(8) สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย (social media) การบอกเล่าแบบปากต่อปาก มีอิทธิพลและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคคลมาก

2.2 กลยุทธ์เกี่ยวกับสาร (Message strategies)

(1) การหักล้างทัศนคติทางลบ (negative attitude decrease) ควรนำเสนออธิบายเหตุผล ความจำเป็น ที่ต้องมีการดำเนินการในเรื่องนั้น ถ้าหากไม่ทำจะเกิดผลเสียต่อสมาชิกแต่ละท่านอย่างไร และจะเกิดผลเสียต่อสมาชิกโดยรวมทั้งหมู่บ้านอย่างไร พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าหากสมาชิกให้ความร่วมมือจะเกิดผลดีอย่างไร

จุดสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางลบ คือ การนำเรื่องความปลอดภัย สุขภาพอนามัย ความทุกข์ ความสุขที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นที่รัก เช่น ลูก หลาน เด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย คนในครอบครัว มาเป็นประเด็นในการสื่อสารกับสมาชิกนิติบุคคลผู้พักอาศัยในหมู่บ้าน

(2) การเสริมสร้างทัศนคติทางบวก (positive attitude increase) ควรนำเสนอข้อมูลที่บ่งบอกถึงคุณประโยชน์ คุณค่า ความสำคัญ ความหมาย ผลในทางที่ดีที่จะเกิดขึ้นแก่สมาชิกนิติบุคคลผู้พักอาศัย ถ้าหากมีการดำเนินงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

(3) การตอกย้ำทัศนคติที่ดี (positive attitude confirmation) ควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นการแสดงความชื่นชม ยกย่อง สรรเสริญ ให้เกียรติ ต่อบุคคลที่ทำสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และประกาศชื่อเสียงเกียรติคุณของบุคคลนั้นให้สาธารณชนรับรู้ทั่วกัน เพื่อเป็นการให้การเสริมแรง (reinforcement) ให้แก่บุคคลที่ทำความดี ให้ยังคงมีความเชื่อมั่น มีความศรัทธา มีความแน่วแน่ในการทำความดีต่อไป

2.3 กลยุทธ์เกี่ยวกับสื่อ (Media strategies)

(1) กรณีที่เป็นการหักล้างทัศนคติทางลบ ควรเลือกใช้สื่อทั้งสองชนิดคือสื่อสารแบบทางเดียว เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์ และสื่อแบบสองทาง เช่น การพบปะพูดคุย ทำความเข้าใจ การประชุมกลุ่ม การชี้แจง การแถลงข่าว นอกจากนี้ยังควรเลือกใช้สื่อบุคคลที่เป็นกลุ่มอ้างอิง (reference group) ที่บุคคลนั้นให้ความเชื่อถือ เช่น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท รวมทั้งการใช้สื่อผู้นำทางความคิด (opinion leader) ที่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ผู้คนให้การยอมรับนับถือ เป็นผู้ช่วยในการเจรจาสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

(2) การเสริมสร้างทัศนคติทางบวก ควรเลือกใช้สื่อทั้งสองชนิดคือ สื่อที่สามารถส่งตรงถึงตัวบุคคลที่มีทัศนคติทางบวก เช่น จดหมายส่งตรง ไลน์ อีเมล์ และสื่อที่แพร่กระจายในวงกว้าง เพื่อสร้างการรับรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดทัศนคติในทางบวกเพิ่มขึ้น เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ยูทูบ จดหมายข่าว จุลสาร เสียงตามสาย นอกจากนี้ยังควรเลือกใช้สื่อผู้นำทางความคิด (opinion leader) ที่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ผู้คนให้การยอมรับนับถือ เป็นผู้ช่วยในการเจรจาสื่อสารสร้างเสริมพลัง สร้างเสริมกำลังใจ ให้การสนับสนุน บุคคลที่กระทำความดี

(3) การตอกย้ำทัศนคติที่ดี ควรเลือกใช้สื่อทั้งสองชนิดคือ สื่อที่สามารถส่งตรงถึงตัวบุคคลที่มีทัศนคติที่ดี เช่น จดหมายส่งตรง ไลน์ อีเมล์ และสื่อที่แพร่กระจายในวงกว้าง เพื่อสร้างการรับรู้ เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง ชื่นชม นับถือในหมู่สาธารณชน เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ยูทูบ จดหมายข่าว จุลสาร เสียงตามสาย การกล่าวแสดงความชื่นชมในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 
วันที่ 10 พ.ค. 59

โทรศัพท์มือถือ : 081 4466 951
ไลน์ไอดี : americano1515

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค