ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ลักษณะการทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ตอนที่ 1

ลักษณะการทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน

(บทความนี้อ้างอิงมาจากงานเขียนเรื่อง "จริยธรรมสื่อสารมวลชน" ในปี พ.ศ. 2547 โดย ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน )
                การทำงานของสื่อมวลชน เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การนำข่าวสารมาเผยแพร่และรายงานให้ประชาชนทั่วไปทราบ

                นอกจากนี้สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแล และ "ตรวจสอบความจริง" ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตลอดจนการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ

                การดำเนินงานของสื่อมวลชนในบางครั้งอาจไปกระทบกระเทือน รุกล้ำต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้ ทั้งโดยรู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว ในบางครั้งแม้สื่อมวลชนจะมีความปรารถนาดีต่อสังคมส่วนรวม แต่ความปรารถนาดีนั้นก็หาได้มีสิทธิพิเศษที่จะสร้างความกระทบกระเทือนต่อบุคคลอื่น 

                การกระทำของสื่อมวลชนบางเรื่องมีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดแจ้งว่าจะกระทำมิได้ แต่ในบางเรื่องกฎหมายมิได้เขียนห้ามไว้ แต่สื่อมวลชนยังต้องคำนึงถึงหลักว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ที่สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และสังคมช่วยกันกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็น การควบคุมกันเองของสื่อมวลชน (Self Regulation)

               ถึงแม้มิได้มีกฏเกณฑ์ปรากฏชัดแจ้งเป็นเอกสาร แต่สื่อมวลชนก็ยังมี "ความรับผิดชอบในตัวเอง" (Self responsibility) และต้องมี "มโนธรรมสำนึก" (Conscience) ที่จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักคุณธรรม หลักจริยธรรม และหลักมโนธรรม ที่สื่อมวลชนพึงจะมีในฐานะหน้าที่ของตน

                ลักษณะการกระทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ จนได้ข้อสรุปว่า หากสื่อมวลชนมีการกระทำเช่นว่านี้ อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการการทำผิดหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชน และจริยธรรมในวิชาชีพนิเทศศาสตร์ 
                อนึ่ง คำว่า สื่อมวลชน ในที่นี้หมายถึง บุคคลผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ อาจทำผิดจริยธรรมได้หลายลักษณะดังต่อไปนี้

            5.1 การโกหกและการหลอกลวง
                การโกหกและการหลอกลวง (Lying and Deception) ของสื่อมวลชนอาจเกิดขึ้นได้หากสื่อมวลชนขาดจริยธรรม สื่อมวลชนอาจเสนอข่าวที่ไม่เป็นจริงต่อประชาชนและสังคม เนื่องจากสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ การเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนของสื่อมวลชนแขนงนั้น หรือจากการเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนของบุคคลผู้ปฏิบัติงานในสื่อมวลชนแขนงนั้น

5.2 การเสแสร้ง
    สื่อมวลชนอาจมีการเสแสร้ง (Fake it) ทำเหมือนไม่รู้ความจริง แต่อันที่จริงรู้ความจริงดี และนำเสนอข่าวสารเรื่องราวไปทั้งๆ ที่รู้ แต่เนื่องจากข่าวสารนั้นประชาชนกำลังให้ความสนใจติดตาม หรือเป็นข่าวที่ขายได้และขายดี

5.3 การบิดเบือน
    การบิดเบือน (Distort) ของสื่อมวลชน ต่างกับการโกหกและหลอกลวง ซึ่งไม่มีความจริงอยู่เลย แต่สำหรับการบิดเบือนมีความจริงอยู่ แต่มีการแต่งเติมความจริงนั้นให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริงดั้งเดิม


5.4 การนำเสนอความจริงครึ่งเดียว
   การนำเสนอความจริงครึ่งเดียว (Half truth) เป็นกรณีที่สื่อมวลชนรู้ความจริงทั้งหมด หรือรู้ความจริงสองด้าน (both side) แต่สื่อมวลชนเลือกที่จะเสนอความจริงเพียงด้านเดียว อาจเพื่อผลประโยชน์บางประการของสื่อมวลชน หรือของบุคคลผู้ปฏิบัติงานในสื่อมวลชนนั้น

5.5 การสร้างเหตุการณ์เทียม
     เหตุการณ์เทียม (Pseudo event) หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเสมือนจริง ไม่เท็จแต่ไม่จริง บางครั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างความจริงกับความไม่จริง บางครั้งมีสภาพที่ไม่ชัดเจนหรือเบลอๆ  
   ตัวอย่างเช่น ในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ ผู้ผลิตรายการต้องการให้รายการสนุกสนาน มีบรรยากาศเหมือนการแข่งขันต่อหน้าประชาชนผู้ชมจริงๆ จึงได้นำประชาชนจำนวนหนึ่งมาส่งเสียงเชียร์ในห้องถ่ายทำรายการ เสมือนว่ามีผู้ชมจริงๆ จากทางบ้านมานั่งชมรายการ จะสังเกตได้ว่ามีความจริงอยู่ก็คือ มีประชาชนมานั่งชมจริงๆ ไม่ใช่พนักงานของบริษัทผู้ผลิตรายการ มีการส่งเสียงเชียร์จริงๆ ไม่ใช่เสียงเชียร์พนักงานของบริษัทผู้ผลิตรายการเอง แต่ประชาชนมานั่งชมรายการเกือบทุกครั้งจะเป็นคนชุดเดิม มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรางวัลจูงใจ เสียงเชียร์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการกำกับควบคุมให้สัญญาณโดยพนักงานของบริษัทผู้ผลิตรายการ 
  จึงเป็นประเด็นปัญหาว่าการสร้างความจริงเทียม อันเกิดจากเหตุการณ์เทียมนี้ น่าจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมด้วยหรือไม่

5.6 การละเมิดสิทธิส่วนตัวบุคคลอื่น
   การละเมิดสิทธิส่วนตัวบุคคลอื่น (Privacy Right) สื่อมวลชนทำหน้าที่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ต้องมีขีดจำกัดมิให้ไปล่วงละเมิดชีวิตส่วนตัวของบุคคลอื่นเกินความจำเป็น บุคคลทุกคนต่างมีสิทธิตามธรรมชาติและมีสิทธิตามกฎหมาย ดังเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 25550 มาตรา 35

    มาตรา 35 สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง

      การที่สื่อมวลชนจะแสวงหาข่าวสารเพื่อนำมารายงานนั้น ในบางครั้งอาจไปกระทบต่อสิทธิในชีวิตหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นได้ ในบางกรณีอาจไปกระทบต่อเกียรติยศ หรือชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นได้ เช่น ไปกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคล การรุกล้ำความเป็นอยู่ส่วนตัว เช่น การพักผ่อนส่วนตัวกับบุคคลในครอบครัวในช่วงวันหยุด

5.7 การซ้ำเติมผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม
   เหยื่ออาชญากรรม (Victim) เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ บอบช้ำ เสียใจทุกข์ทรมานจากการกระทำผิดของอาชญากร ซึ่งกล่าวได้ว่ามีความทุกข์มากพออยู่แล้ว แต่บางคราวสื่อมวลชนเองอาจไปซ้ำเติมผู้เสียหายให้ได้รับความทุกข์มากขึ้นอีก เช่น กรณีเด็กหรือสตรีถูกข่มขืน สื่อมวลชนรายงานข่าวอย่างละเอียด แสดงถึงการกระทำของคนร้ายว่าทำอย่างไรทำให้ผู้เสียหายคิดย้อนถึงการกระทำนั้นอีก มีการเปิดเผยชื่อที่อยู่ของผู้เสียหายทางอ้อมทำให้คนในสังคมรู้ว่าเป็นใครทำให้เกิดความอับอาย บางกรณีเหยื่ออาชญากรรมเสียชีวิตไปแล้ว การรายงานข่าวของสื่อมวลชนอาจไปซ้ำเติมความเสียใจของญาติผู้เสียหาย ไปทำให้ญาติของผู้เสียหายเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงได้

5.8 การอคติลำเอียง
     การอคติลำเอียง (Bias) เกิดขึ้นจากอคติ 4 ประการ ได้แก่ ฉันทาคติคือความพอใจ โลภะคติคือความโลภ โทสะคติคือความโกรธ โมหะคติคือความหลง เป็นเหตุให้สื่อมวลชนเลือกที่จะนำเสนอข่าวไปในทิศทางใดทางหนึ่งตามความเชื่อความรู้สึกของตนเอง โดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

5.9 การไม่เที่ยงธรรม
การไม่เที่ยงธรรม (not Impartiality) เกิดจากการที่สื่อมวลชนขาดสติ ขาดความยั้งคิด ขาดความไตร่ตรอง ขาดการใช้เหตุผลในการตัดสิน ขาดความรู้ในการติดสิน ทำให้สื่อมวลชนเสนอข่าวหรือความคิดเห็นไปในทางที่ไม่เป็นธรรม ไม่เที่ยงตรง

5.10 การมีผลประโยชน์ทับซ้อน
       การมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of interest) เกิดจากการที่ผู้ประกอบการสื่อมวลชนเองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนแขนงหนึ่งมีหุ้นส่วนในกิจการสถานบันเทิงสำหรับเด็กวัยรุ่น จึงหลีกเลี่ยงที่จะเสนอข่าวสารการเที่ยวเตร่ของเด็กวัยรุ่น หลีกเลี่ยงที่จะเสนอข่าวสารความคิดเห็นกระตุ้นการทำงานของตำรวจให้กวดขันจับกุมสถานบริการที่ผิดกฎหมาย

>> ยังมีต่อ-ขอเชิญติดตามอ่านต่อได้ในตอนต่อไป >>

เขียนโดย รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน

หมายเหตุ
1. เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน
ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ปี พ.ศ. 2547
2. นำมาอ้างอิงเผยแพร่ซ้ำในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรมสื่อสารมวลชน หน่วยที่ 5 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2548
3. นำมาอ้างอิงเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรมสื่อสารมวลชน หน่วยที่ 5 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2550
  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค