ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประชาสังคม: นิยาม ความหมาย และลักษณะของความเป็นประชาสังคม

ความหมายและความสำคัญของประชาสังคม

                ประชาสังคม มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society ซึ่งผู้ให้คำจำกัดความเป็นภาษาไทย และให้คำอธิบายที่แม้จะแตกต่างกัน แต่หากวิเคราะห์ฐานคิดแล้วกล่าวได้ว่า มีแนวคิดความเชื่อในแนวเดียวกัน (ชูชัย ศุภวงศ์ ประชาสังคม: คำ ความคิดและความหมาย 2540)

1. ความหมายของประชาสังคม


                ประเวศ วะสี ในงานเขียน "สังคมสมานุภาพและวิชชา"  ที่มีสาระสำคัญโดยสรุปคือ ภาคส่วนหลักของสังคมไทยที่มีความเข้มแข็งและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมาก คือ ภาครัฐ หรือ"รัฐานุภาพ " และภาคเอกชน หรือ"ธนานุภาพ"  ส่งผลให้สังคมขาดดุลภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนาของฝ่ายประชาชน หรือภาคสังคม ซึ่งเรียกว่า "สังคมานุภาพ"  ดังนั้น แนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี คือ การเกื้อหนุนให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง และเกิดดุลภาพทางสังคม ที่เรียกว่า "สังคมานุภาพ" ซึ่งต้องมีการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน โดย "ชุมชน" ในที่นี้หมายถึง "การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกัน หรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือมีการรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติบางสิ่งบางอย่าง และมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม" ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี มองว่า การที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของภาคสังคมต่างๆ ซึ่งหมายรวมภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนด้วย "สังคมานุภาพ" ซึ่งเกิดได้ด้วยกระบวนการถักทอความรักของคนในสังคม ของคนในชุมชน ถักทอทั้งในแนวดิ่ง อันหมายถึงโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการ และแนวนอน ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพันธมิตร -  เพื่อน -   เครือข่าย จะเห็นได้ว่าความหมายของประชาสังคมของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี มิได้ปฎิเสธรัฐ หรือCivil Disobedience  แต่อย่างใด

              ชัยอนันต์  สมุทวณิช เห็นว่า "ประชาสังคม" หมายถึง ทุกๆ ส่วนของสังคม โดยรวมถึงภาครัฐ ภาคประชาชนด้วย  โดยนัยยะนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์  สมุทวณิช ให้ความสำคัญกับ Civic movement หรือ"วิถีประชา" ที่เป็น การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มองค์กรต่างๆ โดยไม่มีการจัดตั้ง แต่เอาตัวกิจกรรมเป็นศูนย์กลาง ดังที่ท่านนำเสนอในยุทธศาสตร์การพัฒนาในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 คือ ยุทธศาสตร์ AFP - Area - Function - Participation  ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่อาจเป็นจังหวัด  อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น เขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นต้น

                ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของ "ประชาสังคม" หรือ "อารยสังคม" ที่ครอบคลุมทุกชนชั้นของสังคม และเน้นเรื่องความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว ความกลมกลืนในภาคประชาสังคม แต่ ดร.เอนก ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็น  "ชนชั้นกลาง"  "การมีส่วนร่วม" "ความผูกพัน"และ"สำนึกของความเป็นพลเมือง"  

                 กล่าวคือ ประชาสังคมโดยนัยยะนี้มิได้หมายถึงความเป็นชุมชนของสังคมชนบทเท่านั้น แต่หมายรวมถึง คนชั้นกลางภาคเมือง ที่ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติ หรือไม่มีความคุ้นหน้า  (face to face relation)  แต่เป็น ความผูกพันที่ผู้คนหลากหลายมีต่อกัน บนพื้นฐานของความร่วมมือและการแสวงหาความมีส่วนร่วม และด้วยสำนึกที่มีต่อความเป็นพลเมือง  (Citizenship)   นอกจากนี้ ดร.เอนก ยังตั้งข้อสังเกตต่อรากฐานของคนไทยและสังคมไทยว่า คนไทยส่วนมากยังมีระบบวิธีคิดว่าตนเองเป็นไพร่ หรือคิดแบบไพร่ ที่จะต้องมีมูลนายที่ดี โหยหาคนดี จึงมักขาดสำนึกของความเป็นพลเมือง และมองปัญหาในเชิงโครงสร้างไม่ออก อย่างไรก็ตาม ดร.เอนก ได้ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้ "ประชาสังคม" เป็นแนวคิดเชิงอุดมการณ์ทางสังคม ดังที่กล่าวว่า "ผมขอเสนอให้เรื่อง Civil Society เป็นเรื่องของอุดมการณ์ จะต้องมีคำขึ้นมาก่อน ไม่มีคำก็ไม่มีความคิด ไม่มีความคิดก็ไม่มีอุดมการณ์ เพราะฉะนั้น คำว่า Civil Society ต้องสร้างให้เป็น Concept อย่างเช่น วัฒนธรรมชุมชน จึงจะเห็นมีพลัง มีประโยชน์ "

                ธีรยุทธ บุญมี  มองว่า การแก้ปัญหาพื้นฐานทางสังคมควรให้ความสำคัญกับ "พลังที่สาม" หรือ "พลังของสังคม" เพราะถ้าสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง นักธุรกิจ นักวิชาชีพ นักศึกษา ปัญญาชน ชาวบ้าน สามารถร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันสังคม ปัญหาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ "สังคมเข้มแข็ง" ในความหมายของ อาจารย์ธีรยุทธ จะเน้นที่ การกระจัดกระจายของพลังทางสังคมที่มาจากทุกส่วน ทุกวิชาชีพ ทุกระดับรายได้ ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งโดยนัยยะนี้จะแตกต่างจากแนวคิด "ประชาชนเป็นใหญ่" หรือ "อำนาจของประชาชน" ดังเช่นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต

                ชูชัย  ศุภวงศ์  ให้ความหมายของ "ประชาสังคม" ที่กว้างขวางและกลมกลืนกับบริบทของสังคมไทย กล่าวคือ ประชาสังคม หมายถึง เมื่อเกิดวิกฤติการณ์หรือสภาพปัญหาในสังคมที่สลับซับซ้อนยากแก่การแก้ไข ผู้คนในสังคมมาร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งนำไปสู่การก่อจิตสำนึก  (Civic consciousness)  ร่วมกัน มารวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือองค์กร  (Civic group)  ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคสังคม  (ประชาชน)  ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนกัน  (Partnership)  เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา หรือกระทำการบางอย่างให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ด้วยความรัก ความสมานฉันท์ ความเอื้ออาทรต่อกัน ภายใต้ระบบการจัดการโดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  (Civic network)  ทั้งนี้ นพ.ชูชัยได้เสนอว่า ขบวนการประชาสังคมของไทยได้มีพัฒนาการและความเข้มแข็ง เชื่อมโยงเครือข่ายกันมากพอสมควร โดยเฉพาะเครือข่ายของชาวบ้านและเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการแสวงหาทางเลือกเพื่อการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของสังคม แต่ นพ.ชูชัยได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญว่า   สภาพสังคมปัจจุบันมีเงื่อนไขที่เป็นกระแสเหนี่ยวรั้งไม่ให้กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของสังคมเติบโตขึ้น อาทิ ระบบพรรคการเมือง รัฐไทย และระบบราชการ ระบบการศึกษา ความสัมพันธ์แนวดิ่งในสังคม และสื่อมวลชนที่ขาดอิสระ

                จากการอธิบายความหมาย ประชาสังคม ที่ยกมาข้างต้น ซึ่งเป็นคำอธิบายบนพื้นฐานของสถานการณ์หรือบริบทของสังคมไทยร่วมสมัย ทั้งยังมีลักษณะแสดงความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของสังคมไทย อย่างไรก็ดี  ความต่าง ความเหมือน ในคำอธิบาย รวมทั้งการวางน้ำหนัก หรือให้ความสำคัญที่เหมือนหรือต่างกันของผู้ให้คำอธิบาย ไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องท่องจำ หรือนำไปออกข้อสอบว่าใคร อธิบายอย่างไร และก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้เขียนจะรวบ หรือเลือกคำอธิบายที่อ้างถึงแล้วสรุปเขียนเป็นนิยามใหม่อีกชุด เพราะหากนักศึกษาได้อ่านต่อไปในเรื่อง ลักษณะสำคัญของ ประชาสังคมแล้ว จะเห็นว่า การทำความเข้าใจเรื่องประชาสังคม โดยเฉพาะ คำอธิบาย หรือการนิยาม ไม่จำเป็นต้องท่องจำว่า คืออะไร หรือใคร อธิบายอย่างไร แต่ควรจับสาระสำคัญของคำอธิบายของแต่ละคน เพื่อเปรียบเทียบกับลักษณะที่สำคัญของประชาสังคม เพื่อเข้าใจในจุดยืนหรือจุดเน้นของผู้ให้คำอธิบาย และเมื่อศึกษาต่อในเรื่องความสำคัญ และรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะทำให้นักศึกษามีความเข้าใจเชิงประจักษ์และกำหนดนึกได้ด้วยตนเองว่า ประชาสังคม คืออะไร

2. ลักษณะหรือองค์ประกอบสำคัญของความเป็นประชาสังคม

                2.1 ความหลากหลาย  (Diversity)   ความหลากหลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคม สังคมใดขาดความหลากหลายก็จะเป็นสังคมที่ขาดการเรียนรู้ ขาดจินตนาการ และไม่มีปัจจัยผลักดันการพัฒนา ความหลากหลายในประชาสังคมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาก เพื่อให้ได้รู้จักและเข้าใจความต้องการของกันและกัน  ความหลากหลายยังแบ่งได้เป็น
                      - ความหลากหลายของการกำหนดพื้นที่ เช่น อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ป๊อก คุ้ม เขต แขวง ย่าน ละแวกบ้าน ถนน โรงเรียน
                      - ความหลากหลายของภูมินิเวศ เช่น ลุ่มน้ำ สายน้ำ คลอง เขตเศรษฐกิจ เขตนิคมอุตสาหกรรม เขตพื้นที่ชายฝั่ง
                      - ความหลากหลายของลักษณะการรวมตัว เช่น กลุ่ม ชมรม องค์กร สมาคม สถาบัน มูลนิธิ สภา สมาพันธ์ สหกรณ์ คณะกรรมการ
                       - ความหลากหลายของกลุ่มคนที่มารวมตัว เช่น ต่างวัย อายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ การศึกษา ฐานะ อาชีพ ความพิการ ความด้อยโอกาส ฯลฯ   
                       - ความหลากหลายของกิจกรรมซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นไปตามความถนัดและความสนใจของกลุ่มองค์กรที่รวมตัวกัน เช่น กลุ่มที่ให้ความสนใจในการรณรงค์ เผยแพร่ ก็อาจจะมีรูปแบบของกิจกรรมด้านสื่อและการสื่อสาร กลุ่มที่สนใจด้านการศึกษาหาความรู้ ก็อาจจะมีรูปแบบกิจกรรมด้านการศึกษา วิจัย เป็นต้น 
                      - ความหลากหลายของประเด็น/ปัญหา/ความสนใจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการรวมกลุ่มกัน อันทำให้เกิดกลุ่มหลากหลายในสังคม เช่น กลุ่มที่สนใจด้านการออมทรัพย์ กลุ่มที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย กลุ่มที่ทำงานเชิงประเด็นป่าชุมชน เป็นต้น

                 2.2 ความเป็นชุมชนที่แท้  (True community)  ความเป็นชุมชนที่เป็นประชาสังคมอาจเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ที่สังคมถูกกดดันอย่างถึงที่สุด จนทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากันเพื่อเผชิญกับปัญหา จัดเป็น ชุมชนที่เกิดจากวิกฤติ หรือcommunity by crisis แต่ความเป็นชุมชนก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความตั้งใจ หรือความปรารถนาร่วมกันของคนในสังคมที่กำหนดความต้องการว่าจะให้ชุมชนเป็นอย่างไร หรือการออกแบบชุมชนที่พึงปรารถนา หรือcommunity by design จะด้วยเหตุใดก็ตาม  ความเป็นชุมชนที่แท้  ต้องดำเนินไปบนค่านิยมและบรรทัดฐานของชุมชน  (Norm of Civic Community)  ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความไว้วางใจและชื่อถือกัน  (Trust)  การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  (Reciprocity)  ความอดทนอดกลั้นต่อความขัดแย้ง  (Tolerance)  การเปิดกว้างยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย  (Inclusion)  ทำให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบที่หลากหลาย ค่านิยมและบรรทัดฐานที่กล่าวมา คือจิตสำนึกทางสังคม หรือสำนึกสาธารณะหรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม  จะเห็นได้ว่า ความเป็นชุมชนที่แท้ จึงแตกต่างจากการสร้างภาพลวงของชุมชนเข้มแข็ง   (pseudo community)  เช่น การออกแบบกิจกรรมให้ผู้คนมากมายเข้าร่วม แต่เป็นลักษณะ "เฮโลสาระพา" ที่ไม่มีความผูกพัน ความเข้าใจ หรือความสำนึกร่วมสู่เป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันแต่อย่างใด

                   2.3 สำนึกสาธารณะหรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม  (Public consciousness)  จิตวิญญาณที่ตื่นรู้และรับผิดชอบ  (Strong spirit , Active citizen & Responsibility)  นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  (ศักยภาพประชาคมในการจัดการปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก 2546)   ใช้คำว่า "จิตสำนึกประชาสังคม"  (Civic Consciousness)  ที่หมายถึง "ความตื่นตัวของสังคม และการยอมรับของสาธารณชนถึงความสำคัญของคุณธรรมแห่งประชาสังคม  (Civic Virtue)  โดยการเห็นความสำคัญ และเคารพในคุณค่าของความคิดริเริ่มอิสระของปัจเจกบุคคลที่จะทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม ไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของอำนาจการเมืองที่เป็นทางการ  (Official Political Authority)  และเน้นการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจในการสร้างสรรค์สังคม"  โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

                         ภายใต้กรอบความคิดเดิม ผู้คนทั่วไปมักถูกทำให้เข้าใจว่า บ้านเมือง การเมือง เป็นเรื่องของรัฐบาลและนักการเมืองเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังขาดสำนึกความเป็นพลเมือง หรือสำนึกหน้าที่พลเมืองและการมีส่วนร่วมหรือบทบาททางการเมือง จนมีบทบาทเพียง "คนเชียร์มวย"  "คนเกาะรั้วดู" ด้วยการทำหน้าที่มีส่วนร่วมเพียงลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ ในแนวคิดและวิถีประชาสังคม การเมืองมีความหมายเป็น "การเมืองภาคประชาชน" หรือ Public politics ที่พลเมืองแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการกำหนดอนาคตของตนเอง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการรับรู้และการตัดสินใจร่วมกัน ก่อนการร่วมลงมือปฏิบัติ การเมืองในความหมาย"การเมืองภาคประชาชน" มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นความขัดแย้ง ที่จำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม รวมทั้งการใช้สติปัญญาและเหตุผล อันเป็นจุดเริ่มของกระบวนการพัฒนาสำนึกสาธารณะ หรือความรู้สึกเกี่ยวข้องและเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยประเด็นหรือปัญหานั้น จะถูกยกระดับเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ต้องมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ (Public dialogue)   เพื่อนำไปสู่การไตร่ตรองอย่างรอบด้าน (Public deliberation)  ก่อนการตัดสินใจหรือเลือกทางออกที่ดีที่สุด ที่ยอมรับร่วมกันได้ และรับผิดชอบร่วมกันในการปฏิบัติหรือลงมือกระทำ และรับผลจากการกระทำนั้น  (Public responsibility)  ประชาสังคม จึงเป็นกระบวนการในการกำหนดและค้นหา ประเด็น หรือปัญหาสาธารณะ ที่ไม่ตายตัว ไม่หยุดนิ่ง มีความตื่นตัวของกระบวนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จึงสร้างทักษะของการขบคิดที่นำไปสู่การพัฒนาวาทกรรมเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ (Public discourse)  และกระบวนการประชาสังคม อย่างต่อเนื่อง

                สำนึกสาธารณะหรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม  เป็นคุณลักษณะสำคัญของประชาสังคม เพราะเป็นสิ่งสร้างพลัง ความมุ่งมั่น ในการร่วมผลักดันเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ในบ้านเรามีกลุ่มประชาสังคมมากมาย ทั้งกลุ่มกดดัน กลุ่มความสนใจร่วม กลุ่มอาสาสมัคร ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ มักไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีพลัง ในขณะที่กลุ่มองค์กรที่มีพลัง และความเข้มแข็ง คือ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มองค์กรทางการปกครอง ไม่ใช่กลุ่มสังคมประชาหรือประชาสังคม อย่างไรก็ดี ประชาสังคมต้องเกิดจากสำนึกของพลเมือง บนพื้นฐานของการพัฒนาหรือเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติของวิถีชุมชน ไม่ใช่โดยคำสั่ง โดยการจัดตั้ง หรือโดยการแต่งตั้งจากกลไก และอำนาจของภาครัฐ เพราะจะมีผลต่อความเป็นอิสระของการดำเนินกิจกรรม และในที่สุดก็จะไม่ต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนหรือสั่งการจากภายนอก  ในขณะที่การเกิดและเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติย่อมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงระดับแห่งสำนึกของความเป็นพลเมือง  (Civic consciousness)  ว่าจะสามารถแสดงศักยภาพในการร่วมกันแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของชุมชนหรือท้องถิ่นได้มากน้อยเพียงใด

                   2.4  สร้างองค์ความรู้คู่การปฏิบัติ (Interactive learning through Actions)   นอกเหนือจากกระบวนการกลุ่มที่หลากหลายรวมตัวกันด้วยความเอื้ออาทรและสมานฉันท์แล้ว ยังจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดการกระทำ หรือมีกิจกรรมร่วมกัน เพราะสิ่งสำคัญของความเป็นประชาสังคมคือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน หรือการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  (Learning Society)  ที่ยึดแนวทาง หลักนำการปฏิบัติ หรือguiding principles ที่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนคือทรัพยากรที่ล้ำค่า เป็นหลักนำที่มองชุมชนว่าเป็นองค์รวมแห่งศักยภาพของปัจเจกชน ที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม ยิ่งในภาวะที่สังคมมีพลวัต คือ ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นปัจจุบัน การทำงานทางสังคมก็ต้องอาศัยนวัตกรรม และความรู้ที่หลากหลายจากปัจเจกและกลุ่มที่หลากหลาย เช่นกัน การแสวงหาหรือการสร้างองค์ความรู้จึงจำเป็นต้องดำเนินไปควบคู่กับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความจำเป็นในการพัฒนาทักษะในการตั้งคำถาม การทำความเข้าใจสังคม ว่าสังคมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ปรับตัวได้ทัน และเป็นฝ่ายรุกไปข้างหน้ามากกว่าจะเป็นฝ่ายโต้ตอบกับสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือมีปฏิกิริยาต่อเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เท่านั้น

                2.5  มีโครงสร้างชัดเจนของกลุ่มหรือองค์กรประชาสังคม (Structures of Association Life)  ซึ่งนายแพทย์โกมาตร  (อ้างแล้ว)  เสนอให้ใช้คำว่า องค์กรประชาสังคมหรือ Cvic Organizations เพื่อรองรับการคบหาสมาคม และเอื้ออำนวยต่อการแสดงออกทางสังคม รูปแบบองค์กรที่พบบ่อยที่สุด คือ องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์และองค์กรอาสาสมัครต่างๆ องค์กรเหล่านี้อาจมี ลักษณะ ขนาด  ความสนใจ แตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญ คือ เป็นการรวมกลุ่มด้วยจิตสำนึกประชาสังคม ประกอบด้วย ปัจเจกที่มีสำนึกพลเมือง  (Civic Mind)  มีกิจกรรมประชาสังคม  (Civic Action)   ทั้งนี้ องค์กรประชาสังคมไม่ได้หมายถึงองค์กรพัฒนาเอกชนเสมอไป แต่หมายถึง องค์กรหรือชุมชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน เพื่อนบ้าน ชมรม กลุ่มปฐมภูมิต่างๆ สหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม องค์กรวิชาชีพ  ฯลฯ ที่มีการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่สะท้อนจิตสำนึกประชาสังคม บางองค์กรแม้จะเป็นองค์กรในภาครัฐ หรือธุรกิจเอกชนแสวงหากำไร แต่มีกิจกรรมหรือโครงการที่ถือเป็นกิจกรรมประชาสังคม  หรือบุคลากรภาครัฐหรือภาคธุรกิจที่มีสำนึกพลเมืองและรวมตัวกันนอกเวลาทำงาน หรือในเวลาทำงาน  ก็ถือว่าเป็นองค์กรประชาสังคมเช่นกัน

                 2.6  มีโครงสร้างการสื่อสารสาธารณะและเครือข่ายประชาสังคม  (Civic Network and Communications)  โครงสร้างการสื่อสารสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะหมายถึง โครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงองค์กรสาธารณประโยชน์และปัจเจกชนเข้าด้วยกัน เช่น ช่องทางการติดต่อสื่อสารต่างๆ บนพื้นที่สาธารณะ  (Public space) ที่ทำให้เครือข่ายกลุ่มองค์กรประชาสังคมเชื่อมโยงกันได้ และยังหมายรวมถึง การจัดดำเนินการให้ผู้คนมีโอกาสมาพบปะ พูดคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เป็นสภาพวิถีชีวิต หรือกิจกรรมที่ไม่ได้ออกแบบอย่างเป็นทางการ  เช่น สภากาแฟ งานเทศกาล การแข่งขันกีฬาในชุมชน เป็นต้น  รวมทั้งกิจกรรมที่มีการออกแบบ เพื่อให้ผู้คนเข้ามามีส่วนรับรู้ ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือกระทำ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน หรือเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม หรือออกแบบสังคมที่ต้องการร่วมกัน โดยลักษณะการทำงานต้องเป็นระบบเปิด คือเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ดังนั้น การมีพื้นที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในระยะเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ประชาสังคม  ผนวกด้วยความต่อเนื่องของกิจกรรม และระบบการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้  (Communication & Learning Network)
 
                ในระยะแรก กลุ่ม องค์กร ประชาสังคมต่างๆ อาจเป็นกลุ่มในลักษณะเฉพาะกิจ  (ad hoc associations)   ต่อมาต้องหาวิธีการให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และจำเป็นต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ดูแลช่องทางการสื่อสาร แลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูลและทรัพยากร  หรือองค์กรประชาสังคม รวมทั้งต้องมีกระบวนการพัฒนานักประชาสังคม หรือCivic leader หรือChange agent เพื่อทำหน้าที่ขยายหรือเพิ่มจำนวนเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งการถ่ายทอด แนวคิดและวิถีประชาสังคม

                นอกจากนั้น ต้องมีการดำเนินการสื่อสารสู่สาธารณะ เพื่อแพร่ขยายการรับรู้เรื่องประชาสังคมและยกระดับสำนึกสาธารณะในสังคม เพื่อให้เกิดการตื่นรู้และตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน โดยเฉพาะการทำให้ประเด็นปัญหา ยกระดับสู่สาธารณะ ดังนั้น ลักษณะสำคัญของประชาสังคมอีกประการ คือ การใช้และการพัฒนาช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย สำหรับให้กลุ่มประชาสังคมได้ติดต่อสื่อสารกับคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ด้วยวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่กำหนด
               
                 2.7  มีการคิดค้นมาตรการและแนวทางในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล โดยสาธารณะ  (public participation in evaluation)  ความสัมพันธ์เชิงสาธารณะก็เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ถูกสร้างขึ้นได้และก็ถูกทำลายล้างได้ หากไม่มีการบำรุงรักษาอย่างดี ที่สำคัญ "ความสัมพันธ์เชิงสาธารณะ" มักถูกทำลายด้วยการประเมินผลแบบดั้งเดิมที่มักดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการเชิงปริมาณ ที่มุ่งวัดเฉพาะสิ่งที่จับต้องได้ ในขณะที่ กิจกรรมประชาสังคม เน้นคุณค่าของการมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับกระบวนการเช่นเดียวกับผลหรือเป้าหมาย ดังนั้น แม้การประเมินผลจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมสาธารณะ แต่วิธีการและรูปแบบที่แนะนำคือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลกิจกรรมที่ดำเนินการในชุมชน เพื่อให้เขาเป็นผู้ตัดสินว่า ความพยายามหรือกิจกรรมที่ดำเนินการมีประโยชน์ หรือมีคุณค่าอย่างไรต่อชุมชนของเขา

                โดยสรุป ลักษณะของประชาสังคมที่นำเสนอแม้ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงแนวทางสำหรับการคิด การทำความเข้าใจ "ประชาสังคม" รวมทั้งการให้นำไปเลือกใช้ในสถานการณ์จริง และบริบทเกี่ยวข้อง ของแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละองค์กร ดังนั้น ลักษณะที่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของบางพื้นที่ อาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือไม่สำคัญมากสำหรับในบางพื้นที่ก็ได้
............................................................................................................................................................

รายการอ้างอิง

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์   "แนวคิดประชาคม การมีส่วนร่วมของชุมชน และความรุนแรงต่อผู้หญิง" 
ศักยภาพประชาคมในการจัดการปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก  กรุงเทพมหานคร
2546

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร  "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่และนัยยะเชิงทฤษฎีต่อการ
พัฒนาประชาธิปไตย"   ขบวนการประชาสังคมไทย: ความเคลื่อนไหวภาคพลเมือง กรุงเทพมหานคร 2542

บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา  "ความรู้เท่าทันสื่อมวลชน ภารกิจของพลเมืองร่วมสมัย"   ฐานันดรที่สี่: จาก
ระบบโลกถึงรัฐไทย  กรุงเทพมหานคร 2537

เรืองชัย  ทรัพย์นิรันดร์ "ความหมาย ความสำคัญ และองค์ประกอบของประชาสังคม" บทบาทของประชาสังคมต่อการส่งเสริมจริยธรรมสื่อสารมวลชน ใน เอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรรมด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี 2554

อนุชาติ  พวงสำลีและวีรบูรณ์ วิสารทสกุล  ประชาสังคม: คำ ความคิดและความหมาย
กรุงเทพมหานคร สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  2540
           
อนุชาติ พวงสำลี และคณะ  "บทสังเคราะห์ความเคลื่อนไหวของภาคีอันหลากหลายในขบวนการประชาสังคมไทย"   ขบวนการประชาสังคมไทย: ความเคลื่อนไหวภาคพลเมือง  มีนาคม 2542

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค