ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ลักษณะการทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ตอนที่ 3

ลักษณะการทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ตอนที่ 3

               (บทความนี้อ้างอิงมาจากงานเขียนเรื่อง "จริยธรรมสื่อสารมวลชน" ในปี พ.ศ. 2547 โดย ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน )
                การทำงานของสื่อมวลชน เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การนำข่าวสารมาเผยแพร่และรายงานให้ประชาชนทั่วไปทราบ

                นอกจากนี้สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแล และ "ตรวจสอบความจริง" ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตลอดจนการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ

                การดำเนินงานของสื่อมวลชนในบางครั้งอาจไปกระทบกระเทือน รุกล้ำต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้ ทั้งโดยรู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว ในบางครั้งแม้สื่อมวลชนจะมีความปรารถนาดีต่อสังคมส่วนรวม แต่ความปรารถนาดีนั้นก็หาได้มีสิทธิพิเศษที่จะสร้างความกระทบกระเทือนต่อบุคคลอื่น 

                การกระทำของสื่อมวลชนบางเรื่องมีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดแจ้งว่าจะกระทำมิได้ แต่ในบางเรื่องกฎหมายมิได้เขียนห้ามไว้ แต่สื่อมวลชนยังต้องคำนึงถึงหลักว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ที่สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และสังคมช่วยกันกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็น การควบคุมกันเองของสื่อมวลชน (Self Regulation)

               ถึงแม้มิได้มีกฏเกณฑ์ปรากฏชัดแจ้งเป็นเอกสาร แต่สื่อมวลชนก็ยังมี "ความรับผิดชอบในตัวเอง" (Self responsibility) และต้องมี "มโนธรรมสำนึก" (Conscience) ที่จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักคุณธรรม หลักจริยธรรม และหลักมโนธรรม ที่สื่อมวลชนพึงจะมีในฐานะหน้าที่ของตน

                ลักษณะการกระทำผิดจริยธรรมของสื่อมวลชน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ จนได้ข้อสรุปว่า หากสื่อมวลชนมีการกระทำเช่นว่านี้ อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการการทำผิดหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชน และจริยธรรมในวิชาชีพนิเทศศาสตร์ 
                อนึ่ง คำว่า สื่อมวลชน ในที่นี้หมายถึง บุคคลผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ อาจทำผิดจริยธรรมได้หลายลักษณะดังต่อไปนี้

5.19 การลงความเห็น
                การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนวิทยุและโทรทัศน์ใช้รูปแบบวิธีการนำเสนอที่เรียกว่า การเล่าข่าว (News and Talk) โดยการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันมาพูดคุยด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงจากข่าว แล้วต่อด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ตามทัศนะของตนเอง ตามมุมมองของตนเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ กรอบแห่งการอ้างอิง (frame of reference) ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติของบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นๆ สื่อมวลชนบางคนมีความรู้อันจำกัดในเรื่องนั้นเช่นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ก็วิจารณ์ไปตามความรู้เท่าที่มีอยู่ ซึ่งอาจทำให้เรื่องนั้นเบี่ยงเบนไปได้ สื่อมวลชนบางคนมีกรอบแห่งการอ้างอิงยึดถือเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตแบบหนึ่งก็จะนำวิธีคิดแบบนั้นมาใช้อธิบายแสดงทัศนะของตนไปในทิศทางนั้นทางเดียว โดยมองไม่เห็นทางอื่นที่แตกต่างออกไปซึ่งอาจด้อยกว่าหรือดีกว่าก็ได้ และในบางครั้งการลงความเห็นของสื่อมวลชนก็อาจผิดพลาด หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงได้ หรือเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายได้ เช่น การใช้ถ้อยคำเรียกว่าเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน การประณามผู้กรำผิดอย่างรุนแรง การแสดงความเห็นว่าถ้าเป็นตนเองจะลงโทษผู้ร้ายอย่างไร ทั้งๆ ที่ สื่อมวลชนมิใช่ผู้พิพากษา

เมื่อสื่อมวลชนมีลักษณะแตกต่างกันดังกล่าว การแสดงทัศนะมุมมองก็ต่างกัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่การสรุปประเด็น การสรุปความคิดเห็น หรือ การลงความเห็นนั้น เป็นความเห็นของสื่อมวลชนคนนั้นเพียงคนเดียวเท่านั้น มิใช่ความเห็นของคนส่วนใหญ่ และมิใช่ความเห็นที่ถูกต้องเสมอไป ไปสื่อมวลชนที่มีจริยธรรมจะต้องบอกอยู่เสมอว่านี่เป็นความเห็นของตนคนเดียวเท่านั้น มิใช่บรรทัดฐานที่ถูกต้องเสมอไป แต่สื่อมวลชนบางคนอาจไม่ได้แจ้งกับผู้ฟังผู้ชมเช่นนั้น อาจทำให้ผู้ชมเห็นคล้อยตามได้ เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมสูง

5.20 ความขาดเขลาของสื่อ
   สื่อมวลชนมีบทบาทหน้าที่ประการสำคัญในการต่อสู้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องมีความกล้าหาญในการทำงานและการประกอบวิชาชีพ   แต่บางครั้งสื่อมวลชนก็ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของตนเอง  ทั้งทางเศรษฐกิจและชีวิต สื่อมวลชนต้องรักษาความสมดุลระหว่างการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและกล้าหาญ กับ ความอยู่รอดของตนเอง สื่อมวลชนที่ไม่สามารถรักษาความสมดุลเช่นนี้ได้ ก็อาจเลือกหนทางที่ฝ่าฝืนต่อหน้าที่ หลีกเลี่ยงการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคม จำนนด้วยอำนาจรัฐ อำนาจเงิน ผลประโยชน์ และพวกพ้อง เป็นเหตุให้เกิดความลังเลสงสัยในหน้าที่สื่อมวลชน (วิกิจฉา) เกิดความไม่เชื่อมั่นในวิชาชีพของตนขาดความกล้าหาญในการทำหน้าที่ที่เรียกว่า ความขาดเขลาของสื่อมวลชน


5.21 การขาดเมตตาธรรมของสื่อ
     ประชาชนในประเทศมีความทุกข์ร้อนในชีวิตทั้งการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากแร้นแค้น  การถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมจากนายทุน การถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมของผู้มีอำนาจ การขาดโอกาสทางสังคม นอกจากจะหวังพึ่งพาตนเอง พึ่งพารัฐ ให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาแล้ว ประชาชนยังมีสื่อมวลชนเป็นที่พึ่งอีกทางหนึ่ง บุคคลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจึงควรมีความเมตตา มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ มีใจปรารถนาที่จะช่วยเหลือประชาชนที่มีความทุกข์ให้พ้นทุกข์ เห็นประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง แต่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนบางคนอาจเห็นแก่ความสุขของตนเองยิ่งกว่าความสุขของประชาชน เห็นแก่ประโยชน์ในการขายสื่อหรือประโยชน์จากการขายโฆษณาสินค้ามากกว่าประโยชน์ที่เกิดกับเด็กเยาวชนหรือสาธารณชน อาจเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับจากนายทุนผู้ประกอบการมากกว่าประโยชน์ของชาวบ้าน อาจเห็นแก่ประโยชน์หรืออามิสที่จะได้รับจากอำนาจรัฐยิ่งกว่าประโยชน์สาธารณะ การนำเสนอข่าวสารต่างๆ จึงผิดพลาดคลาดเคลื่อน เบี่ยงแบนไปจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะต่ำ  เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ด้อยโอกาส เกิดความคับแค้นใจกับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดเมตตาธรรมของสื่อมวลชน
 
5.22 การยึดภาพฝังใจ
                ภาพฝังใจ (Stereo type) หมายถึง ภาพในความคิดเดิมของบุคคลที่เคยมีประสบการณ์และมีความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีความคิดว่าเรื่องอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันก็จะเป็นเหมือนกับความเชื่อเดิมเช่นนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น มีความเชื่อว่าตัวละครที่เป็นพระเอกจะต้องสูง สมาร์ท หน้าตาดี นิสัยดี มีคุณธรรม มีความกล้าหาญ เสียสละ ชอบช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็จะคงลักษณะเช่นนั้นไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้าเป็นเรื่องในนิยายความคิดความเชื่อแบบภาพฝังใจเช่นนี้ จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมมากนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าว ซึ่งต้องยึดหลักความจริง ความถูกต้อง ความแม่นยำ ความครบถ้วน ความทันต่อเวลา ทันต่อสถานการณ์ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม บุคคลผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนจะต้องมีความคิดเชิงพลวัต ไม่คิดแบบตายตัว หรือคิดแบบคงที่ การตีความหมาย การตัดสินใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งสามรถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและบริบททางสังคมสิ่งแวดล้อมของเหตุการณ์นั้น ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนจะยึดถือว่า คนเคยดีอย่างไรก็จะถือว่า ดีตลอดไปไม่ได้ จะยึดถือว่า คนเคยชั่วก็จะ ชั่วตลอดไปไม่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของการกระทำที่เป็นจริงของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ สื่อมวลชนที่ทำงานแบบยึดภาพฝังใจ ก็อาจทำให้เกิดการละเลยที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ขาดการไตร่ตรอง ขาดการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย

5.23 การขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม (Courage) การกระทำผิดจริยธรรมตามนัยนี้หมายถึง การที่สื่อมวลชนรู้ข้อเท็จจริงว่า สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร แต่สื่อมวลชนหลีกเลี่ยง หรือละเลย ไม่นำเสนอข่าวนั้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การขาดความกล้าหาญ การเกรงกลัวในภยันตรายที่อาจได้รับจากการนำเสนอข่าวนั้น

         ประเด็นทีสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเกรงกลัวว่าจะเสียหายเสียผลประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ขององค์กร ตัวอย่างเช่น หากนำเสนอข่าวสารด้านลบขององค์กรธุรกิจ อาจทำให้เจ้าของธุรกิจไม่พอใน สั่งตัดงบประมาณค่าโฆษณาที่จะจ่ายให้สื่อมวลชนนั้น  อันทำให้สื่อมวลชนนั้นขาดรายได้จากค่าโฆษณาที่จะได้รับ ซึ่งบางครั้งงบประมาณนั้นมีจำนวนมากนับสิบล้านบาท หรือนับร้อยล้านบาท สิ่งเหล่านี้อาจเป็นพลังกดดันให้สื่อมวลชนต้องตัดสินใจเลือก ระหว่าง "ความเกรงกลัวกับความกล้าหาญทางจริยธรรม" ที่จะต้องนำเสนอข่าวนั้นให้ประชาชนรับรู้ การเพิกเฉย การละเลย การนิ่งดูดาย การไม่ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ นับว่าเป็นการขาดจริยธรรมของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน

 5.24 การขาดความรับผิดชอบ (Responsibility) สื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้รับสาร ต่อผู้บริโภค ต่อประชาชน ประเทศชาติ หากสื่อมวลชนขาดความรับผิดชอบที่พึงมี ก็ถือว่าขาดจริยธรรมในด้านความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างน้อยต้องมีความรับผิดชอบ 4 ด้าน ดังนี้

         1.ความรับผิดชอบทางกฎหมาย (Legal Responsibility) หมายถึง การยึดมั่นและถือปฏิบัติตามหลักกฎหมาย กฏเกณฑ์ ระเบียบ ที่สังคมมีอยู่ ซึ่งบรรดากฎหมายหรือกฏเเกณฑ์เหล่านั้น รัฐและประชาชนเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายหรือกฏเเกณฑ์นั้นขึ้นมาบังคับใช้เพื่อความเป็นปกติสุขของสังคม สื่อมวลชนจึงไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมาย กฏเกณฑ์ ระเบียบ เพียงเพื่อจะทำให้ได้รับข่าวสาร

         2. ความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ (Economic Responsibility) หมายถึง เมื่อบุคคลปฏิบัติหน้าที่อยู่ในองค์การใด ต้องช่วยกันทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดตามวิสัยทัศน์ พันธ์กิจ วัตถุประสงค์ และนโญบายขององค์กร บุคคลที่เป็นพนักงานหนือเจ้าหน้าที่ขององค์กร ต้องช่วยกันทำให้องค์กรมีรายได้ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพียงพอที่จะทำให้องค์กรดำเนินต่อไปได้ ไม่บั่นทอน ไม่ทำลายชื่อเสียงขององค์กร

          3. ความรับผิดชอบทางคุณธรรม (Ethical Responsibility) หมายถึง การดำเนินงานที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผลิตผลงานที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความเชื่อถือได้ ไม่ผลิตผลงานที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรืออันตรายต่อความคิดก ทัศนคติ ความรู้สึก เช่น ไม่ส่งเสริมทัศนคตที่ไม่ดี ไม่บ่มเพาะความคิดเชิงอาชญากรรม ไม่ขยายความคิดที่แบ่งแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เพาะบ่มความเกลียดชังอาฆาตแค้นในหมู่ประชาชน

            4. ความรับผิดชอบทางสังคม (Social  Responsibility) หมายถึง องค์กรสื่อเป็นส่วนประกอบหนึ่งในสังคมที่ประกอบไปด้วยรัฐ ประชาชน และสื่อมวลชน ฉะนั้น องค์กรสื่อมวลชนจตึงมีหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมที่ดี คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้ง ทำงานเพื่อสังคม  เสียสละเพื่อสังคม ไม่เอาเปรียบสังคม ไม่ทำร้ายสังคม  มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน มุ่งส่งเสริมความคิด ทัศนคติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน หากสื่อมวลชนใดฝ่าฝืยนหรือละเลยในการทำหน้าที่ดังกล่าว ก็ถือได้ว่าสืิ่อมวลชนขาดจริยธรรมด้านความรับผิดชอบทางสังคม

5.25 การไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบสื่อ (Unaccountability) 
        การดำเนินงานใดๆ ก็ตามหากมีการปิดบัง ซ่อนเร้น แฝงเร้น ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน อาจเป็นช่องโอกาสให้เกิดการกระทำผิดได้ง่าย ตรงกันข้ามการดำเนินงานใดๆ ที่มีการเปิดเผย มีความโปร่งใส อยู่ในสายตาของประชาชนและสาธารณชนอยู่เสมอ ย่อมปิดกั้นช่องโอกาสที่จะกระทำผิด "การตรวจสอบได้" (Accountability) จึงเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมทางจริยธรรมในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน

        ในขณะที่สื่อมวลชนเองมุ่งตรวจสอบค้นหาความจริงของบุคคลอื่น เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ สื่อมวลชนเองก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการดำเนินงานของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน หากสื่อมวลชนปิดกั้นการตรวจสอบจากประชาชน ก็เท่ากับว่า สร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น และยิ่งหากมีการใช้อำนาจของสื่อมวลชนที่มีอยู่ ไปคุกคามประชาชน ย่อมสร้างความหวาดกลัว สร้างความไม่ไว้วางใจสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น 

         แม้ว่าสื่อมวลชนเองจะมั่นใจในความบริสุทธิ์ใจในการทำงาน แต่หากประชาชนมีข้อสงสัย สื่อมวลชนก็ควรเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบมากกว่าการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน

         การปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน การไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบสื่อ (Unaccountability) ก็ถือเป็นการขาดจริยธรรมอันดีของสื่อมวลชนอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน


5.26 การไม่ยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง (Public interest)

       การดำเนินงานของสื่อมวลชน โดยหลักการแล้วสื่อมวลชนพึงยึดถือเอาประโยชน์สาธารณะ (Public interest) เป็นที่ตั้ง เมื่อมีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ จะต้องเลือกข้างที่เป็นประโยชน์สาธารณะเสมอ แต่ในบางครั้งผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนบางคนละเลยหลักการข้อนี้ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ความไม่รู้ของสื่อมวลชน การมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น เช่น ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการนั้นด้วย กิจการนั้นเป็นของญาติพี่น้องหรือของเพื่อน ความเกรงกลัวในอำนาจรัฐหรืออำนาจเงิน ความไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ การขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่และต่อสังคม

 5.27 การใช้รูปภาพ ชื่อ และชื่อเสียง ของบุคคลอื่นโดยมิชอบ (Right of Publicity)
       หมายถึง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการนำภาพของบุคคลอื่น ชื่อของบุคคลอื่น รวมทั้งชื่อเสียงของบุคคลอื่น มาใช้หาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ และยังรวมไปถึง การแอบอ้าง การปลอมแปลง การตัดต่อ การเพิ่มเติม การแก้ไข ซึ่งรูปภาพ ชื่อของบุคคลอื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนการแอบอ้างชื่อเสียงของบุคคลอื่นไปใช้ในการสร้างชื่อเสียง สร้างความสนใจ สร้างผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ตนเอง ให้แก่องค์กรของตนเอง โดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อ "สิทธิในการเผยแพร่อัตลักษณ์" (Right of Publicity) ของบุคคลอื่น

 5.28 การนำชื่่อ เครื่องหมายการค้า ตราสินค้า ของบุคคลอื่นหรือขององค์กรอื่นไปใช้โดยมิชอบ (Trademark)
        หมายถึง การนำชื่อ เครื่องหมายการค้า ตราสินค้า ของบุคคลอื่นหรือขององค์กรอื่นไปแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือองค์กรของตนเอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากเข้าข่ายผิดกฎหมายแล้ว เรื่องการละเมิดต่อเครื่องหมายการค้า (Trademark) ของผู้อื่นแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดทางจริยธรรมด้วย

5.29 การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 
        การคุกคามทางเพศ หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนไปใช้ในการล่วงละเมิด การคุกคาม การข่มขู่บุคคลอื่น โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศต่อสตรี (Sex Harassment) การถ่ายภาพสตรีแล้วนำมาแบล็กเมล์ข่มขู่ต่อรองเพื่อแลกกับผลประโยชน์ในรูปทรัพย์สินเงินทอง หรือการข่มขู่บังคับให้สตรียินยอมให้ล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำดังกล่าวนี้ก็ถือว่า เป็นการกระทำผิดหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชoด้วยเช่นกัน

5.30 การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Conduct ) 
            การล่วงละเมิดทางเพศ หมายถึง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการสื่อข่าวรายงานข่าว การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสื่อข่าวสารใดๆ ที่มีการแอบแฝงการล่วงละเมิดทางเพศ การแอบถ่ายภาพสตรี  การแอบถ่ายภาพที่ไม่เหมาะสมต่างๆ แล้วนำมาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนและสื่ออินเทอร์เน็ต ในลักษณะที่ไม่น่าดู เป็นภาพปกปิด ภาพโป๊ ภาพหลุด ภาพที่สตรีโป๊โดยไม่ตั้งใจ การเลือกถ่ายภาพสตรีในลักษณะที่ยั่วเย้าทางเพศโดยที่เจ้าตัวมิได้มีเจตนาเช่นนั้น การเขียนวิพากษ์วิจารณ์ส่วนสัดรูปร่างของสตรี การใช้ถ้อยคำแทะโลม เสียดสี การใช้ถ้อยคำกระตุ้นอารมณ์ทางเพศต่อบุคคลที่ปรากฏในภาพ 

         การกระทำดังกล่าวนี้ยังหมายรวมถึง "การก่ออาชญากรรมทางเพศ" (Criminal Sexual Conduct) ที่ได้กระทำผ่านสื่อมวลชน สื่ออินเทอร์เน็ต และสื่ออื่นๆ ด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยีสื่อสารในการติดตามแอบดูพฤติกรรมของสตรี ซึ่งอาจทำให้ล่วงรู้เรื่องราวทางเพศของสตรีคนนั้น

         ตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพเด็กโป๊แล้วนำมาเผยแพร่เพื่อดึงดูดความสนใจให้ติดตามชมเนื้อหาอย่างอื่น การแอบถ่ายภาพศิลปินดาราในลักษณะภาพหลุด การถ่ายภาพนักกีฬาสตรีโดยเน้นการถ่ายให้เห็นรูปร่าง ส่วนสัด การถ่ายหน้าอก การถ่ายภาพอวัยวะที่พึงปกปิด ในขณะที่นักกีฬาสตรีกำลังแข่งขันกีฬา ซึ่งไม่อาจสามารถระมัดระวังตัวได้ 

        การกระทำดังที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรี และถือได่้ว่าเป็นการกระทำผิดต่อหลักจริยธรรมด้วยเช่นกัน

เขียนโดย รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน
เผยแพร่ซ้ำ วันที่ 24 ตุลาคม 2556

หมายเหตุ
1. เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน
ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ปี พ.ศ. 2547
2. นำมาอ้างอิงเผยแพร่ซ้ำในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรมสื่อสารมวลชน หน่วยที่ 5 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2548
3. นำมาอ้างอิงเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งในเอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายและจริยธรมสื่อสารมวลชน หน่วยที่ 5 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2550
4. แก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมเนื้อหาอีกครั้งในการเขียนเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ วันที่ 24 ตุลาคม 2556

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค