ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ไม้ขีดไฟเพียงก้านเดียว..จุดไฟลามทุ่ง สะเทือนไปทั้งประเทศ : บทวิพากษ์อิทธิพล ผลกระทบ และบทบาทหน้าที่ของสื่อไทย

ไม้ขีดเพียงก้านเดียว จุดไฟลามทุ่ง..สะเทือนไปทั้งประเทศ : บทวิพากษ์อิทธิพล ผลกระทบของสื่อ และบทบาทหน้าที่ของสื่อไทย

         นับตั้งแต่คุณ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคน โพสต์เฟซบุ๊กในวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 เตือนประชาชน ให้ใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อข้าวสารที่ผลิตออกมาขาย เนื่องจากมีสารพิษตกค้าง และอาจเป็นอันตรายต่อผู้บรืโภค คนค้นคน ระบุชื่อ 3 โรงสี คือ โรงสี ท. โรงสี ว. โรงสี ส. พร้อมระบุพันธ์ 1 พันธ์คือข้าวหอมปทุมธานี ที่ห้ามซื้อ และข้าวสารถุง 2 ยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ บ. ยี่ห้อ ฉ. ห้ามซื้อรับประทาน

         ไม่ทันข้ามคืนกระแสข่าวเรื่องข้าวมีสารพิษตกค้างที่คนค้นคนโพสต์ แพร่กระจายในโลกออนไลน์ ในสื่อสังคมโซเชียลมีเดีย ในสื่อเครือข่ายอย่างไลน์ ในหนังสือพิมพ์ออไลน์ "ไวกว่าไฟลามทุ่ง" สมดังที่คุณสุทธิพงษ์พูด

ตอนที่ 1 อิทธิพลและผลกระทบของสื่อ

         0. เค้าลางพายุใหญ่ บริบทแวดล้อมอันหมายถึง สิ่งที่มาก่อนการนับหนึ่งของประเด็นข้าวมีสารพิษตกค้าง คือ เรื่อง จำนำข้าว การที่รัฐบาลรับจำนำข้าวจากเกษตรกรไว้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้รัฐบาลต้องเก็บสต็อกข้าวไว้หลายหมื่นตัน การเก็บรักษาข้าวไม่ให้เน่า ไม่ให้มีศัตรูข้าว เช่น มอด ต้องอาศัยสารเคมี เช่น เมทิล โบรไมด์ พ่น อบ รมควันข้าว หากกระบวนการถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็อาจไม่เกิดปัญหาสารพิษตกค้าง แต่คาดว่าน่าจะมีบางส่วน บางโรงสี บางโรงงานผลิตข้าวสารถุง ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้มีสารพิษตกค้าง


         1. การปรากฏตัวของพายุแห่งข่าวสาร (Action: first appearance of storms) ซึ่งเกิดจากริเริ่มการกระทำของสื่อ (media action) หลังจากการโพสต์เฟสบุ๊กไม่เกิน 24 ชั่วโมง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบ (media impact) ต่อสังคมทันที ดังต่อไปนี้คือ

         2. การโหมกระหน่ำของพายุข้อมูลข่าวสาร เกิด การแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารโดยประชาชน (information diffussion) โดยคัดลอก อ้างถึง ส่งต่อ ข้อความที่คุณสุทธิพงษ์โพสต์ในเฟสบุ๊กออกไปอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ส่งไปในช่องทางและสื่อชนิดต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เฟสบุุ๊ก (Facebook) ไลน์ (LINE) ทวิตเตอร์ (Twitter) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ (Online newspaper) ข่าวสารแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และรวดเร็วเกินกว่าที่คุณสุทธิพงษ์หรือใคร หรืออำนาจใดๆ จะยับยั้งได้

         3. การตื่นตกในต่อพายุ ความตื่นตัวในการติดตามข่าวสารของประชาชน (information and media expose) ประชาชนเกิดความตื่นตัว สนใจติดตามข่าวสาร ทั้งจากสื่อออนไลน์ (online media)  สื่อกระแสหลัก (mainstreme media) รายการโทรทัศน์ เรื่องเด่นเย็นนี้ ข่าวภาคค่ำทุกสถานี ข่าวภาคดึกทุกสถานี หนังสือพิมพ์ออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง ผู้จัดการออนไลน์ เดลินิวส์ ไทยรัฐ รวมทั้งข่าวสั้นจากสำนักข่าวต่างๆ อาทิ เนชั่น โพสต์ทูเดย์ ทีนิวส์ ไอเอ็นเอ็น

         4. ปรากฏการณ์มนุษย์ผู้เป็นทุกสิ่ง (all in one) เกิดปรากฏการณ์ มนุษย์คนหนึ่งมีสถานะเป็นทั้ง ผู้ส่งสาร (sender) เป็นทั้ง ต้นแหล่งข้อมูลข่าวสาร (source person) เป็นทั้งคนทำสื่อ (media maker) เป็นทั้งเนื้อหาสาร (message) และเป็นทั้งสื่อ (media/channel) ในตัวคนเดียวคือ คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เจ้าของ พิธีกรรายการคนค้นคน

         5. ความพยายามยับยั้งพายุแห่งข่าวสาร (information breaking and stopping) หลังจากเกิดเหตุการณ์ "ส่งสารโดยไม่ตั้งใจ" ผู้ส่งสาร (sender/source) ได้พยายายาม "ลบ" ข้อความที่โพสต์ในเฟสบุ๊ก โดยอ้างว่า ไม่ได้ตั้งใจทำให้ใครเสียหาย แต่ยังย้ำจุดยืนว่า ใครทำกรรมไว้กับชาวนาและประชาชนต้องได้รับผลกรรมตามหลักศาสนาพุทธ

               "..แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผมสามารถลบความจริงทิ้งได้
              และไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถลบกรรมทั้งดีชั่วทิ้งได้ โดยเฉพาะกับการกระทำ
              กับชาวนาและข้าวปลาอาหาร"



         6. การตอบโต้แบบสวนควันปืนของยักษ์ใหญ่ (giant reaction) บริษัทผู้ผลิตข้าวยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ซีพี ผู้ผลิตข้าวตราฉัตร แถลงข่าวตอบโต้แบบทันทีทันควัน ผ่านสื่อหลายช่องทาง ทั้งการแถลงข่าว ส่งข่าวไปยังหนังสือพิมพ์ และการโต้ตอบทางสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ก พร้อมทั้งท้าให้คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ สื่อมวลชน และประชาชน เดินทางไปพิสูจน์กระบวนการผลิตข้าวตราฉัตรของบริษัทซีพี ที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา




         7. การขู่คำรามของยักษ์ใหญ่ (giant movement)  วันรุ่งขึ้น (10 ก.ค.56) บริษัทผู้ผลิตข้าวยักษ์ใหญ่อย่าง ซีพี เทรดดิ้ง ผู้ผลิตข้าวตราฉัตร แถลงข่าว จะแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องหมิ่นประมาทคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่ง คนค้นคน รวมทั้งโรงสีบางแห่งก็จะแจ้งความดำเนินคดีคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ด้วยเช่นกัน

         8. ไม้ขีดก้านเดียว (hit "one" stride) หรือ (with one stump you can make a good fire) ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ข้อความเพียง 9 บรรทัด ที่คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคน โพสต์ไว้ในหน้าวอลเฟสบุ๊ก กลายเป็นเรื่องใหญ่ มันคือ ปรากฏการณ์ "ไฟลามทุ่ง" ดังที่คุณสุทธิพงษ์พูดไว้ ด้วยอิทธิพลของ "ไม้ขีดก้านเดียว" ที่คุณสุทธิพงษ์ได้จุดขึ้นใน "ออนไลน์นคร" ได้จุดไฟกองใหญ่ลุกลามไปทั่วประเทศเพียงไม่เกินสองวัน คนทั้งประเทศรู้ข่าว ตกใจข่าว อยากรู้ความจริง เกี่ยวกับสารพิษตกค้างในข้าวสาร ข้าวสารยี่ห้ออะไรบ้าง โรงสีอะไรบ้าง บริษัทอะไรบ้าง ที่ผลิตข้าวสารที่มีสารพิษเมทิล โบรไมด์ ตกค้าง

         9. การปรากฏตัวของอำนาจรัฐ
             9.1 กระทรวงไอซีที ประกาศเอาผิดคุณสุทธิพงษ์ตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 1 แสนบาท
             9.2 ตำรวจด้านสารสนเทศพร้อมขยับหาก "นาย" ตีธงส่งสัญญาณ
             9.3 กระทรวงพาณิชย์ประกาศเอาเรื่องทางกฎหมายกับคุณสุทธิพงษ์ โทษฐานทำให้ "ภาพลักษณ์ข้าวไทย" เสียหาย

         10. ลมพัดหวน ไฟไหม้บ้านตัวเอง ลมพายุแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้าวสารมีสารพิษตกค้าง ที่โหมกระหน่ำพัดไปทุกสารทิศ เมื่อไปเจอการตั้งรับอย่างเหนียวแน่นแบบ "การ์ดไม่ตก" ของยักษ์ใหญ่ซีพี ถึงตอนนี้ "คนจุดไฟ" กลายเป็นถูกไฟลามมาเผาไหม้ตัวเอง คนจุดไฟต้องกลายมาตั้งรับในสภาวะวิกฤติที่ตึงเครียด

         11. ตั้งสติยึดหลักธรรมและหลักกฏแห่งกรรม ยามที่คุณสุทธิพงษ์ ตกอยู่ในวงล้อมแห่งวิกฤติข้าวมีสารพิษตกค้าง เหลียวไปทางไหน หาใครเป็นเพื่อนไม่มี มีแต่กองเชียร์ตะโกนให้ "สู้ๆๆ สุทธิพงษ์ สู้ๆๆ" และ "เป็นกำลังใจให้นะ" หากทว่าเป็นเสียงเชียร์และใหกำลังใจ อยู่เพียงในสื่อออนไลน์ ในชีวิตจริงเหลียวไปทางไหน มีแต่ความว่างเปล่า

               คุณสุทธิพงษ์แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อ้างว่า การโพสต์เฟสบุ๊กเป็นเรื่องผิดพลาดทางเทคนิค ตั้งใจเพียงแค่เตรียมข้อมูล แต่บังเอิญไปกดปุ่มโพสต์เผยแพร่ออกไป แม้จะพยายามตามลบแล้วแต่ไม่ทัน

               ยามนี้หากจิตใจหวั่นไหว ไม่มั่นคง ขาดหลักยึดเหนี่ยวในชีวิตที่ดี เป็นใครก็ต้อง "สติแตก" หากไม่ "สู้จนตัวตาย" ก็ต้อง "ล่าถอยไปสุดซอย" ยังดีที่คุณสุทธิพงษ์ ตั้งหลักมั่น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน "พร้อมรับผิด" และ "พร้อมรับผล" ประกาศยอมรับผลกรรมที่จะเกิดขึ้น แม้จะถึงกับต้องติดคุกก็ต้องปล่อยให้ "เป็นไปตามกรรม" 

         12. ตำรวจกลายเป็นผู้ร้าย โจทก์กลายเป็นจำเลย คุณสุทธิพงษ์อาจจะเป็น "Hero" ในสายตาประชาชนทั่วไป แต่ในสายตาของบริษัทค้าข้าว คุณสุทธิพงษ์คือ "ผู้ร้าย" เป็นอันตรายสินค้าข้าวของบริษัท และในสายตารัฐบาล คุณสุทธิพงษ์คือ "ตัวมอดร้าย" ทำลายตลาดข้าวไทย ทำให้ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหาย เสียหายไปไกลจนถึง "ตลาดโลก"

         13. ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น การประจันหน้าระหว่างฝ่าย "คนร้าย" กับ "ฝ่ายปราบปราม" ยิ่งทำให้ประชาชนตื่นตัวต่อการติดตามข่าวสารมากขึ้น

          14. คนกลาง ระหว่างที่มีการประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายคนร้ายกับฝ่ายปราบปราม ก็ปรากฏเงาร่างของ "หัตถ์แห่งธรรมะ" ฝ่ายคนกลางที่เสนอตัวเข้ามา "เคลียร์" แต่ไม่ได้เคลียร์ให้สองฝ่ายปรับความเข้าใจกัน แต่เป็นการ "เคลียร์ด้วยข้อเท็จจริง" โดยสุ่มตัวอย่างข้าวสารถุงไปตรวจหาสารพิษตกค้างในข้าวสาร คนกลางที่ว่าคือ "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" โดยมี คุณสารี อ๋องสมหวัง เป็นผู้นำ นัดประกาศผลการตรวจสอบในวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556

         15. ในข่าวดีมีข่าวร้าย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ผลการตรวจสอบที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้าวสารถุงที่สุ่มมาจากท้องตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ต 46 ตัวอย่าง ไม่พบสารพิษตกค้าง 12 ตัวอย่าง ที่สำคัญ 1 ใน 12 ตัวอย่างนี้ ปรากฏ "ข้าวขาวตราฉัตร" ของบริษัท ซีพี รวมอยู่ด้วย นี่เป็น "ข่าวดี" และ "ข่าวใหญ่" ของบริษัท ซีพี อย่างแน่นอน แต่กลายเป็น "ข่าวร้าย" ของใครอีกหลายคน



                  "ข่าวดีของใคร" เมื่อไม่พบสารพิษในข้าวตราฉัตรและข้าวยี่ห้ออื่นๆ รวม 12 ยี่ห้อ เป็นข่าวดีของใคร
                     กลุ่มแรก คือ บริษัท ซีพี ผู้ผลิตข้าวขาวตราฉัตร พ้นจากข้อกล่าวหา กลายเป็น "ผู้บริสทุธิ์"
                     กลุ่มที่สอง ย่อมเป็น "ข่าวดีของประชาชน" ที่บริโภคข้าวทั้ง 12 ยี่ห้อนี้มานานแล้ว ประชาชนรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในข้าว

                    "ข่าวร้ายของใคร" ข่าวร้ายย่อมเป็นของบุคคลดังนี้

                     ข่าวร้ายของคนแรก คือ คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคน ที่เคยโพสต์ข้อความ "เตือนประชาชน" ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงบริโภคข้าวที่ผลิตมาจากหลายโรงสี และหลายยี่ห้อ ซึ่งรวมทั้ง "ข้าวตราฉัตร" รวมอยู่ด้วย เมื่อไม่พบสารพิษตกค้างในข้าวตราฉัตร คุณสุทธิพงษ์ จึงถูกเปลี่ยนสถานะจาก "ผู้ห่วงใย" กลายเป็น "ผู้ใส่ร้าย" ข้าวตราฉัตรและบริษัท ซีพี

                      ข่าวร้ายของกลุ่มที่สอง คือ ประชาชนจำนวนมากที่บริโภคข้าวสาร นอกเหนือจาก 12 ยี่ห้อนี้ โดยเฉพาะ

                      ก. ข่าวร้ายที่สุด คือ ข่าวร้ายสำหรับประชาชนผู้บริโภคข้าวสารยี่ห้อ โคโค ข้าวขาวพิมพา ที่ผลการตรวจปรากฏว่า มีสารพิษเมทิล โบรไมด์ ตกค้างเกินมาตรฐาน codex

                      ข. ข่าวร้ายรองลงมา คือ ข่าวร้ายสำหรับประชาชนผู้บริโภคข้าวสารอีก 5 ยี่ห้อ ทีี่พบสารพิษตกค้างระดับสูง 25-50 ppm

                      ค. ข้าวร้ายลำดับท้าย คือ ข่าวร้ายสำหรับประชาชนผู้บริโภคข้าวสารอีก 7 ยี่ห้อ ทีี่พบสารพิษตกค้างระดับสูง 5-25 ppm

         16. ผู้นำประเทศออกโรง (PM movement) นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามแก้ปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในข้าว (17 กรกฎาคม 2556)

         17. หน่วยงานรัฐตื่นตัวสั่งระงับขายข้าวถุงที่มีสารพิษตกค้าง กระทรวงสาธารณสุข ขยับตัวตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อ้างมอบนโยบายไว้ให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

         "น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกรณีผลการสุ่มตรวจ
         ข้าวสารบรรจุถุง ว่าเรื่องความปลอดภัยของข้าวสารบรรจุถุง เป็นนโยบายที่ได้มอบไว้ให้คณะ  
         กรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำอย่างต่อเนื่อง มาตรการระยะสั้น
         ในช่วงนี้ จะสุ่มตรวจตัวอย่าง ทั้งแหล่งผลิต แหล่งที่เก็บ โกดัง หรือในสถานที่จำหน่ายต่างๆ
         กระจายทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นใจ โดยหลังตรวจข้าวสาร 100 กว่าตัวอย่าง ยังไม่
        พบสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง ความชื้น หรือเชื้อราต่างๆ" (ผู้จัดการออนไลน์ 17 ก.ค. 56 : 18.45 น.)

         "ส่วนข้าวสารที่มูลนิธิชีววิถีเพื่อผู้บริโภคและศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตรวจพบว่ามีสารเมทิล
         โบรไมด์ ตกค้างสูงเกินมาตรฐานนั้น จะต้องหารือในเรื่องขั้นตอนการเก็บตัวอย่างตามมาตรฐาน
         วิชาการให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยและให้ความมั่นใจแก่ประชาชน ได้สั่ง อย.ให้ระงับการ
         จำหน่าย และก็ให้บริษัทเก็บคืนจากท้องตลาด และดำเนินการตรวจยืนยันซ้ำอีกในวันพรุ่งนี้       
         (18 ก.ค.)" (ผู้จัดการออนไลน์ 17 ก.ค. 56 : 18.45 น.)

                 ผลสืบเนื่อง
         
              "สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการให้สำเร็จภายในปีนี้เพื่อสร้างความ
          เชื่อมั่นแก่ประชาชนคือจะกวดขันบังคับใช้กฎหมายเร่งให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงทุกราย
          ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานจีเอ็มพี ภายในปีนี้และคาดว่า 1 มกราคม 2557 จะ
          ดำเนินการได้ทั้งหมด ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี" (ผู้จัดการออนไลน์ 17
          ก.ค. 56 : 18.45 น.)



         18. ภาระแห่งการพิสูจน์ (burden of proof) เพื่อให้โลกเห็นว่าตนเองเป็น "ฝ่ายธรรมะ" บริษัท ซีพี ผู้ผลิตข้าวตราฉัตร จึงจัดโปรแกรม press tour พาสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคน จัดเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของงานนี้ และใหเกียรติเป็นพิเศษ (โปรดดูภาพประกอบ) คณะสื่อมวลชน ได้เดินทางไปพิสูจน์กระบวนการผลิตข้าวตราฉัตร ที่ อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2556



         19. การยืนยันความบริสุทธิ์โดยสื่อมวลชน (media endorse) สื่อมวลชนที่ร่วมคณะเดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตข้าวตราฉัตร ของบริษัทซีพี ที่ อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 มีสถานะเป็น พยานยืนยัน ให้การรับรอง (endorse) ความบริสุทธิ์ของข้าวตราฉัตร โดยสื่อมวลชนทั้งหลายกลับมารายงานข่าวเกี่ยวกับกระบวนการผลิตข้าวตราฉัตร ในขณะเดียวกันสื่อและช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ของบริษัท ซีพี ชื่อ We are CP ได้รายงานเหตุการณ์ขณะที่สื่อมวลชนกำลังเยี่ยมชมกระบวนการผลิตข้าวตราฉัตร เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 10.30 น.



                ที่พิเศษกว่าสื่อมวลชนรายอื่นคือ คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคน ได้มีคิวปรับความเข้าใจกับทางผู้บริหารบริษัท ซีพี
                โดยหลังการเยี่ยมชมกระบวนการผลิตข้าวตราฉัตร ของบริษัทซีพี ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซีพี โดยคุณสุเมธ เหล่าโมราพร CEO ข้าวตราฉัตร และ คุณสุทธิพงษ์ร่วมกันแถลงข่าว

        "คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ได้กล่าวขอโทษ ขออภัย และขออโหสิกรรม จากการกระทำที่ผ่านมาต่อข้าวตราฉัตรต่อคุณสุเมธและต่อทีมงานข้าวตราฉัตร.."



        
         20. สื่อมวลชนกับการให้การรับรองคุณภาพสินค้า
               หลังจากการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้บริหารบริษัท ซีพี และ คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคนแล้ว ยังมีการสื่อสารเพื่อยืนยันถึงคุณภาพของข้าว ตามที่ได้เชิญสื่อมวลชนมาร่วมพิสูจน์

          "..ท้ายที่สุดคุณสุเมธ ใหสัมภาษณ์สื่อมวลชน เข้าใจคุณสุทธิพงษ์และขอบคุณสื่อมวลชนที่มาร่วมพิสูจน์คุณภาพข้าวตราฉัตร.."


         21. การสำนึกผิดและการชดใช้

               ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การแสดงความรับผิดชอบของความคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิโดย

               "..พร้อมขอชดใช้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นต่อข้าวไทยด้วย.."





ตอนที่ 2 ผลสืบเนื่องจากการเสนอข่าวสารของสื่อ (Consequential Media Effects)

         ผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นหลังจากมีประเด็นปัญหาเรื่อง สารพิษตกค้างในข้าวสาร ปรากฏเป็นกระแสข่าวใหญ่ของประเทศ

         1. ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหาย
             สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายอย่างไร ?
             ก่อนอื่นควรเริ่มจากการตีความหมายว่า ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายคืออะไร อย่าลืมว่าในประเด็นข่าวนี้เรากำลังพูดถึง "ข้าวสาร" หรือ "ข้าวสารถุง" ที่ขายให้คนไทยบริโภคกันอยู่นะครับ เราไม่ได้พูดถึง "ข้าวเปลือก" ที่ส่งไปขายต่างประเทศครับ เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่า ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายในความหมายนี้น่าจะหมายถึง ข้าวสารที่ขายให้คนไทยกินเป็นหลัก ดังนั้น ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายอันเกิดจากการโพสต์ของคุณเช็ค น่าจะเป็นความเสียหายในสายตาคนไทยมากกว่าครับ
     
            ภาพลักษณ์ที่เสียหายน่าจะประกอบด้วย
            - ข้าวสารไทยอาจมีสารพิษเมทิล โบรไมด์ตกค้าง
            - ข้าวสารไทยอาจมีสารพิษชนิดอื่นๆ ตกค้างอีกก็ได้
            - กระบวนการผลิตข้าวสารถุงของโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงสีข้าว ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพเพียงพอ ไม่ผ่านการประเมินกระบวนการ GMP
            - กระบวนการผลิตข้าวสารถุงของโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงสีข้าว ไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานด้านความปลอดภัยจากหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น อย. กระทรวงสาธารณสุข กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
            - ระบบการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการผลิตข้าวสารถุงของไทยมีปัญหา ไม่มีคุณภาพที่ดีเพียงพอ
            - ข้าวสารถุงที่วางจำหน่ายในท้องตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายยี่ห้อไว้วางใจไม่ได้ กินแล้วอาจเป็นอันตราย

            ถามว่าภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายไหม หลังจากมีที่คุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ โพสต์ข้อมูลในเฟสบุ๊กเรื่องนี้ ตอนแรกเป็นความตื่นตกใจ เป็นความตื่นกลัวมากกว่า ยังไม่ทันได้ทำให้ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายมากนัก แต่หลังจากที่ข่าวสารแพร่ไปในวงกว้างอีก 3-4 วันติดต่อกัน นั่นแหละครับ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคเกิด "การรับรู้" เกิด "การสะสมข้อมูลในทางลบ" เกี่ยวกับข้าวสารถุง ที่ได้รับรู้จากสื่อต่างๆ จนกระทั่งถึงระดับที่มากพอที่จะทำให้ "เกิดความเชื่อ" ว่าข้าวไทยมีสารพิษตกค้าง นั่นแหละครับ ภาพลักษณ์มันมาเสียหายตอนนี้

              แล้วการเปิดเผยผลการตรวจสอบข้าวสารถุงโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่พบว่ามีข้าว 5 ยี่ห้อ มีสารพิษตกค้างในระดับสูง 25-50 ppm ซึ่งผู้ตรวจเขาไม่ได้บอกเสียด้วยว่า "สูงมากหรือเปล่า" ส่วนอีก 7 ยี่ห้อ มีสารพิษตกค้างในระดับสูง 5-25 ppm เขาก็ไม่ได้บอกอีกเช่นกันว่า "สูงปานกลาง" บอกตามตรงเราไม่รู้หรอกครับว่าระดับที่ว่านี้คืออะไร มีความหมายอย่งไร เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและสุขภาพขนาดไหน หากจำแนกประเภทข้าวสารตามระดับ ภาพลักษณ์เสียหาย เราอาจแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้ครับ

             (1) ภาพลักษณ์เสียหายมากที่สุด ที่ชัดเจนที่สุดมีเพียงยี่ห้อเดียวที่มีค่าสารพิษตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน และเดาเอาเองอีกเหมือนกันว่าน่าจะเป็นอันตราย ข้าวยี่ห้อนี้แหละครับภาพลักษณะเสียมากที่สุด

             (2) ภาพลักษณ์เสียหายมาก ได้แก่ ข้าวที่ตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างระดับสูง รวม 12 ยี่ห้อ ก็น่าจะเสียภาพลักษณ์ไปด้วยเช่นกัน เพราะผู้บริโภคตีความหมายของคำว่า "ระดับสูง" หมายถึงมีสารพิษตกค้างในระดับสูง โดยทั่วไป ระดับสูงแปลว่า "อันตราย" แปลว่า "ไม่ดี" ภาพลักษณ์จึงเสียหายมากครับ

             (3) ภาพลักษณ์เสียหายน้อย ได้แก่ ข้าวที่ตรวจพบสารตกค้างในระดับที่น้อย 0.90-5 ppm จำนวน 14 ยี่ห้อ และ ข้าวที่ตรวจพบสารตกค้างในระดับที่น้อยมาก คือ ต่ำกว่า0.90 ppm นั้น ผมไม่คิดว่าเขาจะเสียภาพลักษณะนะครับ หรือเสียหายก็จะเสียภาพลักษณ์ในระดับที่น้อย
            เหตุผลแบบตรงไปตรงมาคือ ตามการรับรู้ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากนัก แต่เรารับรู้จากความหมายของคำ คือ การรับรู้คำว่า "น้อย" และ "น้อยมาก" เราตีความว่าระดับนี้ ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของเรา ผมคิดว่า ข้าวกลุ่มนี้ไม่น่าจะเสียภาพลักษณ์ไปด้วยครับ

             (4) ภาพลักษณ์ไม่เสียหาย นอกจากไม่เสียภาพลักษณ์แล้ว ยังแถมได้ "สร้างภาพลักษณ์ที่ดี" อีกด้วย ได้แก่ ข้าว 12 ยี่ห้อ ที่ตรวจไม่พบสารพิษตกค้าง ผลการตรวจกลายเป็นเครื่องยืนยันความบริสุทธิ์ของข้าว 12 ยี่ห้อนี้ และการที่สื่อสมวลชนทั้งแบบออนไลน์ แบบสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ รายการข่าว รายการเล่าข่าว นำเอาข้อมูลข่าวสารนี้ไปเสนอ ยิ่งเป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำไป
          
         2. ผลกระทบสืบเนื่องจากภาพลักษณ์ของข้าว (Consequently Media Effect to Rice Image)
               คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากประกาศผลการตรวจสอบข้าวทางสื่อออนไลน์ และสื่อแพร่ภาพและแพร่เสียง แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แบ่งออกเป็น 6 สถานการณ์คือ

               (1) ประชาชนจะไม่ซื้อข้าวยี่ห้อที่มีสารพิษตกค้างเกินระดับมาตรฐาน 1 ยี่ห้อ
               (2) ประชาชนจะไม่ซื้อข้าวยี่ห้อที่มีสารพิษตกค้างระดับสูง 25-50  รวม 5 ยี่ห้อ
               (3) ประชาชนจะหลีกเลี่ยงไม่ซื้อข้าวยี่ห้อที่มีสารพิษตกค้างระดับสูง  7 ยี่ห้อ
               (4) ประชาชนจะระวังที่จะซื้อข้าวยี่ห้อที่มีสารพิษตกค้างระดับน้อยรวม 14 ยี่ห้อ  
               (5) ประชาชนจะลังเลที่จะซื้อข้าวยี่ห้อที่มีสารพิษตกค้างระดับน้อยรวม 7 ยี่ห้อ
               (6) ประชาชนจะแห่กันไปเลือกซื้อข้าวยี่ห้อที่ไม่มีสารพิษตกค้าง 12 ยี่ห้อ

                แล้วแบบนี้คุณคิดว่า ภาพลักษณ์ข้าวสารไทยเสียหายมั๊ยครับ
                เสียหายครับ แต่เสียหายเพียงบางส่วน บางยี่ห้อ เท่านั้น ไม่ได้เสียหายโดยภาพรวมทั้งหมดครับ

                เพราะข้าวสารอีก 12 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นข้าวสารที่ภาพลักษณ์ไม่เสียหาย แต่ตรงกันข้าม "ภาพลักษณ์กลับโดดเด่น" ขึ้นมาในทันที !! ผู้คนจะเชื่อถือ 12 ยี่ห้อนี้ ไว้วางใจ 12 ยี่ห้อนี้ อยากบริโภคข้าว 12 ยี่ห้อนี้ เพราะอะไรครับ เหตุที่เป็นดังนี้เพราะ

                (1) เป็นผลการตรวจที่กระทำโดยองค์กรที่เชื่อถือได้ คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ มูลนิธิชีววิถี ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน
                (2) ผลการตรวจเกิดจากห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้คนมักให้ความเชื่อถือ มากกว่าวิธีอื่น
                (3) มีการแถลงผลการตรวจโดยบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีเครดิต มีต้นทุนสูงทางสังคมสูง คือ คุณสารี อ๋องสมหวัง ในนามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี
                (4) สื่อมวลชนกระแสหลักนำไปเผยแพร่ข่าวสาร ขยายผล ขยายการรับรู้ของประชาชน ยิ่งผู้นำเสนอข่าวมีความนิยมและความน่าเชื่อถือมา เช่น คุณสรยุทธ์ สทัศนะจินดา หรือคุณกิตติ สิงหาปัด รายการข่าวสามมิติ หรือ ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน แห่งรายการที่นี่ ThaiPBS ก็จะทำให้ข้าวสารที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ยิ่งได้รับการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดียิ่งขึ้น สื่อออนไลน์ทั้งหลายก็กระจายข่าวสารกันมากขึ้น


                อย่างนี้แหละครับ ผมกลับคิดว่า ประเด็นข่าว การโพสต์ข้าวสารพิษโดยคุณสุทธิพงษ์ และการแถลงข่าวผลตรวจพบสารพิษตกค้างในข้าวสารถุง ไม่ได้เป็นตัวการทำให้ภาพลักษณ์ข้าวสารไทยเสียไปอย่างที่คิด

                แล้วอย่างนี้หน่วยงานรัฐ ควรจะทำอะไร ?
                ผมคิดว่าควรจะเลิกไล่จับ แจ้งความดำเนินคดีต่อ "ผู้หวังดีต่อประชาชน" ผู้หวังดีต่อประเทศ" เถอะครับ
                ที่ควรทำคือ หาทางส่งเสริมภาพลักษณ๋์ข้าวสารไทยให้ดียิ่งขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ ตามความสามารถของท่าน เช่น การมอบหน้าที่และกวดขันควบคุมให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตรวจสอบข้าวสารที่มีวางจำหน่าย "อย่างเป็นระบบ"

                เนื่องเพราะท่านมีทั้ง คนที่มีความรู้ มีอุปกรณ์ในมือ มีเงินงบประมาณ มียานพาหนะ มีอาคารสถานที่ ของตัวเอง พร้อมที่จะทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะเริ่มลงมือทำเมื่อไหร่ ??

                ถ้าผมเป็นท่านนายกยิ่งลักษณ์ ผมคงจะบอกว่า "ให้ทำทันที" ครับ และ "ต้องทำอย่างต่อเนื่อง" ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง เพราะความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นรื่องสำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ !!

  3. วิพากษ์การทำหน้าที่ของสื่อ

           1) การตักเตือนภัย (Surveillance) การที่คุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่ง คนค้นคน เริ่ม "จุดไม้ขีดไฟก้านแรก" ด้วยการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "โรงสีอันตราย" และ "ข้าวอันตราย" ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการซื้อและการบริโภค ผมเห็นว่า นี่เป็นการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่ดี ตรงตามหลักการทางนิเทศศาสตร์ ตามที่ Lasswell ได้พูดไว้ เพราะคุณเช็ค "เห็นภยันอันตราย" ที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่ประชาชน และเป็น "ภยันตรายที่ใกล้จะถึง" ประชาชนผู้บริโภค การกระทำของคุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ สมควรที่จะได้รับการยกย่องสดุดีในความกล้าหาญและความรับผิดชอบ มากว่าถูดก่นประณาม
             เพียงแต่ที่คุณเช็ค "พลาด" ไปคือ "ข้อมูลข่าวสาร" เท่านั้น
             ลองทบทวนกันดีๆ สิ่งที่คุณเช็ค สุทธิพลษ์ ตักเตอนภัยแก่ประชาชนนั้น มันเป็นเรื่องของการมีเบาะแสว่า ตอนนี้ประเทศไทย "มีข้าวสารที่มีสารพิษตกค้างและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค" ใช่หรือไม่ ถ้าใช่นั่นแสดงว่า คุณเช็คกำลังทำบทบาทหน้าที่ในการ "ตักเตือนภัย" แก่ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว
              เพียงแต่เนื้อหาของข่าวสารผิดพลาด
              - ชื่อโรงสีที่มีข้าวมีสารพิษตกค้างไม่ใช่ชื่อนี้ แต่เป็นชื่อโรงสีอื่น
              - ชื่อยี่ห้อของข้าวสารถุงที่มีสารพิษตกค้างไม่ใช่ชื่อนี้ แต่เป็นชื่อยี่ห้ออื่น

              ลองดูผลการแถลงการตรวจสารพิษตกค้างในข้าวสารสิครับ ว่ามีมั๊ย ??
              คำตอบคือ มีนะครับ มีข้าวที่มีสารพิษตกค้างจริงๆ และก็มีหลายยี่ห้อด้วยครับ !!

              ลองคิดกันอีกทีนะครับ ว่าถ้าหากคุณเช็ค สุทธิพงษ์ พูด
               - ชื่อโรงสีที่มีข้าวมีสารพิษตกค้าง ได้ถูกต้อง
              - ชื่อยี่ห้อของข้าวสารถุงที่มีสารพิษตกค้าง ได้ถูกต้อง
              คุณเช็ค สุทธิพงษ์จะกลายเป็น "วีรบุรุษชั่วข้ามคืน" ทันที !!
              แต่พอคุณเช็ค สุทธิพงษ์ ระบุชื่อผิด คุณเช็ค ก็กลายเป็น "ผู้ร้ายชั่วข้ามคืน" ทันที !!

          2) วิพากษ์คนทำสื่อ
              นับตั้งแต่คุณเช็คผิดคิว โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กเสร็จแล้วกลายเป็น "ผู้ร้าย" ขึ้นมาในทันที คุณเช็คต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤติ กดดัน จากยักษ์ใหญ่วงการข้าว จากประชาชนที่หมั่นไส้แล้วโพสต์ด่าในสื่อออนไลน์ ผมขอถามว่าในห้วงเวลานั้น
               - มีสื่อมวลชนคนใด รายใด องค์กรใด เข้าร่วมด้วยกับคุณเช็ค สุทธิพงษ์ มั๊ยครับ ??
               - มีสื่อมวลชนคนใด รายใด องค์กรใด ให้การสนับสนุนคุณเช็ค สุทธิพงษ์ มั๊ยครับ ??
               - มีสื่อมวลชนคนใด รายใด องค์กรใด ฉุกใจคิด ช่วยเป็นเรี่ยวแรงในการตรวจสอบ "ความจริง" เกี่ยวกับเรื่องสารพิษตกค้างในข้าวสารถุง ร่วมกับคุณเช็ค สุทธิพงษ์ มั๊ยครับ ??
                - แนวร่วมเพียงแนวเดียวที่คุณเช็คมีคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และคุณ สารี อ๋องสมหวัง แต่ทำคนละบทบาทหน้าที่ คนหนึ่งมีหน้าที่ ตรวจสอบ ควบคุม ถ่วงดุลย์ ให้ความรู้ ให้ข้อเสนอแนะ อีกคนหนึ่งมีหน้าที่ "นำเสนอความจริง" ต่อสังคม
                - จริงอยู่ที่คุณเช็คไม่ได้เป็น "ผู้สื่อข่าว" หรือ "คนทำข่าว" แต่คุณเช็คเป็น "คนทำสารคดี"
ข่าวกับสารคดี มันมีจุดเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ "ความจริง" ครับ
                - เมื่อเริ่มโพสต์เฟสบุ๊กใหม่ๆ คุณเช็ค มีสถานะคล้ายผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่ตักเตือนภัย
                - หลังจากโพสต์เฟสบุ๊กไปได้สองสามวัน และโดนตอบโต้จากยักษ์ใหญ่วงการข้าวอย่าง ซีพี คุณเช็คกลายสถานะไปเป็น "ผู้ตกเป็นข่าว" หรือ เป็นชิ้นข่าว" หรือเป็น "แหล่งข่าว" ในสายตาของผู้สื่อข่าวไปเสียแล้ว แทนที่คุณเช็คจะไปหาข้อมูลข้อเท็จจริงมานำเสนอ กลับเป็นว่า คุณเช็กถูกผู้สื่อข่าวรุมสัมภาษณ์เสียเอง "คนทำสื่อทำข่าวคนทำสื่อ" กันเอง

             3) วิพากษณ์ฮีโร่และผู้ร้าย คุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่ง คนค้นคน
                 หลังจากตกอยู่ในสภาววิกฤติ คือ ตกเป็น ผู้ร้ายในสายตาบริษัทซีพี ยักษ์ใหญ๋แห่งวงการข้าว ระยะแรกคุณเช็ค "เอาความจริงเข้าสู้" และ "เอาหลักธรรมะเข้าสู้" ช่วงนี้จะสังเกตได้ว่ามีแฟนคลับคุณเช็คเข้ามาให้กำลังใจกันเยอะมาก แต่ก็อยู่ในสื่อออนไลน์

                 "กำลังใจในสื่อออนไลน์ จึงมีสถานะเป็นเพียง ข้อมูลข่าวสาร ที่จับต้องไม่ได้"
                 
                 แต่ชีวิตจริงที่กำลังเผชิญหน้า มันคือ ของจริงที่มองเห็นได้จับต้องได้ เช่น เงินค่าปรับ หนึ่งแสน หนึ่งล้าน หรือร้อยล้าน แล้วแต่ผู้เสียหายจะฟ้องร้อง และยังโทษจำคุก 5 ปี ตามคำขู่ของกระทรวงไอซีที เป็นใครเจอแบบนี้ ต่อให้ใจพระแค่ไหน ก็ต้องหวั่นไหวบ้างเป็นธรรมดา

                 แต่อาจจะด้วยคุณเชคได้รับข้อมูลในทางลึก และในทางลับ จากผู้หวังดี ว่าข้อมูลข่าวสารที่คุณเช็ครู้มันคลาดเคลื่อน มันผิดพลาดจากความจริง
                 ในห้วงเวลาที่คุณเช็คกำลังประสบภาวะวิกฤติ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิถิชีวิวิถี กำลังตรวจสอบข้าว ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2556 และมีกำหนดว่าจะประกาศผลการตรวจสอบในวันที่ 16 กรกฎาคม 2556
                 ขณะที่คุณเช็กโพสต์เฟสบุ๊กตัวปัญหาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 คุณเช็กยังไม่ทราบผลการตรวจของห้องแล็บ คุณเช็คอ้างว่าได้ข้อมูลมาจาก LINE ที่่ส่งต่อๆ กันมา และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมก็ได้รับข้อมูลเดียวกันนี้จาก LINE เช่นกัน เพียงแต่คุณเช็กตัดสินใจว่า จะนำข้อมูลจากสื่อหนึ่ง (LINE) มาเผยแพร่ในอีกสื่อหนึ่งคือ Facebook
                  คุณเช็ครู้สึกว่าตนเอง "ก้าวพลาด" จึงหา "ทางออก" โดยการร่วมมือทำความเข้าใจกับ "ผู้เสียหาย" ที่อาจกลายเป็น "โจทก์" ถ้ามีการห้อคดีหมิ่นประมาท คือ บริษัท ซีพี เมื่อนั้นคุณเช็คจะกลายเป็น "จำเลย"
                  เราต้องยอมรับความจริงกันนะครับว่า การ "เป็นความ" การถูกฟ้องร้องคดีอาญานั้นเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง และนี่ยิ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก หากสู้คดีกัน คุณเช็คคงจะต้อง "เหนื่อย" ทางออกที่ดีคือ ประนีประนอม สมานฉันท์กันดีกว่า เรื่องจึงลงเอย จบลงด้วยดีตามที่ซีพีบอกในเฟสบุ๊ก



        
        4. วิพากษ์อำนาจของสื่อ
            สื่อ คือ อำนาจ (Media is Power) ยังเป็นความจริงอยู่ทุกวันนี้ เพราะสื่อ สามารถทำให้ประชาชน เปิดรับ รับรู้ เชิญชวน ทำให้เชื่อ ทำให้เกิดทัศนคติอย่างใดอย่างหนึ่ง และนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ต้อการได้ หากู้จักใช้สื่อ คนใช้สื่อที่ชาญฉลาดเขาจะไม่รีรอให้โอกาสหลุดมือไป แม้แต่นิดเดียว

            ด้วยเหตุอ้างว่าข้าวไทยมีภาพลักษณ์เสียหาย จึงต้องมีการแก้ไขภาพลักษณ์ สร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดี สร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง สร้างและควบคุมความเชื่อความศรัทธาให้มีต่อภาพลักษณ์สินค้า ภาพลักษณ์บุคคล และภาลักษณ์องค์กรให้ได้

            เมื่อเล็งเห็นผลดังนี้ จึงเป็นที่มาของ หมายงานสำนักเลขาธิกรนายกรัฐมนตรี จัดกำหนดการให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอันมีคุณภาพได้มาตรฐานของข้าวตราฉัตร ของบริษัท ซีพี ที่ อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2556

            เมื่อ "บุคคลระดับ VVIP ของประเทศ" ลงมาเล่นด้วยตนเองเช่นนี้ ย่อมการันตีได้ว่า

            "ภาพลักษณ์ข้าวไทย" ต้องดีขึ้นแน่ เพราะสะท้อนจากการให้ความสำคัญและเอาใจใส่อย่างยิ่งของผู้นำประเทศ ที่ลงมาสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทย

            เป็นที่ทราบกันว่า "สร.1" หรือนายกรัฐมนตรีเดินทางไปไหน จะมีผู้สื่อข่าวทั้งของสื่อทุกประเภททุกชนิด ไปทำข่าวนายกรัฐมนตรี ครั้งละเกือบร้อยคน และภายในไม่เกิน 10 นาทีต่อจากนั้น ข่าวสารเกี่ยวกับภารกิจของนายกรัฐมนตรี จะหลั่งไหลไปอย่างรวดเร็ว ในทุกช่องทาง

             เราคงหลับตาเห็นภาพกระแสข่าวต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ได้แก่
             - เว็บไซต์หลัก และเฟสบุ๊กหลักของนายกรัฐมนตรี
             - เว็บไซต์หลัก และเฟสบุ๊กหลักของสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรี โดยสำนักโฆษก
             - เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลัก ได้แก่ ผู้จัดการ ไทยรัฐ เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์ ไอเอ็นเอ็น ทีนิวส์
             - ข่าวสั้นต้นชั่วโมงทางสถานีวิทยุ
             - คุยโขมงบ่ายสามโมงทางช่อง 9
             - เรื่องเด่นเย็นนี้ทางช่อง 3
             - ฮาร์ดคอร์ข่าวทางช่อง 5
             - ข่าวภาคค่ำของทุกช่อง
             - ประเด็นเด็ดเจ็ดสี
             - ข่าวสามมิติ
             - ข่าววันใหม่
             - โลกยามเช้า
             - เรื่องเล่าเช้านี้
             - ผู้หญิงถึงผู้หญิง
             - เช้านี้ที่ช่อง 5     
             - TNN News
             - T News
             - Nationa Channel
                ฯลฯ

              ด้วยสำนักข่าว ช่องทางสื่อสารข่าว ผู้สื่อข่าว ที่มากมายขนาดนี้..ทุกสิ่งเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นข่าวเสมอ

              - สำคัญที่สุดของที่สุดคือ ภาพนายกรัฐมนตรี

              - สำคัญที่สุดคือ คำพูดคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เป็นข่าวสำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับท่านายกรัฐมนตร จะพูดอะไร พูดในทิศทางไหน อย่างไร

               - ประชาชนคงอยากรู้ว่า ท่านนายกรัฐมนตรีจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ข้าวไทยอย่างไร

               แต่ที่ยังไม่ทราบคือ
               ก. จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยโดยรวมทั้งประเทศ
               ข. จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยตราฉัตร ของซีพีเท่านั้น เพราะไปดูงานที่ซีพีเป็นหลัก
             
               อย่างไรก็ดี..
               ไม่ว่าจะเป็นข้าวของ ซีพี หรือ ข้าวของบริษัทไหน ก็เป็นข้าวของคนไทย
               ที่เราควรช่วยกันส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ดี เพื่อให้ส่งผลดีมาถึงตลาดข้าว
               ส่งผลดีย้อนกลับมาที่ชาวนาไทย และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ 

               เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป..

                สิ่งที่ประชาชนอยากทราบมากๆ จากผู้สื่อข่าวและคนทำสื่อ มีดังนี้คือ

                (1) "อำนาจสื่อ" ที่อยู่ในมือของ ผู้สื่อข่าว (Journalism) และ คนทำสื่อ (Media Maker) ยังคงมีอำนาจเหมือนเดิมมั๊ย ผู้สื่อข่าวคุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งคนค้นคน ยังมีเท่าเดิมอยู่หรือไม่

                (2) ผู้สื่อข่าว (Journalism) และ คนทำสื่อ (Media Maker) จะยังคง "ค้นหาความจริง" ต่อไปหรือไม่ เพราะ ข้าวที่มีสารพิษตกค้างยังมีอยู่อีกหลายยี่ห้อที่ตรวจพบแล้ว และอีกหลายยี่ห้อที่ยังอยู๋ในตลาด
                (3) ผู้สื่อข่าว (Journalism) และ คนทำสื่อ (Media Maker) จะยังคง "ยืดหยัด ท้าทาย แรงลม และพายุที่โหมกระหน่ำ" ต่อไปหรือไม่

                 คำถามสุดท้าย..
                 คนที่เคย "ค้นคน" จะยังคง "ค้นคน" ต่อไปหรือไม่ ??
                 คนที่เคย "ค้นความจริง" จะยังคง "ค้นความจริง" ต่อไปหรือไม่ ??
             
                 รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
                 18 กรกฎาคม 2556









ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก

ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสำนึก (Consciousness) การสร้างจิตสำนึก และการปลูกฝังจิตสำนึก ........................................................................................................................................ จิตสำนึกคืออะไร? สร้างอย่างไร? ปลูกฝังอย่างไร? ความหมายของจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกตระหนัก และการให้ความสำคัญ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบความคิดและจิตใจของมนุษย์ ลักษณะของจิตสำนึก จิตสำนึกเป็นสภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก การเกิดจิตสำนึก จิตสำนึก (Consciousness) เกิดจากการรับรู้ การเรียนรู้ การประเมินค่า จากสิ่งเร้าต่าง ๆ ประสบการณ์ จนเกิดเป็นความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนั้น สิ่งเร้าที่มนุษย์รับรู้ เรียนรู้ จนพัฒนามาเป็นจิตสำนึก ประกอบด้วยข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ อารมณ์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดจิตสำนึก 1. การรับรู้ 2. ทัศนคติ 3. ประสบการณ์ 4. ระยะเวลาในการรับรู้ ความถี่ ความต่อเนื่อง ผลของ

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน 9 มิถุนายน 2559             การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวัดตัวแปรได้ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีความเชื่อถือได้ ซึ่งผู้วิจัยควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การตรวจสอบเครื่องมือวิจัยเบื้องต้น             การตรวจเครื่องมือวิจัย สอบเบื้องต้น มีสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้             1.1 การตรวจสอบเชิงโครงสร้างของเครื่องมือวิจัย ผู้วิจัยต้องตรวจสอบว่า เครื่องมือวิจัยที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้น มีความครอบคลุม มีความครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกข้อหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้ครบ             1.2 การตรวจสอบเชิงแนวคิด ผู้วิจัยต้องตรวจสอบเครื่องมือวิจัยโดยนำ “กรอบแนวคิดการวิจัย” (conceptual framework) มาใช้เป็นหลักในการตรวจสอบเทียบเคียงกับเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นว่า มีการ “วัดตัวแปร” หรือมีการ “เขียนข้อคำถาม” ครบถ้วนทุกตัวแปร ทุกประเด็น

นวัตกรรม ตอนที่ 4 กระบวนการสร้างนวัตกรรม

บทนำ การสร้างนวัตกรรมมีลักษณะเป็นกระบวนการ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการหลัก 4 กระบวนการ คือ           1. กระบวนการสร้างความคิด (Idea generation)           2. กระบวนการสร้างโอกาส (Opportunity recognition)           3. กระบวนการพัฒนา (Development)           4. กระบวนการทำให้เป็นจริง (Realization)             การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการ การสร้างนวัตกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ในการนำเสนอเนื้อหาตอนนี้ที่ว่าด้วยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงกับการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายของการสร้างนวัตกรรม การสร้างนวัตกรรมมีเป้าหมาย 10 ประการคือ (O’Sullivan and Dooley, 2009 pp.58-59) 1. การปรับปรุงคุณภาพ (Improve quality) เป็นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือบริการ หรือกระบวนการในการให้บริการหรือกระบวนการในการทำงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น 2. การสร้างสรรค